ลุยเดินหน้าขับเคลื่อนเมืองอัจฉริยะ เปิดตัวโลโก้ Smart City Thailand พร้อมรับสมัครเมืองทั่วประเทศมาพัฒนาเป็นเมืองอัจฉริยะต้นแบบ

11 มีนาคม 2562 - สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa) ร่วมกับสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) และสำนักนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) จัดงาน “Smart City Thailand Takeoff” ณ ห้องบอลรูม โรงแรมพาร์ค ไฮแอท กรุงเทพฯ  โดยมีรองนายกรัฐมนตรี พลอากาศเอกประจิน จั่นตอง เป็นประธาน โดยงานนี้จัดใหญ่อลังการ ประกาศเกณฑ์การพิจารณาเมืองอัจฉริยะ เปิดตัวตราสัญลักษณ์ Smart City Thailand รวมถึงรับสมัครเมืองเดิม เมืองใหม่ทั่วประเทศมาพัฒนาเป็นเมืองอัจฉริยะต้นแบบ 7 ด้าน ได้แก่ Smart Economy, Smart Mobility, Smart Energy, Smart Living, Smart People, Smart Governance และ Smart Environment นอกจากนี้ ยังได้เตรียมความพร้อมจัดงานเมืองอัจฉริยะอาเซียนตลอดปี ชู Smart City เป็นวาระหลักรับไทยเป็นประธานอาเซียนในปีนี้

พลอากาศเอกประจิน จั่นตอง 

รองนายกรัฐมนตรี และประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ

พลอากาศเอกประจิน จั่นตอง เปิดเผยว่า รัฐบาลมุ่งมั่นจะนำประเทศสู่การเป็นประเทศรายได้สูงที่ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดี ความเหลื่อมล้ำน้อย ความเจริญกระจายไปทั่วประเทศ และต้องใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเป็นเครื่องมือสำคัญในการดำเนินการ โดยหนึ่งในวาระเร่งด่วนคือการพัฒนาเมืองอัจฉริยะไปทั่วประเทศ ทั้งกลุ่มเมืองเดิมที่ต้องปรับปรุงให้น่าอยู่ และอัจฉริยะมากขึ้น และกลุ่มเมืองใหม่ที่จะต้องออกแบบให้สมบูรณ์ ทันสมัยด้วยเทคโนโลยีอัจฉริยะ  ตามลักษณะของเมืองอัจฉริยะ 7 ด้าน ตั้งแต่เศรษฐกิจอัจฉริยะ (Smart Economy) ขนส่งอัจฉริยะ (Smart Mobility) พลังงานอัจฉริยะ (Smart Energy) สิ่งแวดล้อมอัจฉริยะ (Smart Environment) การดำรงชีวิตอัจฉริยะ (Smart Living) พลเมืองอัจฉริยะ (Smart People) การบริหารภาครัฐอัจฉริยะ (Smart Governance) โดยประเทศไทยมีเป้าหมายเมืองอัจฉริยะคือ ในปีแรกที่ผ่านมา ได้นำร่องเมืองอัจฉริยะ 7 จังหวัด 10 พื้นที่ ได้แก่ ภูเก็ต เชียงใหม่ ขอนแก่น กรุงเทพฯ ชลบุรี ระยอง ฉะเชิงเทรา ไปแล้ว ปีที่ 2 (2562) จะขยายไปสู่ 24 จังหวัด 30 พื้นที่ และภายใน 5 ปี (2563-2565) จะขยายไปทั่วประเทศ 76 จังหวัดและ กทม. 100 พื้นที่

