องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก เผยแบรนด์ฟาสต์ฟู้ดชั้นนำมีมาตรฐานสวัสดิภาพไก่อยู่ในระดับต่ำจนน่าตกใจ

องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก ได้จัดทำรายงาน The Pecking Order ปี 2020 เปิดเผยผลการดำเนินการพัฒนามาตราฐานสวัสดิภาพไก่จากร้านอาหารฟาสต์ฟู้ดชั้นนำของโลก ได้แก่ KFC, McDonald’s และ Burger King พบว่าบริษัทเหล่านี้อยู่ในอันดับต่ำกว่ามาตรฐานมาก

รายงาน ‘The Pecking Order’ หรือ “การรายงานมาตรฐานสวัสดิภาพไก่” ภายใต้ปี 2020 ได้นำเสนอผลอันดับความโปร่งใสในการดำเนินงานธุรกิจอาหารฟาสต์ฟู้ดว่ามีการสร้างสวัสดิภาพของไก่ในทั่วโลกเป็นอย่างไร  ผลจากการรายงานพบว่ามีธุรกิจอาหารฟาสต์ฟู้ดชั้นนำหลายแห่งมีการดูแลคุณภาพชีวิตไก่อยู่ในระดับต่ำจนเป็นที่น่ากังวล โดยที่ผู้บริโภคเองก็ไม่ได้รับทราบถึงปัญหาเหล่านี้ รวมถึงไม่สามารถเข้าถึงข้อเท็จจริงว่าเนื้อไก่ที่บริโภคนั้นมีแหล่งที่มาเป็นอย่างไร

องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก (World Animal Protection) ซึ่งเป็นองค์กรไม่แสวงผลกำไรระหว่างประเทศ เผยว่า “เนื้อไก่ที่ได้ถูกนำมาเป็นอาหารเพื่อการบริโภคจากบริษัทฟาสต์ฟู้ดชั้นนำเหล่านี้มีการเลี้ยงดูจากฟาร์มไก่ที่มีสภาพแวดล้อมที่ไม่ได้มาตรฐานและมีชีวิตอยู่อย่างแออัด ไก่เหล่านี้ไม่เคยได้สัมผัสกับแสงแดดจากธรรมชาติ และมีจำนวนไม่น้อยที่ต้องทรมานจากโรคต่างๆ เช่น โรคผิวหนังและขาที่ไม่แข็งแรง เนื่องจากสภาพพื้นที่แออัด ทำให้เกิดการเบียดเสียดแย่งที่อยู่ด้วยกันเอง และยิ่งไปกว่านั้น บริษัทส่วนใหญ่ยังเพิกเฉยที่จะแก้ไขปรับปรุงมาตรฐานในการเลือกซื้อไก่จากฟาร์มที่มีคุณภาพอีกด้วย”

สำหรับการประเมินที่ได้มีการเปิดเผยต่อสาธารณะ จะมีด้วยกันสามด้าน ได้แก่

• ความมุ่งมั่น คือ มีนโยบายที่แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่ามาตรฐานสวัสดิภาพสำหรับไก่มีความสำคัญต่อบริษัทมากน้อยเพียงใด

• วัตถุประสงค์และเป้าหมาย  หมายถึง กรอบการทำงานที่แสดงให้เห็นถึงวัตถุประสงค์ เป้าหมาย และคำมั่นสัญญาของบริษัทที่จะปรับปรุงสวัสดิภาพไก่ รวมไปถึงระยะเวลาที่จะต้องบรรลุผล และ 

• ความโปร่งใสในการรายงานผลของการปฏิบัติงาน และความจริงใจของบริษัทที่จะปฏิบัติตามคำมั่นสัญญาที่ได้ให้ไว้เกี่ยวกับสวัสดิภาพไก่ ​ธุรกิจฟาสต์ฟู้ดที่ได้รับการประเมินในครั้งนี้ ได้แก่ Burger King, Domino’s Pizza Group, Domino’s Inc[1], KFC, McDonald’s, Nando’s, Pizza Hut, Starbucks และ Subway

