ปรากฏการณ์ครั้งสำคัญเพื่อผู้ป่วยโรคหายาก ในงานครบรอบ 2 ปีการก่อตั้งมูลนิธิเพื่อผู้ป่วยโรคหายาก หัวข้อ “เราจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง”

หากพูดถึง “โรคหายาก” คงมีเพียงไม่กี่คนที่คุ้นกับชื่อโรคนี้ ด้วยเหตุเพราะเป็นโรคที่มีความชุกในประชากรต่ำกว่า 1 ใน 2,500 คนของประชากร หรือคิดเป็นร้อยละ 6 ของประชากรทั้งหมด ปัจจุบันมีโรคหายากรวมกันถึง 7,000-8,000 โรค แต่กลับเป็นโรคที่ถูกมองข้าม จึงทำให้เกิดปัญหาสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อผู้ป่วย ประกอบด้วย 1) ความยากในการได้รับการวินิจฉัยที่ถูกต้องและทันเวลา 2) ขาดบุคลากรทางการแพทย์ที่มีประสบการณ์ในการดูแลรักษา 3) ขาดแหล่งความรู้ที่น่าเชื่อถือที่เป็นภาษาไทยของข้อมูลด้านโรคหายากที่จะช่วยให้ผู้ป่วยและบุคคลทั่วไป เข้าไปศึกษาและใช้ประโยชน์ได้ 4) การวิจัยด้านโรคหายากมีค่อนข้างน้อย 5) การพัฒนาตัวยาใหม่ๆและการนำเข้าอาจทำกำไรไม่มากเหมือนยากลุ่มโรคอื่นๆ 6) การรักษาบางครั้งมีค่าใช้จ่ายที่สูงมาก และ 7) ในการพัฒนาของประเทศต่างๆ ยังคงมีปัญหาเกี่ยวกับข้อจำกัดด้านทรัพยากร ด้วยข้อจำกัดหลายอย่าง จึงทำให้ “ผู้ป่วยโรคหายาก” กลายผู้ป่วยที่ด้อยโอกาสในหลายๆ ประการ  มีคุณภาพชีวิตที่แย่ลง อาการรุนแรงขึ้นจนเกินเยียวยา หรือถึงแก่ชีวิต ส่งผลกระทบต่อศักยภาพการศึกษา การหารายได้ ส่งผลกระทบทางสังคมและจิตใจ ของทั้งตนเองและทั้งครอบครัวโดยรวม อีกทั้งที่ผ่านมา ขาดข้อมูลในเชิงสถิติของจำนวนผู้ป่วยรวมถึงสรุปวิเคราะห์เกี่ยวกับโรคหายาก จึงส่งผลให้กลุ่มผู้ป่วยโรคหายากไม่ได้รับทุนสนับสนุนในสิทธิประโยชน์การรักษาพยาบาลจากภาครัฐเท่าทเยมผู้ป่วยโรคอื่นๆ