ดร.ไพรินทร์  ชูโชติถาวร

รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม

สำหรับกลไกการทำงานที่จะบรรลุเป้าหมายเกิดขึ้นจริง ดร.ไพรินทร์  ชูโชติถาวร กล่าวว่า รัฐบาลได้ตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนการพัฒนาเมืองอัจฉริยะที่รวมทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและผู้เชี่ยวชาญ โดยมีกระทรวงคมนาคม กระทรวงพลังงาน และกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมเป็นเลขานุการร่วม เพื่อมาออกแบบกลไกขับเคลื่อน ผลักดันโครงการ รวมถึงติดตามความก้าวหน้าเมืองอัจฉริยะประเทศไทย โดยใน 1-2 ปีแรกใช้กลไกนำร่องโดยหน่วยงานรัฐ เอกชนที่มีความพร้อมก่อน เช่นในพื้นที่ ภูเก็ต ขอนแก่น ศูนย์พหลฯของกรุงเทพ และ EEC ส่วนเริ่มจากปีที่ 2 นี้จะใช้กลไกเปิดรับสมัครเมืองทั่วประเทศมาพัฒนาเป็นเมืองอัจฉริยะ ซึ่งคณะกรรมการฯ ได้จัดทำเกณฑ์การพิจารณาเมืองอัจฉริยะ 5 ข้อ คือ 1. ต้องกำหนดพื้นที่และเป้าหมายชัดเจน 2. ต้องมีแนวทางพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเมือง 3. ต้องมีระบบจัดเก็บและบริหารข้อมูลเมืองที่ปลอดภัย 4. ต้องมีบริการเมืองอัจฉริยะตามลักษณะ 7 ด้าน และ 5. ต้องมีการบริหารจัดการที่ยั่งยืน  และได้ประกาศเกณฑ์ดังกล่าวในวันนี้ พร้อมรับสมัครเมืองเดิม เมืองใหม่ทั่วประเทศมาพัฒนาเป็นเมืองอัจฉริยะต้นแบบ 7 ด้าน ซึ่งหากคณะกรรมการฯ พิจารณาเห็นชอบแผนการดำเนินงานที่ครบถ้วนตามเกณฑ์ เมืองก็จะได้รับตราสัญลักษณ์ Smart City และสามารถไปขอรับสิทธิประโยชน์ส่งเสริมการลงทุนจาก BOI ต่อไปได้

ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ 

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม

นอกจากนี้ ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ ใช้โอกาสในการเปิดตัว Smart City วันนี้ ย้ำความสำเร็จของโครงการนำร่องใน 7 จังหวัดที่ได้เริ่มดำเนินการไปแล้ว และขอแรงหน่วยงานรัฐ เอกชน ประชาชน สื่อมวลชนมาช่วยงานเมืองอัจฉริยะอาเซียน (ASEAN Smart Cities Network) ตั้งแต่มิถุนายน-สิงหาคม 2562  ซึ่งเป็นซีรีส์ของกิจกรรมด้านเมืองอัจฉริยะที่ยิ่งใหญ่ที่สุดด้วยเครือข่ายเมืองอาเซียน 26 เมือง ร่วมกับเมืองอื่นทั่วโลก และเอกชนรายใหญ่ของโลกมาร่วมแสดงศักยภาพเมืองอัจฉริยะในประเทศไทย ตอบสนองเจตนารมณ์ของนายกรัฐมนตรีที่จะชู Smart City เป็นวาระเด่นรับการที่ไทยเป็นประประธานอาเซียนในปีนี้ รวมถึงไทยจะผลักดันเกณฑ์การเป็นเมืองอัจฉริยะ วิธีการและกระบวนการการทำงาน พร้อมคู่มือ ไปสู่อาเซียนในเวทีนี้ เพื่อใช้เป็นไกด์ไลน์ในการขับเคลื่อนเมืองอัจฉริยะอาเซียนต่อไป

ดร.ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ 

ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa)

ปิดท้ายด้วย ดร.ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการฯ ร่วมกับ สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) และสำนักนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) กล่าวว่า ประเทศไทยพร้อมแล้วที่จะเป็นผู้นำด้านเมืองอัจฉริยะ โดยที่ผ่านมานำร่องก่อนโดยหน่วยงานรัฐ หรือเอกชน แต่วันนี้เมืองที่มีความพร้อมสามารถมาสมัครขอเป็นเมืองอัจฉริยะได้เอง โดยจะตั้งสำนักงานเมืองอัจฉริยะประเทศไทย (Smart City Thailand Office) ภายใต้การกำกับดูแลของคณะกรรมการฯ ที่ตึกลาดพร้าวฮิลล์ ห้าแยกลาดพร้าว พร้อมอำนวยความสะดวกทุกอย่างให้การพัฒนาเมืองอัจฉริยะเป็นไปอย่างราบรื่น 

11 มีนาคม 2562


บริษัท มีเดีย เน็ทเวิร์ค จำกัด
138, 140 ซอยอนามัย ถนนศรีนครินทร์ แขวงสวนหลวง เขตสวนหลวง กรุงเทพฯ 10250
MEDIA NETWORK Co.,Ltd
138, 140 Soi Anamai Srinakarin Road Suanluang Suanluang Bangkok 10250
Tel. 02 721 4417 Fax. 02 721 5516
E-mail : phototechthailand@gmail.com


ติดต่อโฆษณาหรือข้อมูลเพิ่มเติม
โทร. 02 721 4417 , 097 921 2929 คุณขวัญ

แฟนเพจ Phototech Magazine


ออกแบบโดย touronthai