โครงการชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี จังหวัดจันทบุรี VIII

31. บ้านเนิน หมู่ ๑ ตำบลบางสระเก้า อำเภอแหลมสิงห์ จังหวัดจันทบุรี

“เสื่อกกมากลาย หลากหลายขนมจาก ของฝากจากคลอง”

ประวัติความเป็นมา

“บ้านเนิน” เป็นชื่อชุมชนเล็กๆ ชุมชนหนึ่งของตำบลบางสระเก้า เรียกกันตามลักษณะนามของพื้นที่ซึ่งมีลักษณะเป็นพื้นที่เนินราบและอยู่สูงกว่าชุมชนอื่นๆ ที่อยู่ในตำบล ได้ยกฐานะการปกครองขึ้นเป็นหมู่บ้านในช่วงระหว่างปี พ.ศ. ๒๔๗๓-๒๔๗๙ (ไม่ทราบแน่ชัด) ได้มีเรื่องเล่าสืบทอดกันมาจากรุ่นปู่ ย่า ตา ยายว่าก่อนที่ชาวบ้านจะเข้ามาตั้งรกรากถิ่นฐาน พื้นที่นี้เป็นป่าและมีสัตว์ป่าอาศัยอยู่มากโดยเฉพาะช้างป่าอาศัยรวมกันอยู่หลายโขลงหากินอยู่ในพื้นที่แห่งนี้ มีหลักฐานอ้างอิงไว้ คือแหล่งน้ำเนื่องด้วยช้างป่าที่ออกหากินรวมกันเป็นจำนวนมากนอนเกลือกกลิ้งทำให้ดินบริเวณนั้นเกิดเป็นหลุมใหญ่ เมื่อฝนตกลงมาเลยกลายเป็นแหล่งกักเก็บน้ำที่เรียกว่า “สระ” ทำให้ช้างได้มีน้ำไว้ดื่มกินและลงไปนอนแช่เล่น เมื่อนานเข้าทำให้สระมีขนาดใหญ่และลึกมากข้น มีจำนวนถึง ๙ สระกระจายอยู่ทั่วพื้นที่ของตำบล ชาวบ้านนำเอาสระทั้ง ๙ มาตั้งเป็นชื่อเรียกหมู่บ้านในขณะนั้นว่า “บ้านบางสระเก้า” นอกจากสระน้ำแล้วยังมีสถานที่อันเกี่ยวข้องกับช้างอีกเช่น คลองช้าง เป็นคลองเล็กๆ แยกเข้ามาจากลำคลองสายหลักที่ไหลผ่านหมู่บ้าน ซึ่งสันนิษฐานว่าเป็นเส้นทางเดินของช้างที่ใช้ข้ามคลองสายหลัก เพื่อหาอาหารกินเป็นประจำจนกลายเป็นคลองในเวลาต่อมา ปัจจุบันสระหลายสระถูกกลบไปแล้วยังเหลืออยู่ที่บริเวณวัดบางสระเก้า

ศูนย์การเรียนรู้บ้านเนิน

ฟังเรื่องเล่าบางสระเก้า จากปราชญ์ชาวบ้าน

ร่องน้ำกิจจาทร

ชมวิว นาบัว เพลินๆ สบายตา สบายใจ

ป่ามะนาว

เดินชมป่ามะนาวแวะชิมรสชาติเปรี้ยว คั้นสดๆ จากต้น 

ชมชิมมะพร้าวอ่อน

มะพร้าวบางสระเก้าขึ้นชื่อ ทั้งหอม ทั้งหวาน ลองแล้วจะติดใจ พร้อมทั้งเพลิดเพลินเดินชมป่ามะพร้าว แวะ เช็คอิน และถ่ายภาพ

ชมการทอเสื่อกก

ชมหัตถกรรมพื้นถิ่น เสื่อกกที่ดีมีความสวยและคงทน ที่เป็นผลิตภัณฑ์หลักของหมู่บ้าน

งานกระเป๋าทำมือ

กระเป๋าทำมือถักทอจากวัสดุในท้องถิ่น

สาธิตการทำเหละ

ชมสาธิตงอบใบจาก ภาษาถิ่นที่นี่เรียกว่า เหละ ที่มีที่ตำบลนี้เท่านั้น

ชมโรงสีข้าวชุมชน

โรงสีข้าวเก่าแก่ของชุมชน สมกับคำโบราณที่ว่า “ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว แผ่นดินของเรา ช่างแสนอุดมสมบูรณ์”

ผลิตภัณฑ์

เสื่อกก  กะปิ   กุ้งแห้ง  ขนมมัดใต้   ไข่เค็ม   ปลาเค็มแดดเดียว  กล้วยอบตากแห้ง   งอบใบจาก(เหละ)  ตะกร้ากระเป๋าทำจากหนังเทียม  พวงกุญแจที่ระลึก

ข้อมูลติดต่อ

บ้านเนิน หมู่ ๑ ตำบลบางสระเก้า อำเภอแหลมสิงห์ จังหวัดจันทบุรี

คุณสายเมฆ ใจชื่น โทร. ๐๘๕ ๓๙๑ ๗๐๑๐

32. บ้านกลาง  หมู่ ๒ ตำบลบางสระเก้า อำเภอแหลมสิงห์ จังหวัดจันทบุรี

“เข้าวัดไหว้พระ ดูสระในตำนาน เล่าขานโพธิ์พันปี ของดีสี่มุมเมรุ”

