สวทช. จัดงาน “NAC2018” ประชุมวิชาการประจำปีครั้งยิ่งใหญ่โชว์ศักยภาพ “งานวิจัยประเด็นมุ่งเน้น” ตอบโจทย์ประเทศไทย

9 มีนาคม 2561 อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย ปทุมธานี:  สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทรงเป็นประธานเปิดงานประชุมวิชาการ สวทช. ประจำปี 2561 (NSTDA Annual Conference 2018: NAC2018)

ภายใต้แนวคิด ตอบโจทย์ประเทศไทยด้วยงานวิจัยประเด็นมุ่งเน้นที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 9-13 มีนาคม 2561 ณ อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย จ.ปทุมธานี โชว์ศักยภาพผลงานวิจัยและพัฒนาของ สวทช. และเครือข่ายพันธมิตร ที่ตอบโจทย์การพัฒนาประเทศด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม (วทน.) โดยมุ่งเน้น 5 กลุ่มอุตสาหกรรมหลัก

นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กราบบังคมทูลว่า สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ หรือ สวทช. เป็นหน่วยงานในกำกับของกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มีเป้าหมายในการวิจัยและพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม และพัฒนากลไกการส่งมอบ เพื่อผลักดันงานวิจัยและพัฒนาไปสู่การใช้ประโยชน์ทั้งเชิงพาณิชย์และสาธารณประโยชน์ และดำเนินงานตามพันธกิจเพื่อพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมของประเทศ ได้แก่ การพัฒนากำลังคน และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศ  เพื่อตอบโจทย์ประเทศไทย 4.0 ตามหลักการเศรษฐกิจพอเพียง ให้ประชาชนไทยมีภูมิคุ้มกันและพึ่งพาตนเองได้

สำหรับปีงบประมาณ 2560 ที่ผ่านมา สวทช. มีผลงานที่เป็นองค์ความรู้ ได้แก่ สิ่งตีพิมพ์ในวารสารนานาชาติ 578 เรื่อง ทรัพย์สินทางปัญญาที่ขอจด 301 คำขอ และผลงานที่ได้รับการถ่ายทอดเชิงพาณิชย์และสาธารณประโยชน์ 255 รายการ หน่วยงานรับมอบ 311 หน่วยงาน เกิดผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย 27,546 ล้านบาท และมีการถ่ายทอดเทคโนโลยีเพื่อเกษตรและชุมชน รวม 220 ชุมชน ใน 45 จังหวัด

การประชุมวิชาการประจำปีในครั้งนี้ จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 14 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อนำเสนองานวิจัยประเด็นมุ่งเน้น ตามแผนกลยุทธ์ของ สวทช. ฉบับที่ 6 (พ.ศ. 2560-2564) ที่ให้ความสำคัญกับการสร้างผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคม ด้วยงานวิจัยที่สามารถนำไปใช้ได้จริงใน 5 ด้าน ได้แก่ 1.อาหารเพื่ออนาคต 2.ระบบขนส่งสมัยใหม่      3.การสร้างเสริมสุขภาพและคุณภาพชีวิต 4.เคมีชีวภาพและเชื้อเพลิงชีวภาพ และ 5.นวัตกรรมเพื่อการเกษตรยั่งยืน โดยเป็นผลงานวิจัยและพัฒนาที่ สวทช. ได้สนับสนุนและดำเนินการโดยนักวิจัยของ สวทช. ทั้ง 4 ศูนย์แห่งชาติ ได้แก่ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ และศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ ร่วมกับเครือข่ายภาครัฐ เอกชน และชุมชน โดยมีกลุ่มเป้าหมายของการประชุม เป็นนักวิชาการ นักวิจัย ผู้ประกอบการ เกษตรกร ผู้กำหนดนโยบาย นิสิตนักศึกษา นักเรียน ตลอดจน ประชาชนทั่วไป

ภายในงานประชุมวิชาการนี้มีกิจกรรมหลัก ประกอบด้วย 1.สัมมนาวิชาการ เป็นเวทีนำเสนอความก้าวหน้าของการวิจัยและพัฒนา การประชุมเชิงปฏิบัติการ และการประชุมเพื่อขยายความร่วมมือกับองค์กรวิจัยชั้นนำในต่างประเทศ เช่น Jülich Research Centre สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี Chinese Academy of Science สาธารณรัฐประชาชนจีน และ Tokyo Institute of Technology ประเทศญี่ปุ่น รวมทั้งสิ้น 53 หัวข้อ 2. นิทรรศการแสดงผลงานและพันธมิตร จัดแสดงผลงานเทิดพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี และโครงการตามพระราชดำริฯ  ผลงานวิจัยตามประเด็นวิจัยมุ่งเน้น และผลงานวิจัยที่พร้อมถ่ายทอด สื่อสร้างสรรค์ทางวิทยาศาสตร์ นิทรรศการความรู้เพื่อเกษตรและชุมชน และบริษัทผู้เช่าภายในอุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย 3. การเยี่ยมชมห้องปฏิบัติการวิจัยและทดสอบของ สวทช. และบริษัทผู้เช่าในอุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย 37 ห้องปฏิบัติการ 4. กิจกรรมอบรมครูเชิงปฏิบัติการ และกิจกรรมสำหรับเด็กและเยาวชน ในโครงการบ้านนักวิทยาศาสตร์น้อย และโครงการมหาวิทยาลัยเด็กประเทศไทย 5. มหกรรมรับสมัครงานด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มีหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชนร่วมมากกว่า 120 บริษัท มีตำแหน่งงานมากกว่า 2,000 ตำแหน่ง

นายณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กราบบังคมทูลรายงานและเบิกผู้เข้ารับพระราชทานรางวัลตามประเภทต่างๆ ในกิจกรรมพัฒนาศักยภาพบุคลากรทางการวิจัยที่ สวทช. ให้การสนับสนุนและส่งเสริม เพื่อให้เกิดบุคลากรที่มีความรู้ ความสามารถ พร้อมนำทรัพยากรต่างๆ มาประยุกต์ให้เกิดเทคโนโลยี หรือนวัตกรรม เพื่อก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศชาติ ตลอดจนอาศัยการเชื่อมโยงการเรียนรู้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไปกับระบบการศึกษา ทั้งในระบบ นอกระบบ และการศึกษาตามอัธยาศัยแก่เด็ก เยาวชน  และบุคคลทั่วไป  ทั้งในเชิงกว้างและเชิงลึกผ่านในหลากหลายกิจกรรมเพื่อสร้างเยาวชนคนรุ่นใหม่ที่มีความตระหนัก รวมไปถึงสร้างให้เกิดนวัตกรรม ด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และกระจายความรู้ออกสู่สังคมไทยให้ทั่วถึงและเท่าเทียม สำหรับในปี 2560  สวทช. ดำเนินโครงการส่งเสริมการพัฒนาศักยภาพบุคลากรทางการวิจัยที่สำคัญ 4 โครงการ ได้แก่ โครงการทุนนักวิจัยแกนนำ ประจำปี 2560 จำนวน 2 รางวัล โครงการทุน NSTDA Chair Professor จำนวน 1 รางวัล นักศึกษาที่ได้รับรางวัลชนะเลิศจากการแข่งขันออกแบบและสร้างหุ่นยนต์แห่งประเทศไทยเข้ารับพระราชทานเกียรติบัตร จำนวน 1 รางวัล และเกษตรกรดีเด่นในโครงการประกวดการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตมันสำปะหลังฤดูปลูก พ.ศ. 2559/2560 เข้ารับพระราชทานเกียรติบัตร จำนวน 2 รางวัล

จากนั้น สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงมีพระราชดำรัสเปิดการประชุมวิชาการ สวทช. ประจำปี 2561 ภายใต้หัวข้อ ตอบโจทย์ประเทศไทยด้วยงานวิจัยประเด็นมุ่งเน้น (Targeted R&D : Tackling Thailand Challenges )” เสด็จพระราชดำเนิน ทรงตัดแถบแพรเปิดนิทรรศการ และทอดพระเนตรนิทรรศการเทิดพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี กับวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไทย ประกอบด้วย โครงการพัฒนานักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี โครงการนักศึกษาและครูสอนฟิสิกส์ภาคฤดูร้อนเซิร์น โครงการส่งเสริมการใช้ไอซีทีสร้างรายได้ในกลุ่มโรงเรียน ทสรช. โครงการเทคโนโลยีสารสนเทศโรงเรียนโสตศึกษา โครงการคืนความสุขในการบดเคี้ยว (Digital Dentistry) ความร่วมมือระหว่างไทยกับสภาวิทยาศาสตร์แห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน (ด้านนาโนเทคโนโลยี เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร และฟิสิกส์ดาราศาสตร์) ความเชี่ยวชาญนักอนุกรมวิธานในประเทศไทย และโครงการสื่อสาระออนไลน์เพื่อการเรียนรู้ทางไกลเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในวโรกาส ฉลองพระชนมายุ 5 รอบ 2 เมษายน 2558 เป็นการพัฒนาระบบออนไลน์เพื่อการเรียนรู้ขนาดใหญ่เพื่อให้ได้สื่อสาระเพื่อครูในการนำไปใช้สร้างสื่อการสอน และเป็นระบบ eLearning เพื่อการเรียนรู้ทางไกล และทรงทอดพระเนตรนิทรรศการความก้าวหน้าของงานวิจัย สวทช. และพันธมิตร ใน 5 กลุ่มอุตสาหกรรม ได้แก่ 

1.    นวัตกรรมเพื่อการเกษตรยั่งยืน:- Plant Factory โรงงานผลิตพืชเพื่อการเกษตรในอนาคต / การพัฒนาระบบปฏิบัติการตรวจสอบจีโนไทป์ข้าวแบบประสิทธิภาพสูงสำหรับการปรับปรุงพันธุ์ข้าว และการสร้างฐานข้อมูลข้าวเพื่อการนำไปใช้ประโยชน์ (ฐานข้อมูลข้าว) / ระบบควบคุมเครื่องตีน้ำอัตโนมัติ / ระบบบริหารจัดการปฏิทินการเพาะปลูกพืช

