โครงการ “รวมพลังตามรอยพ่อฯ” ปี 7 เดินเครื่องสู่เฟสที่ 3 สานต่อศาสตร์พระราชา ลงพื้นที่จ.เลย ฟื้นฟูป่าต้นน้ำป่าสัก

ในการก้าวเข้าสู่ปีที่ 7 ของโครงการ “พลังคนสร้างสรรค์โลก รวมพลังตามรอยพ่อของแผ่นดิน”  บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด ร่วมกับ สถาบันเศรษฐกิจพอเพียง มูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ และสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ยังคงขับเคลื่อนก้าวเข้าสู่ปีที่ 7 ด้วยแนวคิด

“แตกตัวทั่วไทย สานพลังสามัคคี” นำทีมลงพื้นที่ อ. ภูหลวง จ. เลย ร่วมกันฟื้นฟูป่าต้นน้ำแถบเทือกเขาเพชรบูรณ์แหล่งกำเนิดแม่น้ำป่าสัก และแม่น้ำสำคัญหลายสายที่หล่อเลี้ยงชีวิตคนไทยในภาคกลาง และชาวอีสานตอนบนตั้งแต่โบราณจนถึงปัจจุบัน

โครงการ “พลังคนสร้างสรรค์โลก รวมพลังตามรอยพ่อของแผ่นดิน” มุ่งเน้นการรณรงค์ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนตระหนักเห็นความสำคัญ และเห็นผลจริงในการยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชนพร้อมกับการแก้ปัญหาดิน น้ำ ป่า คน และหยุดท่วม-หยุดแล้งในลุ่มน้ำป่าสักอย่างยั่งยืน โดยการนำศาสตร์พระราชาที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พระราชทานแก่ปวงชนชาวไทย ไปลงมือปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม  

นายวิวัฒน์ ศัลยกำธร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวในการแถลงเปิดโครงการฯปี 7 ว่า “ศาสตร์พระราชา คือ ศาสตร์ที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงศึกษา ทดลอง ทรงงานมาตลอดพระชนม์ชีพ และพระราชทานแก่ชาวไทยและชาวโลกเพื่อแก้ปัญหาทุกด้านอย่างยั่งยืน จนองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ถวายพระเกียรติด้วยการประกาศให้วันที่ 5 ธันวาคมของทุกปี ซึ่งเป็นวันคล้ายวันพระราชสมภพ เป็น “วันดินโลก” มีการจัดตั้งสมัชชาดินโลก สมัชชาดินแห่งเอเชีย สมัชชาดินแห่งประเทศไทย ตั้งศูนย์ความเป็นเลิศด้านการวิจัยดินแห่งภูมิภาคเอเชีย CESRA (Center of Excellence for Soil Research in Asia) ซึ่งมีเป้าหมาย 3 เรื่องตรงกับที่พระองค์ทรงทำไว้ทั้งหมด คือ Soil Pollution การทำกสิกรรมธรรมชาติ หยุดสารพิษลงดิน Soil Erosion หยุดการชะล้างและการพังทลายของหน้าดิน ที่ทำให้เกิดความเสียหายทั้งชีวิตและทรัพย์สิน และ Soil Diversity การสร้างความหลากหลายของสิ่งมีชีวิตบนดินซึ่งหมายถึงเรื่องป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง ที่โครงการฯ ทำมาทั้งสิ้นอย่างต่อเนื่อง”

“การดำเนินการต่อเนื่องตลอด 6 ปีที่ผ่านมาทำให้โครงการขยายตัวไปอย่างมาก ซึ่งต้องถือว่าเป็นการขยายตัวในเชิงนโยบายไปถึงระดับชาติและระดับโลกแล้ว และตรงกับเป้าหมายในปีที่ 7 ของโครงการฯ และได้รับความร่วมมือจาก

7 ภาคีที่ร่วมขับเคลื่อน ได้แก่ ภาครัฐ ภาควิชาการ ภาคประชาชน ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม ภาคศาสนา และสื่อมวลชน  เพื่อยกระดับความสามารถในการแข่งขัน  วางรากฐานการพัฒนามนุษย์  ฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติระดับลุ่มน้ำ และเพื่อเชื่อมโยง 25 ลุ่มน้ำทั่วประเทศอย่างเป็นเอกภาพ”

