สทน.- กฟผ. ลงนามร่วมพัฒนาเทคโนโลยีพลาสมาและฟิวชัน คาดอีก 5 ปี เดินเครื่อง เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันไทย

วันพุธที่ 24 เมษายน 2562 ณ ห้องประชุม 201 อาคารสำนักผู้ว่าการ  การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ได้มีพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือด้านการพัฒนาเทคโนโลยีพลาสมาและฟิวชัน ระหว่าง นายพรเทพ นิศามณีพงษ์ ผู้อำนวยการสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน)หรือ สทน. และนายพัฒนา แสงศรีโรจน์ รองผู้ว่าการยุทธศาสตร์การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศ (กฟผ.)

    ดร.พรเทพ  นิศามณีพงศ์ ผู้อำนวยการสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน ) หรือ สทน. กล่าวว่า งานวิจัยและพัฒนาด้านพลาสมาและเทคโนโลยีนิวเคลียร์ฟิวชันเป็นศาสตร์ขั้นสูง  มีโครงสร้างพื้นฐานด้านอุปกรณ์และเครื่องมือที่มีความทันสมัย ซึ่งจะต้องอาศัยบุคลากรหลายด้านที่มีความเชี่ยวชาญต่างๆ กันมาทำงานร่วมกัน การทำงานวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีในลักษณะบูรณาการระหว่างหน่วยงานจากต่างกระทรวงจึงเป็นสิ่งสำคัญในการผลักดันประเทศให้มีความเจริญทัดเทียมกับนานาประเทศ  การลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือด้านการพัฒนาเทคโนโลยีพลาสมาและฟิวชันในครั้งนี้จึงเป็นก้าวใหม่ที่สำคัญต่อการวิจัยด้านพลาสมาและพลังงานนิวเคลียร์ฟิวชันในประเทศไทย เพื่อเกิดการบูรณาการการกำหนดทิศทางและยุทธศาสตร์งานวิจัยด้านนี้อย่างจริงจัง รวมทั้ง เพื่อสนับสนุนการสร้างเครือข่ายนักวิจัยด้านนี้ให้มีการทำงานร่วมกันอย่างมีทิศทางและสามารถตอบสนองความต้องการของภาคการผลิตและภาคอุตสาหกรรม และได้รับการพัฒนาศักยภาพให้ทัดเทียมกับนานาอารยประเทศ รวมทั้ง เกิดนวัตกรรมเพื่อการใช้ประโยชน์ในด้านต่างๆ จากเทคโนโลยีพลาสมา เช่น การผลิตวัสดุทนความร้อนสูงเพื่อใช้ประโยชน์ในภาคอุตสาหกรรม การใช้เครื่องพลาสมาทางการแพทย์ และการเกษตร เป็นต้น การลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือระหว่าง สทน. และ กฟผ. มีกรอบความร่วมมือดังนี้

    1. ร่วมกันศึกษาและพัฒนาเทคโนโลยีพลาสมาและฟิวชัน และเทคโนโลยีสาขาอื่นที่เกี่ยวข้อง เพื่อนำไปสู่การสร้างนวัตกรรม เทคโนโลยี ผลิตภัณฑ์ และงานบริการอื่นที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมและเศรษฐกิจโดยรวม                                              

    2. ร่วมกันดำเนินการและให้การสนับสนุนการพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีพลาสมาและฟิวชันและเทคโนโลยีสาขาอื่นที่เกี่ยวข้อง ทั้งในแบบพื้นฐานและการประยุกต์เพื่อยกระดับขีดความสามารถของบุคลากรในสาขาวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีพลาสมาและฟิวชัน และสาขาอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องของประเทศไทย

    3. ร่วมกันส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาเครื่องโทคาแมค (Tokamak) และเครื่องเร่งพลาสมาเชิงเส้น (Plasma Linear Device) ตลอดจนอุปกรณ์สนับสนุนอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการศึกษาและพัฒนาเทคโนโลยีพลาสมาและฟิวชันของประเทศไทย

    4. ให้ความร่วมกันมือในการจัดอบรมและถ่ายทอดความรู้ทางวิชาการด้านวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีพลาสมาและฟิวชันแก่บุคลากรของทั้งสองฝ่าย บุคลากรทางการศึกษา เยาวชน นักเรียน นักศึกษา ตลอดจนประชาชนทั่วไป เพื่อเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับประโยชน์ของเทคโนโลยีพลาสมาและฟิวชัน

    5. ให้ความร่วมกันมือในการสร้างเครือข่ายผู้เชี่ยวชาญ เพื่อเสริมสร้างความรู้ในการพัฒนา

ด้านวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีพลาสมาและฟิวชัน และการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีเฉพาะทางดังกล่าว ตลอดจนเทคโนโลยีสาขาอื่นที่เกี่ยวข้อง