2.    กลุ่มอุตสาหกรรมเคมีชีวภาพและเชื้อเพลิงชีวภาพ:- ศูนย์ชีววัสดุประเทศไทย เป็นคลังชีววัสดุชั้นนำระดับภูมิภาคอาเซียน ด้วยระบบการบริหารจัดการเครือข่ายคลังชีววัสดุ ข้อมูลชีววัสดุ และกฎหมายชีวภาพที่เชื่อมโยงกันอย่างมีประสิทธิภาพ และมีมาตรฐานเป็นที่ยอมรับในระดับสากล / ศักยภาพและแนวโน้มการใช้ประโยชน์จากเห็ดในปัจจุบันและอนาคต / โรงงานต้นแบบชีวกระบวนการ เป็นโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญของประเทศ สำหรับการพัฒนากระบวนการผลิตชีวมวลเซลล์และสารชีวภัณฑ์จากจุลินทรีย์ในระดับ        กึ่งอุตสาหกรรม เพื่อผลักดันการใช้ประโยชน์จากจุลินทรีย์ในอุตสาหกรรมต่างๆ

3.    กลุ่มอาหารเพื่ออนาคต :- สวทช. มีเป้าหมายในการสร้างอุตสาหกรรม functional Ingredient ในประเทศไทย ส่งเสริมให้เกิดต้นแบบผลิตภัณฑ์ และกระบวนการใหม่ เพื่อถ่ายทอดสู่เอกชน เกิดผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคมของประเทศจากวิจัย และพัฒนาบุคลากรด้านเทคโนโลยีอาหารในประเทศไทย

4.    การสร้างเสริมสุขภาพและคุณภาพชีวิต :-     นวัตกรรมด้าน Human-centric Design สำหรับผู้สูงอายุ อาทิ  เตียงตื่นตัว: เตียงกระตุ้นการลุกขึ้นนั่ง อุปกรณ์ช่วยขึ้นลงเตียง: อุปกรณ์สำหรับช่วยทำให้ผู้สูงอายุและผู้ป่วยที่ต้องใช้เตียงสูง สามารถลุกนั่งและเข้าออกจากเตียงด้วยตัวเองได้อย่างปลอดภัย และผ้ากระตุ้นสมอง:- ผ้าห่มที่มีความอ่อนนุ่มและสวยงาม มีการเย็บพิเศษ สำหรับกระตุ้นประสาทสัมผัส / แผ่นรองฝ่าเท้าเฉพาะบุคคล (Customized insole) เทคโนโลยีการผลิตแผ่นรองฝ่าเท้าเฉพาะบุคคล โดยเฉพาะผู้มีปัญหาเรื่องเท้า เพื่อทราบข้อมูลจากการตรวจกระจายน้ำหนักของเท้า การทรงตัว และการถ่ายน้ำหนัก ด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย รวมทั้งสร้างความตระหนักในการรักษารูปเท้าให้คงรูปมากที่สุดก่อนเข้าสู่วัยผู้สูงอายุ

5.    ระบบขนส่งสมัยใหม่ :- แบตเตอรี่ต้นแบบสำหรับรถยนต์นั่งไฟฟ้า / ระบบติดตามรถประจำทาง รถบริการ รถโดยสาร เพื่อให้ข้อมูลตำแหน่งกับผู้โดยสาร สำหรับการจัดการบริหารเวลาตนเองได้อย่างมีประสิทธิภาพ 

นอกจากนี้ภายในงานยังเปิดให้มีการเยี่ยมชมห้องปฏิบัติการวิจัยและทดสอบของ สวทช. เพื่อให้เกิดการรับรู้ เป็นที่รู้จักในทุกภาคส่วนที่การทำงานเกี่ยวข้องกับ สวทช. มหกรรมรับสมัครงานด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กิจกรรมวิทยาศาสตร์สำหรับเยาวชน และสินค้านวัตกรรมและชุมชน อีกด้วย

ทั้งนี้ งานประชุมวิชาการ สวทช. ประจำปี 2561 (NAC2018) จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 9-13 มีนาคม 2561 ณ อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย จ.ปทุมธานี ผู้สนใจสามารถร่วมงานได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายแต่อย่างใด สอบถามรายละเอียดได้ที่ 02-564-8000 หรือ www.nstda.or.th/nac

10 มีนาคม 2561


บริษัท มีเดีย เน็ทเวิร์ค จำกัด
138, 140 ซอยอนามัย ถนนศรีนครินทร์ แขวงสวนหลวง เขตสวนหลวง กรุงเทพฯ 10250
MEDIA NETWORK Co.,Ltd
138, 140 Soi Anamai Srinakarin Road Suanluang Suanluang Bangkok 10250
Tel. 02 721 4417 Fax. 02 721 5516
E-mail : phototechthailand@gmail.com


ติดต่อโฆษณาหรือข้อมูลเพิ่มเติม
โทร. 02 721 4417 , 097 921 2929 คุณขวัญ

แฟนเพจ Phototech Magazine


ออกแบบโดย touronthai