นายอาทิตย์ กริชพิพรรธ ผู้จัดการใหญ่ฝ่ายสนับสนุนธุรกิจ บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด กล่าวว่า “เชฟรอนภูมิใจที่มีส่วนร่วมขับเคลื่อนและสนับสนุนโครงการมาอย่างต่อเนื่องจนประสบความสำเร็จเช่นนี้  ด้วยการเป็นแกนนำภาคเอกชนทั้งพนักงานของเราเองและพันธมิตรในการขับเคลื่อนกิจกรรมต่างๆ และสืบสานพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร  การดำเนินโครงการอย่างต่อเนื่องก่อให้เกิดการพัฒนาอย่างชัดเจน และพิสูจน์ได้ว่าการประยุกต์ ‘ศาสตร์พระราชา’ ทั้งหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และเกษตรทฤษฎีใหม่ มาใช้ร่วมกับภูมิปัญญาท้องถิ่น สามารถพลิกฟื้นพื้นที่แห้งแล้งให้กลับเขียวขจี ทำให้เกษตรกรให้มีชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้นจริง ปลดหนี้ได้ ที่สำคัญเป็นการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืนทั้งทางเศรษฐกิจและสังคม  เชฟรอนจึงยังยืดหยัดที่สนับสนุนและมีความหวังที่จะเห็นการขยายตัว แตกตัวไปให้ครบทั้ง 25 ลุ่มน้ำทั่วประเทศ”

นายอาทิตย์กล่าวเสริมว่า “โครงการนี้มีแนวคิดสอดคล้องกับโครงการเพื่อสังคมของเชฟรอน ที่มุ่งเน้นการสร้างคน องค์ความรู้ และจิตสำนึก และสนับสนุนนโยบายด้านสังคมทั้ง 4 ด้านของเชฟรอน คือ ด้านการศึกษาด้วยการเผยแพร่องค์ความรู้ศาสตร์พระราชาสู่การลงมือปฏิบัติ ด้านการส่งเสริมเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิต ที่ช่วยให้เกษตรกรมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นสามารถพึ่งพาตนเองได้ ด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ได้แก่การช่วยฟื้นฟู ดิน น้ำ ป่า และด้านการส่งเสริมให้พนักงานมีส่วนร่วมในกิจกรรมเพื่อสังคม ขณะเดียวกัน ยังสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนหรือ Sustainable Development Goals –SDGs ขององค์การสหประชาชาติหลายข้อจาก 17 ข้อ ที่มุ่งเน้นการลดความหิวโหย จากการสร้างแหล่งอาหารที่ปลอดภัยและมั่นคงในพื้นที่ของตัวเอง  รวมถึงขจัดความยากจน ที่สอนให้รู้จักพึ่งพาตนเองและดำเนินชีวิตตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เริ่มจากการพอมี พอกิน พอใช้ ซึ่งเป็นขั้นพื้นฐานของการพัฒนาอย่างมั่นคง”         

 

นายไตรภพ โคตรวงษา ประธานมูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ และตัวแทนสถาบันเศรษฐกิจพอเพียง เครือข่ายภาควิชาการกล่าวว่า “เรายังคงใช้กลยุทธ์การ ‘เอามื้อสามัคคี’ หรือ การลงแขกตามประเพณีดั้งเดิมของคนไทยมาเป็นกลวิธีในการขับเคลื่อน และขยายผลให้ครอบคลุม 25 ลุ่มน้ำทั่วประเทศไทยตามเป้าหมายที่โครงการตั้งไว้ การดำเนินงานในระยะที่ 3 นี้ เราขยายฐานในวงกว้างพร้อมกับสร้างความเข้มแข็งในเชิงลึก โดยการสานพลังสามัคคี พัฒนามนุษย์ และฟื้นฟูลุ่มน้ำไปพร้อมกัน เราเร่งสร้างผู้นำและเสริมศักยภาพให้แก่คนเหล่านี้เพื่อให้เป็นแม่ทัพในลุ่มน้ำต่างๆ ทั่วประเทศ  เราให้ทีมงานของมูลนิธิฯ ลงพื้นที่มากขึ้น เพื่อดูว่าศูนย์เรียนรู้ต่างๆ ที่สร้างไว้เป็นอย่างไร หากติดขัดหรือต้องการความช่วยเหลือด้านไหน เราจะไปหนุนเสริม เพราะเขาคือผู้ออกไปรบจึงต้องมีความพร้อม เป็นการเสริมความสามัคคีเพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาและขยายผลไปสู่ทุกลุ่มน้ำได้อย่างเข้มแข็ง โดยสามารถพึ่งพาตัวเองได้อย่างยั่งยืน”