ศ.พญ.ดวงฤดี วัฒนศิริชัยกุล หัวหน้าสาขาเวชพันธุศาสตร์ ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ในฐานะประธานเครือข่ายเวชพันธุศาสตร์ สมาคมเวชพันธุศาสตร์แห่งประเทศไทย เปิดเผยถึง “การศึกษาผลกระทบของโรคหายากต่อผู้ป่วยและครอบครัวหรือผู้ดูแลในประเทศไทย” เป็นครั้งแรก ซึ่งมาจากการสำรวจผู้ป่วยโรคหายากและผู้ดูแลผู้ป่วยโรคหายาก จำนวน 607 ราย โดยพบว่าข้อมูลที่น่าตกใจและควรเร่งเยียวยาแก้ไขหลายประการ อาทิ 28% ของคนไข้โรคหายาก ได้รับการตรวจจากแพทย์ทั่วไปและแพทย์สาขาต่างๆมานานกว่า 2 ปีขึ้นไปกว่าจะได้รับการวินิจฉัยที่ถูกต้องว่าเป็นโรคหายากโรคหนึ่ง  ในจำนวนนี้เกือบครึ่งหนึงใช้เวลาถึง 5 ปี ขึ้นไป นั่นหมายถึงว่าผู้ป่วยและครอบครัวจะต้องตกอยู่ในความไม่ชัดเจนไม่รู้ว่าเป็นอะไร และอาจได้รับการตรวจเลือดตรวจหรือตรวจวิเคราะห์ต่างๆ ที่อาจไม่จำเป็นมาเป็นจำนวนไม่น้อยกว่าจะได้รับการวินิจฉัยโรค นอกจากนี้ ประเทศไทยยังมีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญในด้านเวชพันธุศาสตร์ เพียง 20 คน ซึ่งกระจุกตัวอยู่ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล ซึ่งภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรตระหนักอย่างเข้าใจและเร่งบริหารจัดการระบบสาธารณสุขของไทยโดยเร็ว เนื่องจากประเทศไทยยังไม่มีหน่วยงานใดๆ เข้ามาสนับสนุนอย่างจริงจัง

สำหรับการรวบรวมข้อมูลสถิติการศึกษาผลกระทบโรคหายากในประเทศไทยครั้งนี้ ถือเป็นนิมิตหมายอันดีที่จะทำให้ภาครัฐ รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถนำไปใช้ประโยชน์ต่อยอดในเชิงบวก เพื่อจะได้ส่งเสริมสนับสนุนและนำผู้ป่วยเข้าสู่การรักษาในระบบสาธารณสุขของไทย ซึ่งเป็นความหวังที่รอคอยในอนาคตอันใกล้ ยกตัวอย่าง ประเทศญี่ปุ่น เป็นประเทศที่มีความสมดุลในการจัดการระบบการดูแลผู้ป่วยโรคหายาก มีทั้งระบบสร้างแรงจูงใจในการพัฒนายา มีการส่งเสริมการวิจัยการรักษาโรคหายากโดยกลไกภาครัฐ เช่น โครงการการพัฒนางานด้านวิชาการในการวิจัย และพัฒนาการรักษาโรคหายากโดยร่วมมือกับมหาวิทยาลัยของรัฐ มีการแก้ไขกฎหมาย ทำให้ผู้ป่วยโรคหายากได้รับสวัสดิการที่รัฐจัดให้ และมีการออกกฎหมายเพื่อช่วยลดภาระด้านค่าใช้จ่ายในส่วนของ coinsurance แก่ผู้ป่วยเพิ่มการเข้าถึงบริการ นอกจากนี้รัฐบาลญี่ปุ่นยังมีกลไกการต่อรองราคายาในกลุ่มยากำพร้าอีกด้วย

นางสาวปรียา สิงห์นฤหล้า ประธานมูลนิธิเพื่อผู้ป่วยโรคหายาก กล่าวว่า “ในโอกาสครบรอบ 2 ปีในการก่อตั้งมูลนิธิเพื่อผู้ป่วยโรคหายาก นับได้ว่าช่วงครึ่งปี 2561 นี้ ภาพของความร่วมมือจากภาครัฐเริ่มชัดเจนมากขึ้นหากเทียบกับระยะแรกๆ เนื่องด้วยล่าสุดได้มีกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (เอเปค APEC) และจากการประชุม APEC Healthy 2020 ได้เล็งเห็นความสำคัญถึงแนวทางการพัฒนาค้นคว้าวิจัย และแนวทางการรักษาโรคหายาก และได้นำโรคหายากเข้ามาอยู่ในแผนการพัฒนาระหว่างประเทศในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ซึ่งประเทศไทยก็เป็น 1 ใน 21 ประเทศที่เป็นสมาชิกด้วยเช่นกัน โอกาสนี้จึงได้จัดงาน “เราจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” โดยคาดหวังว่าการรวมตัวกันของกลุ่มผู้ป่วยและแพทย์ผู้เชี่ยวชาญในการรักษาโรคหายาก รวมถึงหน่วยงานต่างๆ ในครั้งนี้ จะเป็นแรงกระเพื่อมให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในสังคมและระบบสาธารณสุขของประเทศไทย และมีส่วนช่วยเร่งผลักดันให้ผู้ป่วยได้รับสิทธิประโยชน์ในการรักษาพยาบาล ซึ่งเป็นโอกาสและความหวังครั้งสำคัญของผู้ป่วยโรคหายาก

