“รมช.อุตฯ” ลงพื้นที่เยี่ยมชม 2 สถานประกอบการเมืองเพชรบุรี ตอกย้ำมาตรการเสริมแกร่งเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ

5 มีนาคม 2561 รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม  ลงพื้นที่เยี่ยมชมสถานประกอบการในจังหวัดเพชรบุรี ในโอกาสร่วมประชุมคณะรัฐมนตรีนอกสถานที่ ณ จังหวัดเพชรบุรี ระหว่างวันที่ 5-6 มีนาคม 2561 เผยเตรียมหารือหัวหน้าส่วนราชการและภาคเอกชนในพื้นที่ภาคกลางตอนล่าง 2 ถึงแนวทางการส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมในพื้นที่ และร่วมหาทางออกปัญหาอุปสรรคในการดำเนินกิจการ พร้อมทั้งเยี่ยมชมกระบวนการผลิต

นายสมชาย  หาญหิรัญ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม  ลงพื้นที่เยี่ยมชมสถานประกอบการในจังหวัดเพชรบุรี พร้อมหารือแนวทางการส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมในพื้นที่ และร่วมหาทางออกปัญหาอุปสรรคในการดำเนินกิจการในลักษณะประชารัฐ เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจในภาคกลางตอนล่าง 2 ประกอบด้วย จังหวัดสมุทรสาคร สมุทรสงคราม เพชรบุรี และประจวบคีรีขันธ์ มีพื้นที่รวมกันประมาณ 13,881 ตารางกิโลเมตร โดยโครงสร้างเศรษฐกิจในพื้นที่ขึ้นอยู่กับภาคการผลิต 4 สาขาหลัก ได้แก่ สาขาเกษตรการเพาะปลูกพืชเศรษฐกิจและการประมง สาขาอุตสาหกรรม สาขาการค้าส่งและการค้าปลีก และสาขาการท่องเที่ยวและบริการ ซึ่งเป็นสาขาที่มีศักยภาพที่สำคัญ เนื่องจากมีสถานที่ที่มีชื่อเสียงทั้งทางทะเล ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และประวัติศาสตร์ ส่วนภาคการเกษตรมีพื้นที่ 3.26 ล้านไร่(คิดเป็น 37.55% ของพื้นที่กลุ่มจังหวัด) ผลผลิตที่สำคัญ คือ สับปะรด มะพร้าว กล้วยหอมทอง ข้าว มะนาว กล้วยไม้  กุ้งทะเล โคเนื้อ และโคนม ทั้งนี้ ในปี 2559 มีค่าเฉลี่ยรายได้ต่อหัวประชาชน (GPP per capital)เฉลี่ยที่ 186,272 บาท /ปี ขณะที่ภาคอุตสาหกรรม โรงงานส่วนใหญ่กระจุกตัวอยู่ที่จังหวัดสมุทรสาคร ทำให้มีรายได้ประชากรต่อหัวสูงสุดอยู่ที่จังหวัดนี้ด้วย เนื่องจากเป็นแหล่งโรงงานอุตสาหกรรม และแหล่งส่งออกอาหารทะเล

สำหรับการลงพื้นที่ในครั้งนี้ได้เข้าเยี่ยมชมสถานประกอบการแห่งแรกที่ บริษัท สุคันธา ไทยสแน็ค จำกัด ซึ่งเป็นผู้ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ขนมขบเคี้ยวภายใต้แบรนด์ "ข้าวตังสุคันธา" โดยบริษัทฯ ได้มีการลงทุนเพื่อเพิ่มกำลังการผลิตและได้มาตรฐานสากลทั้ง GMP, HACCP นอกจากนั้น ยังได้สร้าง Outlet ขึ้นในพื้นที่หน้าโรงงานเพื่อรองรับนักท่องเที่ยวที่จะซื้อข้าวตังเป็นของฝาก และเป็นศูนย์กระจายสินค้า OTOP ในชุมชนด้วย 

สำหรับการเยี่ยมชมสถานประกอบการแห่งที่ 2 รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ได้เดินทางไปที่ยังศูนย์แปรรูปผลผลิตเกษตร กลุ่มแม่บ้านเกษตรกรละหานใหญ่สามัคคี สหกรณ์การเกษตรบ้านลาด จ.เพชรบุรี ซึ่งเป็นการรวมกลุ่มของเกษตรกรใน อ.บ้านลาด ที่ในอดีตต่างประกอบอาชีพทำนา และทำการเกษตรอื่น ๆ แต่ไม่ประสบความสำเร็จเนื่องจากถูกพ่อค้าคนกลางเอาเปรียบ  เกษตรกรเหล่านี้จึงรวมตัวกันจัดตั้งสหกรณ์การเกษตรบ้านลาด จ.เพชรบุรี ขึ้นอย่างเป็นทางการ

