รมว.พม. เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทย เข้าร่วมประชุม CSW สมัยที่ 62 ณ สำนักงานใหญ่สหประชาชาติ USA

          ในวันที่ 15 มีนาคม 2561 เวลา 10.00 น. (ตามเวลาท้องถิ่น) ณ นครนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา นายเลิศปัญญา บูรณบัณฑิต อธิบดีกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว เปิดเผยว่า พลเอก อนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ได้เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทยเดินทางไป เข้าร่วมการประชุมคณะกรรมาธิการว่าด้วยสถานภาพสตรี (Commission on the Status of Women หรือ CSW) สมัยที่ 62 และเป็นประธานเปิดงานการจัดกิจกรรมคู่ขนานในหัวข้อ การเข้าถึงเทคโนโลยีและการสื่อสาร 

 พลเอก อนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์

เพื่อการสร้างความเข้มแข็งให้สตรีในชนบทในบริบทอาเซียน “Women’s Access to Technologies and Media : Empowering rural women in the ASEAN region” ระหว่างวันที่ 10 – 16 มีนาคม 2561 โดยมี นายเลิศปัญญา บูรณบัณทิต อธิบดีกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว ตลอดจน นางพรสม เปาปราโมทย์ รองอธิบดีกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว และคณะ รวมจำนวน 8 คน ร่วมประชุมด้วยดังกล่าว

          นายเลิศปัญญา กล่าวว่า การประชุมคณะกรรมาธิการว่าด้วยสถานภาพสตรี (Commission on the Status of Women หรือ CSW) สมัยที่ 62 นี้ จัดขึ้นระหว่างวันที่ 12 – 23 มีนาคม 2561  ณ สำนักงานใหญ่สหประชาชาติ นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา โดยการประชุมประจำปี 2561 นี้ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้อนุมัติให้พลเอก อนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (รมว.พม.) เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทยเข้าร่วมการประชุม ซึ่งเป็นการประชุมของสหประชาชาติด้านสตรีที่สำคัญในเวทีโลก มีผู้แทนรัฐบาลจาก 174 ประเทศ รวมทั้งผู้แทนองค์กรเอกชน  และผู้แทนองค์กรต่าง ๆ เข้าร่วมประชุม ในหัวข้อหลัก คือ ข้อท้าทายและโอกาสในการบรรลุความเสมอภาคระหว่างเพศ และการเสริมสร้างความเข้มแข็งต่อสตรีและเด็กหญิงในชนบท และหัวข้อรอง คือ การมีส่วนร่วมและการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร สื่อ และเทคโนโลยีในการสื่อสารต่าง ๆ ของสตรี และผลกระทบในฐานะเครื่องมือในการเสริมสร้างความเข้มแข็งต่อสตรี ซึ่งถือเป็นการประชุมด้านสตรีที่มีความสำคัญยิ่งในระดับสากล โดยการประชุมดังกล่าว พลเอก อนันตพร ในฐานะหัวหน้าคณะผู้แทนไทยได้รับเกียรติให้กล่าวถ้อยแถลงในนามกลุ่มประเทศอาเซียนตั้งแต่วันแรกของการประชุม โดยกล่าวถึงการดำเนินงานด้านสตรี ว่า วิสัยทัศน์ของประชาคมอาเซียน 2025 (The ASEAN Community Vision 2025) มีหลักการที่สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ มีผลงานสำคัญๆ ได้แก่ ปฏิญญาผู้นำอาเซียนว่าด้วยการดำเนินงานตามวิสัยทัศน์ประชาคมอาเซียน 2025 แถลงการณ์ร่วมว่าด้วยการส่งเสริมสตรี สันติภาพ และความมั่นคงในอาเซียน และการบูรณาการการเสริมความเข้มแข็งด้านเศรษฐกิจของสตรีในอาเซียน ซึ่งแสดงถึงความมุ่งมั่นจากผู้นำระดับสูง ของอาเซียนในการดำเนินการด้านการส่งเสริมสถานภาพสตรี