ดร.ธวัชชัย อ่อนจันทร์  รองผู้อำนวยการฝ่ายวิชาการ สทน. ในฐานะผู้รับผิดชอบโครงการด้านการพัฒนาเทคโนโลยีฟิวชันและพลาสมา ได้เปิดเผยว่า หลังจาก กฟผ.- สทน. ร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือด้านการพัฒนาเทคโนโลยีพลาสมาและฟิวชัน การไฟฟ้าจะสนับสนุนเงินงบประมาณจำนวนหนึ่งเพื่อใช้สำหรับการพัฒนาเทคโนโลยีฟิวชัน นอกจากนี้ กฟผ. จะส่งวิศวกรเข้าร่วมโครงการพัฒนาเครื่องโทคาแมค (Tokamak) ซึ่งเป็นอุปกรณ์สำคัญในการกักเก็บพลาสมาด้วยสนามแม่เหล็ก และเป็นอุปกรณ์สำคัญในการศึกษาวิจัยเรื่องพลังงานนิวเคลียร์ฟิวชันซึ่งประเทศจีนมอบให้ประเทศไทย โดยผ่าน สทน. โดยในช่วงเดือน พ.ค. 2562นี้ ผู้เชี่ยวชาญด้าน  ฟิวชันจากจีนจะมาพบปะพูดคุยภาพรวมการดำเนินการทั้งหมดกับทีมงาน ประมาณเดือนมิ.ย. 62 ทาง สทน. กฟผ. และมหาวิทยาลัยเครือข่าย จะส่งทีมงานไปทำงานด้าน Engineering Design ของเครื่อง Tokamak ประมาณ 20 คน

โดยจะทำงานร่วมกับผู้เชี่ยวชาญจากสถาบันพลาสมาฟิสิกส์ ประเทศจีน เป็นเวลา 3 เดือน หลังจากนั้นเริ่มในช่วงเดือน ส.ค.62 ทีมงานทั้งหมดจะเริ่มออกแบบองค์ประกอบต่างๆอย่างละเอียด (Detail Design) หลังจากนั้นจะเริ่มดำเนินการประกอบเครื่องโทคาแมคที่ประเทศจีน โดยคาดว่าจะใช้ระยะเวลาอีกประมาณ 2 ปี ระหว่างนั้น นักวิจัย สทน. กฟผ. และมหาวิทยาลัย ก็จะได้ศึกษาและพัฒนาองค์ความรู้ต่างๆ ไปควบคู่กัน อาทิ พัฒนาระบบ Power Supplier แบบ High Volt  การพัฒนาวัสดุทนความร้อนสูง พัฒนาระบบควบคุมอิเล็กทรอนิกส์  พัฒนาระบบวัดสมบัติของพลาสมา และทดสอบเดินเครื่องจนเกิดพลาสมาครั้งแรก (Frist Plasma) หลังจากนั้น จะขนย้ายเครื่องกลับมาติดตั้งที่ สทน. และติดตั้งระบบเสริมต่างๆที่เมืองไทย คาดว่าภายในระยะเวลา 5 ปี เครื่องโทคาแมคในประเทศไทยจะเริ่มพัฒนาและใช้งานได้จริง  เมื่อมีการศึกษาวิจัยด้านพลาสมาและนิวเคลียร์ฟิวชันอย่างจริงจังแล้ว ก็จะสามารถนำพลาสมาและนิวเคลียร์ฟิวชันไปใช้ประโยชน์ได้มากมาย อาทิ ในเชิงเกษตรกรรม ด้านอาหารที่มีส่วนช่วยในเรื่องของการฆ่าเชื้อโรคในอาหารและผลิตผลทางการเกษตร ในเชิงการแพทย์ การประยุกต์เทคโนโลยีพลาสมามาไว้ในอุตสาหกรรมทางการแพทย์และสุขอนามัยโดยใช้พลาสมาในการบำบัดแผลติดเชื้อและแผลเรื้อรัง พร้อมช่วยกระตุ้นการสร้างเส้นเลือดเนื้อเยื่อใหม่ หรือการรักษาผิวหน้า การรักษาแผล ตลอดจนถึงการมีส่วนช่วยในเรื่องของการกำจัดขยะและของเสียอีกด้วย ในส่วน กฟผ.เองอาจมีการพัฒนาต่อยอดศึกษาเทคโนโลยีฟิวชันสำหรับเป็นแหล่งพลังงานในอนาคตต่อไป

24 เมษายน 2562


บริษัท มีเดีย เน็ทเวิร์ค จำกัด
138, 140 ซอยอนามัย ถนนศรีนครินทร์ แขวงสวนหลวง เขตสวนหลวง กรุงเทพฯ 10250
MEDIA NETWORK Co.,Ltd
138, 140 Soi Anamai Srinakarin Road Suanluang Suanluang Bangkok 10250
Tel. 02 721 4417 Fax. 02 721 5516
E-mail : phototechthailand@gmail.com


ติดต่อโฆษณาหรือข้อมูลเพิ่มเติม
โทร. 02 721 4417 , 097 921 2929 คุณขวัญ

แฟนเพจ Phototech Magazine


ออกแบบโดย touronthai