ทั้งนี้ ทั้งสองสถานประกอบการได้รับการส่งเสริมและพัฒนาจากกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) และสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัด (สอจ.) ในด้านการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขัน อาทิ การพัฒนาคลัสเตอร์อาหาร OPOAI การยกระดับผลิตภัณฑ์ OTOP การเสริมสร้างผู้ประกอบการใหม่ การใช้ IT ในการบริหารจัดการ การต่อยอดธุรกิจผลิตภัณฑ์ใหม่  การสร้างเครือข่ายระหว่างประเทศ และยังได้เข้าร่วมในโครงการบริหารจัดการเกษตรครบวงจร และร่วมโครงการพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการ SMEs และวิสาหกิจชุมชนเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันอย่างยั่งยืน (เน้นกลยุทธ์การตลาด) เป็นต้น

กระทรวงฯอุตสาหกรรม ยังคงเป็นหน่วยงานหลักในการช่วยเหลือและพัฒนาผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) มีเป้าหมายเพื่อยกระดับไปสู่ยุค 4.0 ที่มีศักยภาพ ผ่านมาตรการ 9 มาตรการ เพื่อยกระดับเอสเอ็มอีไทย ซึ่ง 1 ใน 9 มาตรการ คือ การยกระดับเศรษฐกิจฐานชุมชน โดยจะพัฒนาศักยภาพชุมชนค้นหาอัตลักษณ์ชุมชน ทำแผนการพัฒนาและบริหารจัดการอย่างยั่งยืน รวมทั้งผลักดันการแปรรูปผลิตผลการเกษตร ปั้นเอสเอ็มอีเกษตรโดยมีเป้าหมายยกระดับเศรษฐกิจฐานรากชุมชนให้มีรายได้เพิ่มไม่น้อยกว่า 25%ในปีนี้  นายสมชาย กล่าว

ด้านนายกอบชัย  สังสิทธิสวัสดิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กล่าวเสริมว่า กสอ. ยังคงเดินหน้าให้การส่งเสริมพัฒนาเอสเอ็มอีและร่วมในการขับเคลื่อน SMEs อย่างเข้มข้น โดยในช่วงที่ผ่านมา กรมฯ สามารถดำเนินการโครงการต่างๆ ได้ตามเป้าที่ตั้งไว้ ทั้งในส่วนของการสร้างผู้ประกอบการใหม่ การสนับสนุนผู้ประกอบการเดิมมากกว่า 12,000 ราย รวมทั้งเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตอีกกว่า 3,000 กิจการ คิดเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจสูงถึง 8,000 ล้านบาท ซึ่งในส่วนของสถานประกอบการในจังหวัดเพชรบุรีทั้งสองแห่งนี้ กสอ.ร่วมกับ  สอจ.ในการส่งเสริมและพัฒนาด้านการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขัน อาทิ การพัฒนาคลัสเตอร์อาหาร OPOAI การยกระดับผลิตภัณฑ์ OTOP การเสริมสร้างผู้ประกอบการใหม่ การใช้ IT ในการบริหารจัดการ การต่อยอดธุรกิจผลิตภัณฑ์ใหม่ และการสร้างเครือข่ายระหว่างประเทศ

นอกจากนี้ ยังร่วมกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.)โดยกลุ่มอุตสาหกรรมเครื่องจักรกล ในโครงการ Big Brother ซึ่งเป็นผลมาจากการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือโครงการ“ปั้นนักธุรกิจอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูปไทย (SMEs เกษตร) ตามแนวประชารัฐ เมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2561 โดยบริษัท โปรแกรส เทคโนโลยี คอนเซาท์แท็นส์ ซึ่งเป็นเอกชนขนาดใหญ่ได้เข้าไปช่วยติดตั้งตู้อบแห้งระบบลมร้อน 1 เครื่อง เครื่องรีดกล้วย 1 เครื่อง แก่สหกรณ์บ้านลาดซึ่งเป็นรายแรกหลังจากที่ได้มีการลงนามร่วมกัน และได้ทดลองดำเนินการผลิตมาตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคมที่ผ่านมา โดยจะนำผลผลิตการแปรรูปในครั้งนี้นำมามอบให้กับพลเอกประยุทธ์ จันทน์โอชา นายกรัฐมนตรี ในการการประชุมคณะรัฐมนตรีนอกสถานที่ในวันนี้ (5 มี.ค.61) ขณะเดียวกันยังได้มีการประสานไปยังหอการค้าจังหวัด เพื่อให้นำผลผลิตที่ได้ไปจัดจำหน่ายยังตลาดประชารัฐและสามัคคีด้วย

