สอศ. ผนึก เชฟรอนฯ “ยกโรงงานสู่โรงเรียน” สร้างโอกาสอาชีวะไทยฝึกปฏิบัติงานร่วม “หุ่นยนต์”

Chevron Enjoy Science สร้างโอกาสอาชีวะไทยเรียนรู้เทคโนโลยียุคใหม่ “หุ่นยนต์อุตสาหกรรม” ผนึก สอศ. ทำโปรเจ็กต์ “ยกโรงงานสู่โรงเรียน” มอบหุ่นยนต์แขนกลมูลค่า 30 ล้านบาทให้ สอศ.  ตอบโจทย์ “เรียนจบใช้ได้จริง” นำร่อง 27 วิทยาลัยเทคนิค ได้มีโอกาสฝึกปฏิบัติจริงกับเทคโนโลยีทันสมัยสร้างแรงงานยุคใหม่รองรับอุตสาหกรรม S-Curve

พลเอกสุทัศน์ กาญจนานนท์กุล ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ

พลเอกสุทัศน์ กาญจนานนท์กุล กล่าวในพิธี  มอบอุปกรณ์การเรียนวิชาหุ่นยนต์ในงานอุตสาหกรรมของโครงการ Chevron Enjoy Science: สนุกวิทย์ พลังคิด เพื่ออนาคต ให้กับวิทยาลัยเทคนิค 27 แห่งว่า ปัจจุบันรัฐบาลมุ่งให้ความสำคัญในการพัฒนาประเทศ ตามแนวนโยบายไทยแลนด์ 4.0 เพื่อผลักดันระบบเศรษฐกิจให้ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม โดยเฉพาะกลุ่มในอุตสาหกรรมเป้าหมาย (S-Curve)

 โจทย์สำคัญของกระทรวงศึกษาธิการ คือ การวางแผนผลิต “ช่างเทคนิค” ให้ตอบรับกับนโยบายทั้งในเชิงคุณภาพและปริมาณ โดยเฉพาะการลดช่องว่างด้านคุณภาพของสถานศึกษาอาชีวศึกษาทั่วประเทศ 914 แห่ง  ซึ่งเป็นสถานศึกษาอาชีวะของรัฐ 428 แห่ง และ อาชีวะเอกชน 486 แห่ง ให้มีมาตรฐานใกล้เคียงกันมากขึ้น รวมถึงผลักดันและกระตุ้นความสนใจการศึกษาด้านอาชีวะมากขึ้น โดยมุ่งเน้นความร่วมมือคณะทำงานสานพลังประชารัฐด้านการยกระดับคุณภาพวิชาชีพที่มีภาคอุตสาหกรรมเข้ามาช่วยเติมทักษะเทคโนโลยีสมัยใหม่ โดยเฉพาะเรียนรู้การทำงานของ “หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ” ที่จำเป็นอย่างยิ่งสำหรับกลุ่ม S-Curve

“เชื่อว่าความร่วมมือจากทุกภาคส่วนที่เกิดขึ้นในการขับเคลื่อนการศึกษาตามยุทธศาสตร์ไทยแลนด์ 4.0 จะส่งผลต่อภาพรวมในการยกระดับคุณภาพอาชีวศึกษาให้เกิดความเท่าเทียมด้านโอกาสการศึกษาทั้งในระดับภูมิภาคและส่วนกลาง จะช่วยพัฒนาทักษะนักศึกษาอาชีวะก้าวทันการเปลี่ยนแปลงของโลกอุตสาหกรรมยุค 4.0”  พลเอกสุทัศน์ กล่าว

นายอาทิตย์ กริชพิพรรธ ผู้จัดการใหญ่ฝ่ายสนับสนุนธุรกิจ บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด

นายอาทิตย์ กริชพิพรรธ ระบุว่า โครงการ Chevron Enjoy Science: สนุกวิทย์ พลังคิด เพื่ออนาคต เล็งเห็นถึงความสำคัญของการพัฒนาช่างเทคนิคให้มีทักษะตรงความต้องการภาคอุตสาหกรรมที่มุ่งสู่ยุค 4.0 ซึ่งมีการนำหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติเข้ามาทำงานในโรงงานอุตสาหกรรมมากขึ้น สอดคล้องกับข้อมูลล่าสุดของ World Economic Forum ที่ว่าแนวโน้มของโลกในอนาคตอันใกล้หุ่นยนต์และปัญญาประดิษฐ์อาจจะเข้ามาแทนที่แรงงาน 75 ล้านตำแหน่ง หากแรงงานไม่มีการปรับตัว ดังนั้นจึงควรเร่งดำเนินการลงทุนเพิ่มด้านการศึกษาและฝึกอบรมเพื่อให้แรงงานแห่งอนาคตปรับตัวได้ทัน

ขณะที่ผลสำรวจของโครงการฯ พบว่า นักศึกษาอาชีวะไทยยังขาดทักษะจำเป็นที่เชื่อมโยงการทำงานจริง โดยเฉพาะการสั่งการหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ ประกอบกับมีการคาดการณ์ว่าโรงงานอุตสาหกรรมจะมีการนำหุ่นยนต์มาใช้เพิ่มขึ้นถึง 40,000 ตัว ขณะที่วิทยาลัยเทคนิคส่วนใหญ่ยังไม่มีหุ่นยนต์สำหรับฝึกปฏิบัติ หรือ มีก็เป็นเทคโนโลยีล้าสมัย ส่งผลให้นักศึกษาอาชีวะส่วนใหญ่ไม่เคยสัมผัสหุ่นยนต์ที่ใช้จริงในโรงงานยุคใหม่ เมื่อเรียนจบไป จึงไม่สามารถทำงานร่วมกับหุ่นยนต์ที่เป็นหัวใจของระบบผลิตได้