นพ. อุดมศักดิ์ แซ่โง้ว หัวหน้าศูนย์ความเป็นเลิศด้านการวิจัยระบบสุขภาพและการแพทย์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ เปิดเผยถึงผลการสังเคราะห์งานวิจัยเพื่อพัฒนาระบบสุขภาพสำหรับโรคหายากในประเทศไทย ว่า ประเทศไทยมีประชากร 68,863,514 คน (ข้อมูลปี 2016) มีค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพ 4.12% ของ GDP สัดส่วนค่าใช้จ่ายภาครัฐ 77.8% ของค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพทั้งหมด สัดส่วนค่าใช้จ่าย out-of-pocket คิดเป็น 11.9% ของค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพทั้งหมด (ข้อมูลปี 2014) โดยมีระบบประกันสุขภาพ ประชาชนชาวไทย 99.4% มีประกันสุขภาพภายใต้นโยบายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่รัฐจัดให้ 73.7% ของผู้มีสิทธิอยู่ภายใต้สิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า 17.2% ของผู้มีสิทธิอยู่ภายใต้สิทธิประกันสังคม 7.4% ของผู้มีสิทธิอยู่ภายใต้สิทธิสวัสดิการการรักษาพยาบาลของข้าราชการ ซึ่งหากเทียบค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพเฉลี่ยต่อคนต่อปีเมื่อคิดเป็นสัดส่วนต่อ GDP ของประเทศไทยนั้น ต่ำกว่ากลุ่มประเทศรายได้สูงอื่นๆ เช่น ญี่ปุ่น อังกฤษ แคนาดา เยอรมันนี เป็นต้น โดยคิดเป็นประมาณครึ่งหนึ่งของประเทศกลุ่มรายได้สูงดังกล่าว

แต่หากจะเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านอย่างฟิลิปปินส์ ซึ่งมีข้อมูลพื้นฐานใกล้เคียงกับไทย แต่กลับเป็นประเทศแรกที่มีแผนยุทธศาสตร์ระดับชาติเกี่ยวกับการบริหารจัดการโรคหายากผ่านการออกกฎหมาย Rare Diseases Act (2015) โดยมีการเพิ่มการเข้าถึงบริการทางการแพทย์ของผู้ป่วยโรคหายากหรือผู้ป่วยที่สงสัยว่าเป็นโรคหายาก ทั้งในด้านของการจัดตั้งระบบสุขภาพสำหรับโรคหายากที่ครอบคลุมและมีความยั่งยืนในระบบบริการสาธารณสุข จัดทำทะเบียนเกี่ยวกับโรคหายากที่มีข้อมูลเกี่ยวกับ เช่น ผู้ป่วยโรคหายาก โรคหายากที่พบในฟิลิปปินส์ ยากำพร้าและผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์อื่น และรณรงค์ให้ข้อมูลเกี่ยวกับโรคหายากเพื่อค้นหาผู้ป่วยโรคหายากและช่วยประชาชนทั่วไปให้มีความเข้าใจโรคหายาก และความต้องการของผู้ป่วยโรคหายาก ให้การสนับสนุนการสร้างเครือข่ายผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่เกี่ยวข้องอย่างสม่ำเสมอ รวมถึงสร้างแรงจูงใจด้านระเบียบและงบประมาณเพื่อสนับสนุนงานวิจัยเกี่ยวกับโรคหายาก เพื่อพัฒนาการรักษาหรือนำเข้ายากำพร้าจากต่างประเทศ