​ผลของการจัดอันดับเผยว่า “บริษัท Domino’s Inc ธุรกิจร้านอาหารพิชซ่า ได้รับคะแนนต่ำสุด คือ 0 บ่งชี้ให้เห็นว่าบริษัทไม่ได้มีความสนใจในเรื่องสวัสดิภาพไก่เลยแม้แต่น้อย ส่วนฟาสต์ฟู้ดชื่อดังที่เป็นที่ติดหูคนไทย ได้แก่ Burger King, Pizza Hut, Domino’s Plc และ Domino’s Inc ได้ถูกจัดอันดับ “ยอดแย่” ในเรื่องนี้ด้วยเช่นกัน

​อย่างไรก็ตาม มีบริษัททั่วโลก 160 แห่งที่ได้ร่วมลงนามการสร้างพันธะสัญญาการดูแลสวัสดิภาพไก่ (Better Chicken Commitment) และมีธุรกิจฟาสต์ฟู้ดชั้นนำ 9 บริษัทจากในรายงาน มีเพียงแค่ 2 ใน 3 แห่งเท่านั้น ที่ได้มีการลงนามในการดูแลสวัสดิภาพไก่ อย่างไรก็ตามความร่วมมือในเรื่องนี้อยู่แต่แค่ในประเทศสหรัฐอเมริกา แคนาดาและไม่กี่ประเทศในทวีปยุโรป และมีเพียง 5 บริษัทที่มีการรายงานความคืบหน้าในเรื่องมาตรการสวัสดิภาพไก่ในบางประเด็น แต่ไม่มีบริษัทไหนเลยทำการรายงานเกี่ยวกับสวัสดิภาพสัตว์ที่ครอบคลุมทุกด้าน จึงเป็นการยากที่จะให้คะแนนกับมาตรการดังกล่าว

​ส่วนธุรกิจฟาสต์ฟู้ดไก่ชื่อดัง KFC แม้ว่าจะได้รับอันดับ “มีความก้าวหน้า” จากการเข้าร่วม Better Chicken Commitment แล้ว และได้เลื่อนอันดับมาอยู่อันดับที่ 3 จากของเดิมเมื่อปีที่แล้วในอันดับที่ 5 แต่ก็ยังอยู่แค่ในประเทศทวีปยุโรปเท่านั้น ส่วนทวีปอื่นๆ เช่น เอเชีย KFC ไม่ได้แสดงพันธะสัญญาใดๆ เลย

​ส่วนลำดับที่ยอดแย่  ในปีนี้ มี 3 บริษัท ได้แก่ McDonald's, Burger King และ Pizza Hut ที่ถูกปรับลำดับลงมา โดยเฉพาะ Burger King ที่ร่วงไปถึง 30% จากปีพ.ศ.2562

​ในขณะที่คะแนนด้านสวัสดิภาพสำหรับ Starbucks, Subway, Nando’s, Domino’s (PLC) และ Domino’s (Inc) ยังเหมือนเดิม มีเพียง Domino’s (Inc) ที่ยังเป็นเพียงบริษัทเดียวที่ไม่ได้รับคะแนนใด ๆ เลย ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องน่ากังวลมากสำหรับตัวบริษัทเอง นักลงทุน และผู้บริโภค

​มิสเตอร์ Jonty Whittleton, ผู้จัดการแคมเปญนานาชาติ จากองค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลกได้กล่าวว่า “ยังมีไก่อีกนับพันล้านตัวที่ยังคงไม่มีโอกาสที่จะได้เห็นแสงอาทิตย์ หรือได้แสดงออกพฤติกรรมตามธรรมชาติ ในทางกลับกัน ชีวิตของไก่เหล่านี้เต็มไปด้วยความเจ็บปวด ความหวาดกลัว และความเครียด ร้านอาหารฟาสต์ฟู้ดเหล่านี้ควรจะต้องหยุดความทรมานของไก่ที่พวกเขาสร้างขึ้นมาเพียงเพื่อผลกำไรของพวกเขาเอง”