กิจกรรมเอามื้อสามัคคีเพื่อฟื้นฟูป่าต้นน้ำป่าสักที่จะจัดขึ้นที่ อ.ภูหลวง จ.เลย นายชัยวัฒน์ ชื่นโกสุม ผู้ว่าราชการจังหวัดเลย กล่าวในฐานะเจ้าบ้านว่า “จังหวัดเลย ตั้งอยู่ทางตอนบนของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ลักษณะภูมิประเทศส่วนใหญ่เป็นภูเขา จึงเป็นแหล่งต้นน้ำที่สำคัญ ได้แก่ ต้นน้ำเลย ลำน้ำพุง ลำน้ำพอง และแม่น้ำเหือง มีเนื้อที่ทั้งหมด 6,562,289 ไร่ มีสภาพป่าคงเหลือ 2,119,436 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 32.30 ของพื้นที่ แนวโน้มในการเพิ่มขึ้นหรือลดลงของพื้นที่ป่ามีลักษณะคงที่ แสดงว่าไม่มีการบุกรุกพื้นที่แปลงใหญ่เพิ่มขึ้น ดังนั้น ถ้าส่งเสริมให้ประชาชนปลูกต้นไม้ในพื้นที่ของตนเองในลักษณะปลูกสวนป่าเพื่อเศรษฐกิจ จะทำให้ จ.เลยมีพื้นที่ป่าเพิ่มขึ้นได้ และยังเป็นการส่งเสริมอาชีพให้ราษฎรได้อีกทางหนึ่ง”

สำหรับกิจกรรมครั้งนี้ จังหวัดได้มอบหมายสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดเลย ร่วมกับ อ.ภูหลวง  อบต.เลยวังไสย์ หน่วยป้องกันรักษาป่าที่ ลย. 9 เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูหลวง และเจ้าหน้าที่มูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ ร่วมกันตรวจสอบเพื่อจัดกิจกรรมเอามื้อสามัคคีในแปลงที่ดินของนายแสวง ดาปะ บ้านศรีเจริญ ต.เลยวังไสย์ อ.ภูหลวง จ.เลย ซึ่งเป็นพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติอยู่ระหว่างป่าภูหลวง และป่าภูหอ ที่กรมป่าไม้ได้มอบให้ สำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) ดูแล ส่วนกิจกรรมนำสื่อมวลชนชมต้นน้ำป่าสัก จะดำเนินกิจกรรมบริเวณจุดชมวิวสักหง่า บ้านหินสอ ต.ปลาบ่า อ.ภูเรือ จ.เลย

นอกจากนี้ เพื่อเป็นการแสดงออกถึงความรัก ความสามัคคีของชาวจ.เลย และประชาสัมพันธ์การจัดกิจกรรมและการรณรงค์ให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จึงได้ร่วมกับชมรมจักรยานจังหวัดเลย โดยนายกเทศมนตรีเมืองเลย นายสัมพันธ์  คูณทวีลาภผล จัดกิจกรรมปั่นจักยานรณรงค์ประชาสัมพันธ์ ในวันที่

1 สิงหาคม 2562 โดยขบวนจักรยานจะออกจาก อ.เมืองเลย ถึง อ.วังสะพุง รวมระยะทางประมาณ 45 กม. ซึ่งจะได้เชิญประชาชน และนักปั่นจักรยานเข้าร่วมกิจกรรมโดยพร้อมเพรียงกัน

ผศ.พิเชฐ โสวิทยสกุล รักษาการผู้อำนวยการศูนย์บูรณาการเทคโนโลยีเพื่อการแก้ไขปัญหาประเทศ สจล. หนึ่งในภาคีเครือข่ายภาควิชาการ กล่าวถึงความคืบหน้าของ “โครงการวิจัย ‘การออกแบบเชิงภูมิสังคมไทย การติดตามและประเมินผลเพื่อบริหารจัดการน้ำและชุมชนอย่างมีส่วนร่วม’ ของศูนย์บูรณาการเทคโนโลยีเพื่อการแก้ไขปัญหาประเทศ สจล. (ITOKmitl) ว่า ได้มีการลงพื้นที่เพื่อจัดเก็บข้อมูล รวมทั้งออกแบบและปรับปรุงการพัฒนาพื้นที่ ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงและเกษตรทฤษฎีใหม่ ให้เป็นระบบและได้มาตรฐานทางวิชาการ สามารถนำฐานข้อมูลมาประมวลผลในมิติต่างๆ ทั้งเศรษฐกิจ สังคม และสภาพแวดล้อม โดยมีพื้นที่วิจัยอยู่ใน 3 จังหวัด คือ อ. นาเรียง จ.อุดรธานี  อ.แม่ระมาด จ.ตาก และ อ.แม่ฮ่าง จ.ลำปาง จำนวน 30 ราย รวม 300 ไร่ แต่เนื่องจากมีผู้ให้ความสนใจจำนวนมาก จึงขยายพื้นที่วิจัยเป็น 40 ราย 400 ไร่  ทั้งนี้ ศูนย์ฯ ได้ส่งข้อมูลเรื่องดินบางส่วนจาก 200 กว่าตัวอย่างใน 3 พื้นที่ให้แก่กรมพัฒนาที่ดินซึ่งสามารถวัดได้ละเอียดกว่า และได้รับผลตรวจกลับมาแล้วเมื่อเดือนมีนาคม 2562 ขั้นตอนต่อไป คือ การนำข้อมูลทั้งหมดมาสรุปเป็นผลวิจัย ซึ่งคงต้องใช้เวลาอีกสักระยะหนึ่ง