            “เชฟรอนฯ จึงผลักดันแนวคิด “ยกโรงงานสู่โรงเรียน” ด้วยการสนับสนุนหุ่นยนต์ ABB IRB 120 จากประเทศสวีเดน พร้อมหลักสูตรอบรมทั้งหมด 27 ชุด เป็นอุปกรณ์การเรียนรู้จำลองมาตรฐานเดียวกับโรงงานในกลุ่ม S-Curve มูลค่า 30 ล้านบาท เพื่อให้นักศึกษาฝึกฝนทักษะการใช้งานหุ่นยนต์แขนกล และการใช้โปรแกรมจำลองเสมือนอยู่ในโรงงานจริง พร้อมพัฒนาแผนการสอนวิชาหุ่นยนต์ในงานอุตสาหกรรมและระบบการผลิตอัตโนมัติที่สอดคล้องกับหลักสูตรของ สอศ. เพื่อให้ครูอาชีวะสามารถนำไปปรับใช้ในการสอน โดยนำร่องใช้กับ 27 วิทยาลัยเทคนิค เพื่อสร้างโอกาสการเรียนรู้อย่างทั่วถึงต่อไป

ดร. สาโรจน์ ขอจ่วนเตี๋ยว ที่ปรึกษาด้านมาตรฐานอาชีวศึกษาช่างอุตสาหกรรม

สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา

ด้าน ดร. สาโรจน์ ขอจ่วนเตี๋ยว กล่าวว่า ความต้องการแรงงานช่างเทคนิค และช่างสายสนับสนุนที่มีทักษะในกลุ่มแมคคาทรอนิกส์และหุ่นยนต์มีแนวโน้มที่สูงขึ้น แต่ปัจจุบันมีสถาบันอาชีวศึกษาเพียงส่วนน้อยที่มีหุ่นยนต์  หรือ แขนกลสำหรับฝึกสอน ดังนั้น สอศ. จึงร่วมกับภาคีเครือข่ายภาคเอกชน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หาแนวทางเติมองค์ความรู้ ทั้งการฝึกทักษะ ควบคุมระบบเชื่อมอัตโนมัติ การออกแบบชิ้นส่วนยานยนต์ ตลอดจนเทคนิคการใช้งานเครื่องมือ เครื่องจักรกลหุ่นยนต์ที่ควบคุมสั่งการด้วยระบบอัตโนมัติให้นักศึกษาอาชีวะอย่างต่อเนื่อง

“การเข้ามาสนับสนุนอุปกรณ์และหลักสูตรการสอนด้านหุ่นยนต์ของโครงการ Chevron Enjoy Science: สนุกวิทย์ พลังคิด เพื่ออนาคต เป็นอีกแนวทางสำคัญที่ช่วยยกระดับอาชีวะไทย เพราะการนำหุ่นยนต์ของภาคอุตสาหกรรมสมัยใหม่มาให้นักศึกษาได้ฝึกปฏิบัติจริง ส่งผลให้เมื่อนักศึกษาจบไปก็จะมีทักษะใช้งานได้จริง ตรงความต้องการของภาคอุตสาหกรรมต่อไปในอนาคต”

นายปิยะบุตร ชลวิจารณ์ ประธานสถาบันคีนันแห่งเอเซีย

            นายปิยะบุตร ชลวิจารณ์ กล่าวเสริมว่า การสนับสนุนครั้งนี้จะส่งมอบเป็นชุด ประกอบด้วยหุ่นยนต์ แผนการสอน และคู่มือครู ซึ่งโครงการฯ จัดทำร่วมกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ที่มีกระบวนการสอนแบบ Applied Learning ซึ่งบูรณาการการเรียนรู้แบบ Problem-based Project-based Competition-based  และ Outcome-based เข้าด้วยกัน ตลอดจนทักษะในศตวรรษที่ 21 ด้านการทำงานเป็นทีม การแก้ไขปัญหา และ การทำงานกับเทคโนโลยีสมัยใหม่

 “ปัจจุบันแมคคาทรอนิกส์และหุ่นยนต์เป็นศาสตร์ใหม่ จึงมีการเปิดสอนโดยตรงอยู่น้อย หลายแห่งที่พยายามเปิดสอนก็ยังขาดความพร้อม การเข้ามาสนับสนุนของเชฟรอนฯ จะช่วยเติมเต็มให้เกิดการพัฒนาได้เร็วขึ้น โดยเฟสแรกจะมีการส่งมอบอุปกรณ์และซอฟท์แวร์ รวมถึงหลักสูตรการเรียนการสอน พร้อมจัดอบรมให้ 27 วิทยาลัยเทคนิค เพื่อสร้าง Master Teacher มากกว่า 80 คน และนักเรียนอาชีวะ 1,600 คน”

12 ตุลาคม 2561


บริษัท มีเดีย เน็ทเวิร์ค จำกัด
138, 140 ซอยอนามัย ถนนศรีนครินทร์ แขวงสวนหลวง เขตสวนหลวง กรุงเทพฯ 10250
MEDIA NETWORK Co.,Ltd
138, 140 Soi Anamai Srinakarin Road Suanluang Suanluang Bangkok 10250
Tel. 02 721 4417 Fax. 02 721 5516
E-mail : phototechthailand@gmail.com


ติดต่อโฆษณาหรือข้อมูลเพิ่มเติม
โทร. 02 721 4417 , 097 921 2929 คุณขวัญ

แฟนเพจ Phototech Magazine


ออกแบบโดย touronthai