ในขณะที่ประเทศไทย ยังไม่มีกฎหมายที่เกี่ยวกับการดูแลผู้ป่วยโรคหายากโดยตรง มีเพียงประกาศของหน่วยงานราชการในประเด็นที่มีความเกี่ยวข้องกับการดูแลผู้ป่วยกลุ่มนี้ คือ ประกาศสำนักคณะกรรมการอาหารและยา เรื่องบัญชีรายการยากำพร้า พ.ศ.2560 โดยตามประกาศนี้ ยากำพร้า หมายถึง “ยาที่มีความจำเป็นต้องใช้เพื่อวินิจฉัย บรรเทา บำบัด ป้องกัน หรือรักษาโรคที่พบได้น้อย หรือโรคที่เป็นอันตรายร้ายแรงหรือโรคที่ก่อให้เกิดความทุพพลภาพอย่างต่อเนื่อง หรือยาที่มีอัตราการใช้ต่ำโดยไม่มียาอื่นมาใช้ทดแทนได้และมีปัญหาการขาดแคลน” จะเห็นได้ว่าคำนิยามของยากำพร้าได้มีการระบุคำว่า “โรคที่พบได้น้อย” ซึ่งอาจตีความรวมถึงกลุ่มโรคหายากกลุ่มพันธุกรรม แต่ในทางปฏิบัติยังมีประเด็นอยู่ เช่น  เคยมีความพยายามขึ้นทะเบียนยาที่ใช้รักษาโรคหายากในประเทศไทยโดยใช้ช่องทางของยากำพร้าดังกล่าว เมื่อส่งเข้ากระบวนการขึ้นทะเบียนของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ของประเทศไทยแล้วกลับไม่ถูกจัดเป็นยากำพร้า ทำให้ต้องใช้กระบวนการพิจารณาเหมือนยาปกติ ซึ่งต้องใช้ระยะเวลาในการพิจารณาประมาณ 1-2 ปี จึงสามารถขึ้นทะเบียนได้ จึงทำให้เกิดความล่าช้าและส่งผลกระทบต่อการดูแลรักษาผู้ป่วยโรคหายาก ดังนั้นการพูดคุยเพื่อหาแนวทางที่เหมาะสมในการแก้ปัญหาเชิงการตีความกฎระเบียบเหล่านี้เพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยได้ก็ถือว่ามีความสำคัญมากเช่นกัน

ทุกวันนี้ การดำเนินงานของมูลนิธิเพื่อผู้ป่วยโรคหายาก ได้รับเงินสนับสนุนจากผู้มีจิตศรัทธาเท่านั้น ผู้สนใจสามารถหยิบยื่นความน้ำใจเพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยโรคหายากและกิจกรรมของมูลนิธิฯ ได้ที่ “มูลนิธิเพื่อผู้ป่วยโรคหายาก” ชื่อบัญชี RARE DISEASE THAILAND ธนาคารไทยพาณิชย์ เลขบัญชีธนาคาร 026-453820-1 หรือดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.ThaiRDF.com หรือเฟสบุ๊ค Thai Rare Disease Foundation

 

21 พฤศจิกายน 2561


บริษัท มีเดีย เน็ทเวิร์ค จำกัด
138, 140 ซอยอนามัย ถนนศรีนครินทร์ แขวงสวนหลวง เขตสวนหลวง กรุงเทพฯ 10250
MEDIA NETWORK Co.,Ltd
138, 140 Soi Anamai Srinakarin Road Suanluang Suanluang Bangkok 10250
Tel. 02 721 4417 Fax. 02 721 5516
E-mail : phototechthailand@gmail.com


ติดต่อโฆษณาหรือข้อมูลเพิ่มเติม
โทร. 02 721 4417 , 097 921 2929 คุณขวัญ

แฟนเพจ Phototech Magazine


ออกแบบโดย touronthai