ด้าน นางสาวจุฑารัตน์ ตั้งพาณิชย์ ผู้บริหาร บริษัท สุคันธาไทยสแน็ค จังหวัดเพชรบุรี กล่าวว่า ที่ผ่านมาบริษัทฯ ได้เข้าร่วมการพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการ ผ่านโครงการเสริมสร้างผู้ประกอบการใหม่ (New Entreprenueurs Creation)และเพิ่มพูนศักยภาพการผลิต เพิมพูนศักยภาพการตลาด ผ่านโครงการยกระดับดาวเด่นเอสเอ็มอีไทย(DIP Stars) และโครงการพัฒนาบรรจุภัณฑ์เพื่อสอดคล้องกับตลาดจาก กสอ.จึงทำให้สินค้าของบริษัทฯ เป็นที่รู้จักสามารรถเปิดตลาดใหม่ ๆ ทั้งในและต่างประเทศ  นอกจากนี้บริษัทฯยังได้มีการลงทุนเพื่อเพิ่มกำลังการผลิตและได้มาตรฐานสากลทั้ง GMP, HACCP เป็นการสร้างความน่าเชื่อถือในการส่งออก และยังได้นำเทคโนโลยีในการบรรจุมาช่วยยืดอายุสินค้าสามารถเก็บได้นานถึง 1 ปี

แม้ว่าจะมีอุปสรรคบ้างในแง่ของการเข้าถึงแหล่งเงินทุนที่สถาบันการเงินมักมีกฏเกณฑ์ที่มากเกินไป ปัญหาต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น และปัญหาค่าเงินบาทแข็ง แต่ทางบริษัทก็สามารถรับมือได้ ซึ่งสิ่งที่ทางบริษัทฯ อยากให้ภาครัฐเข้ามาช่วยเหลือ ก็คือ การนำนวัตกรรมมาใช้กับกระบวนการผลิต ที่ปัจจุบันมีแนวคิดแต่ยังไม่สามารถหานักวิจัยมาช่วยต่อยอดแนวคิด เพื่อทำออกมาให้สำเร็จได้นางสาวจุฑารัตน์ ตั้งพาณิชย์ กล่าว

ขณะที่นายศิริชัย จันทร์นาค ผู้จัดการสหกรณ์การเกษตรบ้านลาด จังหวัดเพชรบุรี  กล่าวว่า อยากให้ กสอ.เข้ามาสนับสนุนอุปกรณ์การผลิตและเทคโนโลยีผ่านระบบสหกรณ์ซึ่งมีผู้รับผิดชอบและเป็นองค์กรของเกษตรกรที่ร่วมเป็นเจ้าของ รวมถึงเพิ่มพูนความรู้ให้กับบุคลากรในการพัฒนาด้านอุตสาหกรรมอาหารที่สามารถนำไปต่อยอดธุรกิจสามารถแข่งขันในตลาดได้ โดยเฉพาะผลผลิตที่มีในท้องถิ่น เช่น กล้วยหอม ละมุด ตาลโตนด  มะนาว และผักในท้องถิ่น ซึ่งที่ผ่านมา กสอ.ได้เข้ามาส่งเสริมด้านการสร้างมูลค่าเพิ่มการแปรรูปผลไม้กล้วยหอมทองเป็นกล้วยอบหรือกล้วยอาบแดด โดยการนำงานวิจัยมาประยุกต์ใช้ในเชิงพาณิชย์ และสนับสนุนเครื่องจักรในการแปรรูป ปัจจุบันสหกรณ์ฯ กำลังดำเนินโครงการสนับสนุนกลุ่มสมาชิกสหกรณ์เพื่อนำผลผลิตกล้วยตกเกรดไปแปรรูปเป็นกล้วยกวน(กล้วยหอมทอง) เพื่อเพิ่มมูลค่า

ปัญหาหลักฯ ของสหกรณ์ฯ ก็คือขาดอุปกรณ์และเทคโนโลยีและองค์ความรู้ในการผลิตและการแปรรูปอุตสาหกรรมด้านอาหาร รวมถึงนวัตกรรมใหม่ๆในการผลิต ซึ่งสิ่งเหล่านี้อยากจะขอให้หน่วยงานภาครัฐ เข้ามาช่วยสนับสนุน เพื่อที่จะทำให้การดำเนินธุรกิจของสหกรณ์เป็นไปได้โดยไม่สะดุด สามารถสร้างรายได้ให้กับสมาชิก และทำให้เศรษฐกิจภายในชุมชนโตขึ้นได้ นายศิริชัย จันทร์นาค กล่าว

6 มีนาคม 2561


บริษัท มีเดีย เน็ทเวิร์ค จำกัด
138, 140 ซอยอนามัย ถนนศรีนครินทร์ แขวงสวนหลวง เขตสวนหลวง กรุงเทพฯ 10250
MEDIA NETWORK Co.,Ltd
138, 140 Soi Anamai Srinakarin Road Suanluang Suanluang Bangkok 10250
Tel. 02 721 4417 Fax. 02 721 5516
E-mail : phototechthailand@gmail.com


ติดต่อโฆษณาหรือข้อมูลเพิ่มเติม
โทร. 02 721 4417 , 097 921 2929 คุณขวัญ

แฟนเพจ Phototech Magazine


ออกแบบโดย touronthai