“นอกจากผลวิจัยที่เป็นตัวเลขสถิติ เราสามารถวัดความสำเร็จของโครงการด้านสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะเรื่องคน เพราะหัวใจของโครงการ คือ การสร้างคน การต่อยอดคนมีใจ เช่น ที่ อ.นาเรียง จ.อุดรธานี เครือข่ายเปิดศูนย์ฝึกและอบรมคนไปแล้ว 3 รุ่นๆ ละ 100 คนรวม 300 คน ที่ห้วยกระทิง แม่ระมาด จ.ตาก เครือข่ายเปิดศูนย์ฝึกและอบรมไปแล้ว 2 รุ่น ส่วนที่แม่ฮ่าง จ.ลำปาง แม้จะไม่ได้มีการเปิดศูนย์ฝึก แต่มีความสำเร็จในรายบุคคล  นอกจากนี้เครือข่ายยังตระเวนสอนการออกแบบพื้นที่ในหลายจังหวัด เช่น จ.น่าน จ.พะเยา จ.แพร่ จ.สุโขทัย  แม้ว่าเราจะใช้มาตรฐานเดียวกันในการวัดความสำเร็จของทั้ง 3 พื้นที่ไม่ได้ เพราะแต่ละพื้นที่มีบริบททางสังคมต่างกัน  แต่ถือได้ว่าเราประสบความสำเร็จอย่างน่าพอใจ”

โครงการ “พลังคนสร้างสรรค์โลก รวมพลังตามรอยพ่อของแผ่นดิน” ปีที่ 7 ยังคงเดินหน้าเผยแพร่องค์ความรู้ศาสตร์พระราชาสู่การลงมือปฏิบัติในพื้นที่ต่างๆ ด้วยการจัดกิจกรรมต่อเนื่องตลอดทั้งปี อาทิ

  • วันที่ 1 สิงหาคม 2562 ร่วมกิจกรรมขบวนปั่นจักรยานรณรงค์ จากศาลากลางจังหวัดเลย ถึงวัดป่าประชาสรรค์ อ. วังสะพุง จ.เลย พร้อมแวะทำกิจกรรมในพื้นที่ของเครือข่ายและคนมีใจ รวมระยะทาง 45 กม.
  • วันที่ 2-4 สิงหาคม 2562 ร่วมกิจกรรมเอามื้อสามัคคี ณ ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติภูหลวง และไร่นาป่าสวนขุนเลยของนายแสวง ปาดะ อ.ภูหลวง จ.เลย
  • วันที่ 12 กันยายน 2562 ชมพื้นที่ของนายประวีณ ศิราไพบูลย์พร(ติ่ง) และนางสาวกรองกาญน์ ศิราไพบูลย์พร(ต๋อย) 2 พี่น้องชาวปกาเกอะญอ พื้นที่ในโครงการวิจัย การออกแบบเชิงภูมิสังคมไทย การติดตามและประเมินผลเพื่อบริหารจัดการน้ำชุมชนอย่างมีส่วนร่วมของศูนย์บูรณาการเทคโนโลยีเพื่อการแก้ไขปัญหาประเทศ สจล. ที่บ้านแม่ฮ่าง อ.งาว จ.ลำปาง 
  • วันที่ 26 ตุลาคม 2562 ร่วมงาน “สานพลังสามัคคี” ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร

ผู้ที่สนใจติดตามกิจกรรมได้ทาง www.facebook.com/ajourneyinspiredbytheking หรือดูรายละเอียดที่ https://ajourneyinspiredbytheking.org

20 มิถุนายน 2562


บริษัท มีเดีย เน็ทเวิร์ค จำกัด
138, 140 ซอยอนามัย ถนนศรีนครินทร์ แขวงสวนหลวง เขตสวนหลวง กรุงเทพฯ 10250
MEDIA NETWORK Co.,Ltd
138, 140 Soi Anamai Srinakarin Road Suanluang Suanluang Bangkok 10250
Tel. 02 721 4417 Fax. 02 721 5516
E-mail : phototechthailand@gmail.com


ติดต่อโฆษณาหรือข้อมูลเพิ่มเติม
โทร. 02 721 4417 , 097 921 2929 คุณขวัญ

แฟนเพจ Phototech Magazine


ออกแบบโดย touronthai