​“เราขอแสดงความยินดีกับ KFC ที่ได้มีความก้าวหน้าในการพัฒนาสวัสดิภาพไก่ใน 6 ประเทศในทวีปยุโรป แต่นี่เป็นเพียงแค่จุดเริ่มต้นเท่านั้น เรายังมีเรื่องที่ต้องทำอีกมาก เพราะยังมีบริษัทอื่นๆ ที่ยังล้าหลังในเรื่องนี้ และบางบริษัทก็ถดถอยไปมากกว่าเดิม เช่น Burger King ซึ่งกำลังได้รับคะแนนเชิงบวกจากเบอร์เกอร์และนักเก็ตที่ปราศจากเนื้อสัตว์ แต่นวัตกรรมเหล่านี้จะต้องไม่ถูกนำมากลบเกลื่อนความทุกข์ทรมานที่เกิดขึ้นกับไก่ด้วย”

​“ตอนนี้ผู้บริโภคได้เริ่มหันมาใส่ใจกับสวัสดิภาพสัตว์เพิ่มมากขึ้นทุกวัน และเราจะยังคงเป็นกระบอกเสียงสำหรับพวกเขา และไก่ เพื่อสร้างแรงกดดันให้บริษัทฟาสต์ฟู้ดเหล่านี้สร้างความเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นให้ได้”

​นางสาวเหมือนดาว คงวรรณรัตน์ ผู้จัดการแคมเปญด้านสวัสดิภาพไก่ จากองค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก ได้ให้ความเห็นว่า “การที่ KFC ได้เริ่มยอมรับในการพัฒนาสวัสดิภาพของไก่ในประเทศฝั่งยุโรปถือเป็นเรื่องที่ดีมากๆ แต่เรายังคงอยากเห็นความมุ่งมั่นที่จะยกระดับคุณภาพชีวิตไก่ในประเทศไทยด้วยเช่นกัน ในฐานะที่ KFC เป็น      แบรนด์ไก่ทอดชั้นนำที่คนไทยชื่นชอบและอยู่กับคนไทยมากว่า 30 ปี KFC ประเทศไทย ไม่ควรนิ่งเฉย  และควรมีนโยบายในการเปิดเผยข้อมูลการจัดหาวัตถุดิบที่มีมาตรฐานด้านสวัสดิภาพสัตว์ต่อผู้บริโภคอีกด้วย เพื่อให้ผู้บริโภคสามารถรับรู้ได้ว่า ไก่ที่พวกเขากินมีแหล่งที่มาเป็นอย่างไร”

รายงาน Pecking Order ปี 2020 จากโครงการ Change for Chickens ฉบับย่อ เนื้อหาและประเด็นที่สำคัญ

​องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลกได้ทำการจัดอันดับเพื่อเป็นส่วนหนึ่งของแคมเปญ Change for Chickens โดยมีเป้าหมายในการเรียกร้องให้อุตสาหกรรมฟาสต์ฟู้ดยุติความทารุนและความทุกข์ทรมานในการผลิตไก่เนื้อทั่วโลก โดยมีการเรียกร้องให้ปรับเปลี่ยนแหล่งผลิตไก่ที่มีมาตรฐานสวัสดิภาพสัตว์ในระดับสูง แทนที่การเลี้ยงในฟาร์มระบบอุตสาหกรรมแบบเดิมๆ

​โครงการรณรงค์ Change for Chickens ขององค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลกได้ผลักดันอุตสาหกรรมอาหารให้ออกมาให้คำมั่นสัญญาที่จะเปลี่ยนแปลงนโยบายในระดับโลก เพื่อยกระดับสวัสดิภาพสำหรับไก่นับพันล้านตัว บริษัทจะได้รับความคาดหวังในด้านต่างๆ โดยเฉพาะ:

• การเลือกใช้สายพันธุ์ไก่ที่เติบโตช้าลง และแข็งแรง

• การสร้างหลักประกันว่าไก่จะมีพื้นที่เพียงพอที่จะแสดงออกพฤติกรรมตามธรรมชาติ และจะต้องไม่มีการใช้กรงขัง

• เปิดโอกาสให้ไก่ได้แสดงออกพฤติกรรมตามธรรมชาติ ด้วยการปรับปรุงสภาพแวดล้อมในที่เลี้ยง ยกตัวอย่างเช่นการมีคอนให้เกาะ และมีวัสดุให้ไก่จิกเขี่ยได้ การได้รับแสงตามธรรมชาติ รวมไปถึงการใช้วัสดุรองพื้นที่มีความเหมาะสม

• มีมาตรการที่จะรับรองได้ว่าไก่จะถูกฆ่าด้วยวิธีการที่มีมนุษยธรรม หลีกเลี่ยงการแขวนราวทั้งที่ยังมีชีวิตอยู่ และไก่ทั้งหมดจะต้องถูกทำให้สลบก่อนเข้าสู่กระบวนการฆ่า

​ปัจจุบันนี้ เป็นที่ประมาณการกันว่า ในแต่ละปีจะมีไก่ราว 4 หมื่นล้านตัวที่ต้องใช้ชีวิตอยู่ด้วยความทรมานในฟาร์มเลี้ยงไก่แบบระบบอุตสาหกรรม ไก่จะมีชีวิตอยู่เพียงประมาณ 40 วันก่อนที่จะเข้าสู่กระบวนการ และจะต้องอยู่ในโรงเรือนที่แออัด มืด แสงแดดธรรมชาติเข้าไม่ถึง รวมถึงมีสภาพแวดล้อมที่ย่ำแย่ พวกมันถูกเลี้ยงมาโดยที่ไม่คำนึงถึงการเป็นสิ่งมีชีวิตที่หายใจได้ มีความอยากรู้อยากเห็น และมักจะถูกคัดเลือกสายพันธุ์ให้มีการเติบโตอย่างผิดธรรมชาติ ซึ่งส่งผลเสียต่อการทำงานของหัวใจ ปอด และขา ไก่เหล่านี้จึงใช้เวลาตลอดทั้งชีวิตอยู่ด้วยความเจ็บปวด ทรมานจากโรคผิวหนัง หรือแม้แต่เกิดอาการหัวใจวายได้

​บริษัทผู้ผลิตอาหารเลือกที่จะปิดหูปิดตาจากความโหดร้ายเหล่านี้  ดังนั้น องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก จึงมีการจัดทำการประเมิน ‘The pecking order’ เป็นประจำทุกปี เพื่อเฝ้าติดตามความคืบหน้าของแบรนด์ฟาสต์ฟู้ดยักษ์ใหญ่ของโลก เราหวังเป็นอย่างยิ่งว่าการจัดอันดับครั้งต่อไปในอนาคต เราจะได้เห็นบริษัทที่มีบทบาทเป็นผู้นำในการพัฒนาเพื่อสวัสดิภาพสำหรับไก่ในระดับที่ดียิ่งขึ้นไป

 

สรุปผลการรายงาน Pecking Order 2020

​จากรายงาน Pecking Order 2020 เรามีทั้งเรื่องน่ายินดีและน่าเป็นห่วงในเวลาเดียวกัน กล่าวคือ KFC ได้เลื่อนขึ้นมาอยู่ลำดับที่ 3 (Tier 3) จากลำดับที่ 5 (Tier 5) สืบเนื่องมาจากการตระหนักรู้เรื่องสวัสดิภาพสัตว์ของบริษัทฟาสต์ฟู้ดต่าง ๆ ใน 6 ประเทศทั่วทวีปยุโรปที่เพิ่มสูง