          นายเลิศปัญญา กล่าวต่ออีกว่า พลเอก อนันตพร ยังได้เข้าร่วมการประชุมโต๊ะกลมระดับรัฐมนตรี (Ministerial Round Table) ในหัวข้อ เรื่อง ตัวอย่างที่ดีและความก้าวหน้าในการเสริมสร้างความเข้มแข็งต่อสตรีในชนบท โดยผ่านการป้องกันความรุนแรงด้วยเหตุแห่งเพศ การเข้าถึงความยุติธรรม การบริการสาธารณสุข และสวัสดิการสังคม ในการนี้ รมว.พม. ได้กล่าวถึง ความจำเป็นในการพัฒนาสตรีในชนบททั้งทางด้านเศรษฐกิจ การพัฒนาศักยภาพ และการกระจายบริการด้านสาธารณสุข เพื่อนำไปสู่การพัฒนาสตรีชนบทอย่างสมบูรณ์ และเป็นรากฐานะที่สำคัญเพื่อจะนำไปสู่การบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ในเรื่องการขจัดความรุนแรงต่อสตรี ประเทศไทยกำลังจัดทำแผนปฏิบัติการว่าด้วยการขจัดความรุนแรงต่อสตรีและอยู่ระหว่างการพิจารณาปรับปรุงแก้ไข ร่างกฎหมายคุ้มครองสวัสดิภาพบุคคลในครอบครัว พ.ศ.  ซึ่งจะมาแทน พรบ. คุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ. 2550 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อปรับปรุงกฎหมายให้มีประสิทธิภาพ และสามารถคุ้มครองสมาชิกในครอบครัวได้อย่างทั่วถึงและเป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น

          นอกจากนี้ รมว.พม. พร้อมคณะ ยังได้มีโอกาสในการศึกษาแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการทำงานและเยี่ยมชมกรมผู้สูงอายุของนครนิวยอร์ก รวมทั้งได้ประชุมร่วมกับสถานกงสุลใหญ่และคนไทยในนครนิวยอร์ก เพื่อพัฒนาความร่วมมือและสร้างเครือข่ายคนไทยในต่างประเทศ ตลอดจนรับทราบสภาพความเป็นอยู่ที่แท้จริงของชุมชนไทย อีกทั้ง ประเทศไทยได้จัดกิจกรรมคู่ขนาน ในหัวข้อ การเข้าถึงเทคโนโลยีและการสื่อสาร : เพื่อการสร้างความเข้มแข็งให้สตรีในชนบทในบริบทอาเซียน โดย พลเอก อนันตพร ให้เกียรติเป็นประธานในพิธีเปิด ซึ่งกิจกรรมคู่ขนานดังกล่าว ได้มีวิทยากรจากสำนักเลขาธิการอาเซียน ผู้แทน UN Women ผู้แทนประเทศฟิลิปปินส์ และประเทศไทย ร่วมอภิปรายการบูรณาการความเสมอภาคระหว่างเพศในการพัฒนาชนบทในบริบทของอาเซียน ในการนี้ นางพรสม เปาปราโมทย์ ผู้แทนประเทศไทยได้กล่าวถึงความก้าวหน้าในการยกระดับคุณภาพชีวิตสตรีชนบทผ่านกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีที่เป็นแหล่งเงินทุนกู้ยืมดอกเบี้ยต่ำ เพื่อสตรีที่ยากจนสามารถยกระดับคุณภาพการผลิตในระดับหมู่บ้านให้ก้าวขึ้นเป็นธุรกิจขนาดเล็กและขนาดกลาง ซึ่งในปัจจุบันสินค้า OTOP จากสตรีเหล่านี้ก็สามารถยกระดับขึ้นมาจำหน่ายบนเครื่องบินสายการบินไทยได้อีกด้วย 

          “จะเห็นได้ว่า การเดินทางไปร่วมประชุม CSW สมัยที่ 62 ในครั้งนี้ ทำให้ประเทศไทยได้มีโอกาสในการจัดกิจกรรมคู่ขนาน และการแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับหน่วยงานต่างประเทศ ตลอดจนพบปะเครือข่ายคนไทยในต่างประเทศ ซึ่งเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการขับเคลื่อน ประเด็นด้านสตรีของรัฐบาลไทยตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนเป้าหมายที่ 5 หรือ SDG Five ในการส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศและพัฒนาศักยภาพสตรีสู่ระดับสากล ทั้งนี้ ประเทศไทยในฐานะผู้แทนกลุ่มอาเซียน ได้ประกาศคำมั่นสัญญาในการให้ความร่วมมือกับทุกภาคส่วนในการประสานความร่วมมือในระดับประเทศ ระดับภูมิภาค และระดับนานาประเทศ เพื่อส่งเสริมศักยภาพสตรีและความเสมอภาคของทุกคน” นายเลิศปัญญากล่าวในตอนท้าย

18 มีนาคม 2561


บริษัท มีเดีย เน็ทเวิร์ค จำกัด
138, 140 ซอยอนามัย ถนนศรีนครินทร์ แขวงสวนหลวง เขตสวนหลวง กรุงเทพฯ 10250
MEDIA NETWORK Co.,Ltd
138, 140 Soi Anamai Srinakarin Road Suanluang Suanluang Bangkok 10250
Tel. 02 721 4417 Fax. 02 721 5516
E-mail : phototechthailand@gmail.com


ติดต่อโฆษณาหรือข้อมูลเพิ่มเติม
โทร. 02 721 4417 , 097 921 2929 คุณขวัญ

แฟนเพจ Phototech Magazine


ออกแบบโดย touronthai