​อย่างไรก็ตาม ในปีนี้ มี 3 บริษัท ได้แก่ McDonald's, Burger King และ Pizza Hut ที่ถูกปรับลำดับลงมา โดยเฉพาะ Burger King ที่ร่วงไปถึง 30% จากปี พ.ศ.2562

​ในขณะที่คะแนนด้านสวัสดิภาพสำหรับ Starbucks, Subway, Nando’s, Domino’s (PLC) และ Domino’s (Inc) ยังเหมือนเดิม มีเพียง Domino’s (Inc ที่ยังเป็นเพียงบริษัทเดียวที่ไม่ได้รับคะแนนใด ๆ เลย ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องน่ากังวลมากสำหรับตัวบริษัทเอง นักลงทุน และผู้บริโภค

 

[1] Domino’s Pizza Group เป็นเจ้าของแฟรนไชส์ Domino’s Pizza ภาคพื้นยุโรป และดำเนินธุรกิจในสหราชอาณาจักร ในขณะที่ Domino’s Inc ดำเนินธุรกิจในประเทศสหรัฐอเมริกา

Notes to editors

เกี่ยวกับองค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก

​องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก (World Animal Protection เดิมเป็นที่รู้จักกันในนาม World Society for the Protection of Animals) ได้เป็นแรงขับเคลื่อนให้โลกของเราหันมาปกป้องสวัสดิภาพสัตว์ตลอดระยะเวลา 50 ปีที่ผ่านมา องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลกมุ่งมั่นที่จะทำให้สัตว์ทั้งหลายมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น กิจกรรมของเรารวมไปถึงการทำงานร่วมกับบริษัทต่างๆ เพื่อสร้างหลักประกันด้านสวัสดิภาพสัตว์ในระดับสูงสำหรับสัตว์ที่อยู่ภายใต้การดูแลของพวกเขา เราร่วมงานกับรัฐบาล และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องอื่นๆ เพื่อป้องกันไม่ให้สัตว์ป่าถูกนำมาใช้ประโยชน์ทางการค้า ถูกดักจับ หรือแม้แต่ถูกฆ่าอย่างโหดร้าย เราได้ช่วยปกป้องชีวิตของสัตว์ รวมไปถึงคุณภาพชีวิตของผู้คนซึ่งต้องพึ่งพิงสัตว์เหล่านั้นในการดำรงชีวิตในยามที่เกิดภัยธรรมชาติ

​องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลกได้โน้มน้าวผู้มีอำนาจตัดสินใจ ให้รวมสัตว์ต่างๆ เข้าเป็นส่วนหนึ่งในการกำหนดนโยบายของโลก และสร้างแรงบันดาลใจให้ผู้คนออกมาปกป้องสัตว์ และเปลี่ยนแปลงชีวิตสัตว์ไปในทางที่ดีขึ้น ข้อมูลขององค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลกสามารถอ่านเพิ่มเติมได้ที่: www.worldanimalprotection.org 

ร่วมลงชื่อเพื่อสนับสนุนโครงการ https://www.worldanimalprotection.or.th/change-for-chickens

อ่านรายงานเพิ่มเติม https://www.worldanimalprotection.or.th/pecking-order-2020

17 มกราคม 2563


บริษัท มีเดีย เน็ทเวิร์ค จำกัด
138, 140 ซอยอนามัย ถนนศรีนครินทร์ แขวงสวนหลวง เขตสวนหลวง กรุงเทพฯ 10250
MEDIA NETWORK Co.,Ltd
138, 140 Soi Anamai Srinakarin Road Suanluang Suanluang Bangkok 10250
Tel. 02 721 4417 Fax. 02 721 5516
E-mail : phototechthailand@gmail.com


ติดต่อโฆษณาหรือข้อมูลเพิ่มเติม
โทร. 02 721 4417 , 097 921 2929 คุณขวัญ

แฟนเพจ Phototech Magazine


ออกแบบโดย touronthai