ประวัติความเป็นมา

เดิมพื้นที่หมู่บ้านเป็นป่าอันอุดมสมบูรณ์ มีทั้งป่าชายเลนและป่าไม้เบญจพรรณ เป็นแหล่งอาศัยหากินของโขลงช้างป่า จากหลักฐานและการเล่าต่อกันมา มีสระน้ำที่เกิดจากการนอนเกลือกกลิ้งของช้างซึ่งมีอยู่ ๒ สระด้วยกัน ชาวบ้านเรียกสระน้ำนี้ว่า สระหน้าโบสถ์ (ปัจจุบันมีการอนุรักษ์ไว้ส่วนหนึ่ง เป็นบ่อน้ำใช้ในวัด) และสระตาอ๋อ (พื้นที่บริเวณนี้ ในเวลาต่อมาได้ถวายเป็นของวัดและถูกถมกลบไปแล้ว) ซึ่งสระเหล่านี้ เป็นหลักฐานและเป็นที่มาของชื่อ ตำบลบางสระเก้า และด้วยตามลักษณะของพื้นที่มีหมู่บ้านอื่นล้อมรอบ จึงมีชื่อว่า บ้านกลาง หมู่ ๒

            ในอดีตพื้นหมู่บ้านอุดมสมบูรณ์ไปด้วยป่าชายเลน สัตว์ป่า และสัตว์น้ำนานาชนิด มีการสันนิษฐานว่าชาวชองเป็นผู้ที่เข้ามาสร้างหลักปักฐานอยู่ในพื้นที่ ติดต่อค้าขายกับชาวจีน ชาวญวนและคนไทยจากภาคใต้โดยอาศัยการเดินทางด้วยเรือเป็นหลัก ด้วยลักษณะพื้นที่มีความเหมาะสมและสะดวกในการจอดเรือสินค้า  จากการติดต่อค้าขายก่อให้เกิดความสัมพันธ์ สร้างหลักปักฐาน ทำมาหากินสร้างครอบครัว ขยายเป็นชุมชนใหญ่โตขึ้น จนมาถึงปัจจุบัน

            บ้านกลางเป็นหมู่บ้านที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ตอนกลางของตำบล โดยบรรพบุรุษเห็นว่าพื้นที่ตอนกลางของตำบล ควรจะเป็นที่รวมใจของคนในตำบลได้ การเดินทางของหมู่บ้านอื่นก็ไม่ได้ไกลนัก จึงได้สร้างวัดและโรงเรียนขึ้นเป็นศูนย์กลางของตำบล เป็นที่ตั้งของคำว่า บวร คือ บ้าน วัด และโรงเรียน

ไหว้พระ ดูสระ

ของดีมีอยู่ใน “วัดบางสระเก้า” กราบสักการะหลวงพ่อเต่า ที่ศาลาบูรพาจารย์ และชมสระน้ำในตำนานโบราณ สระที่ ๙ ที่อยู่คู่กับตำบลบางสระเก้ามาช้านาน

บ้านทอเสื่อ

ของดีขึ้นชื่อ “เสื่อจันทบูร” แวะมาชมกรรมวิธีการผลิตตั้งแต่ต้นจนถึงขั้นตอนสุดท้าย จากวัตถุดิบธรรมชาติ กลายมาเป็นเป็นผลิตภัณฑ์ทรงคุณค่า

ตลาดสี่มุมเมรุ

แหล่งของฝากนักช้อป ทั้งอาหารทะเลสด แห้ง และแปรรูป เหมาของอร่อยก่อนกลับ ทั้งทานเองและซื้อเป็นของฝาก

ศูนย์ศิลป์เสื่อ

 จุดแสดงสินค้า ผลิตภัณฑ์เสื่อกกมากมายหลากหลายแบบ ทั้งแบบเต็มผืน และแบบแปรรูป อาทิ หมวก กระเป๋า

ผลิตภัณฑ์

เสื่อกก  น้ำพริกแกง  สละลอยแก้ว  ขนมมัดใต้   กะปิ   กล้วยฉาบ   แกงเป็ด   ชาถั่งเช่าสีทอง   กาแฟโบราณ  ข้าวเหนียวเหลืองหน้ากุ้ง

ข้อมูลติดต่อ

บ้านกลาง  หมู่ ๒ ตำบลบางสระเก้า อำเภอแหลมสิงห์ จังหวัดจันทบุรี

คุณชาตรี  พลอยศิริ   โทร. ๐๙๘ ๙๓๐ ๖๒๓๑

33. บ้านเนินกลาง หมู่ ๓ ตำบลบางสระเก้า อำเภอแหลมสิงห์ จังหวัดจันทบุรี

“คลุมเหละ ล่องเรือ ทอเสื่อ งมกุ้ง”

ประวัติความเป็นมา

เดิมพื้นที่หมู่บ้านเป็นป่าอันอุดมสมบูรณ์ มีทั้งป่าชายเลนและป่าไม้เบญจพรรณ เป็นแหล่งอาศัยหากินของโครงช้างป่าจากหลักฐานและการเล่าต่อกันมา มีสระน้ำที่เกิดจากการนอนเกลือกกลิ้งของช้าง ซึ่งชาวบ้านเรียกสระน้ำนี้ว่า “สระยายจ๋วน” เพราะอยู่ติดหรืออยู่ใกล้กับบ้านของยายจ๋วน ปัจจุบันนี้สระได้ถูกถมกลบไปแล้ว “สระยายจ๋วน” เป็นหนึ่งในสระเก้าสระ ที่เป็นที่มาของชื่อตำบลบางสระเก้า และด้วยตามลักษณะของพื้นที่ ที่เป็นที่เนินราบ และอยู่ระหว่างกลางของบ้านกองหินกับบ้านกลาง ชาวบ้านจึงเรียกชื่อหมู่บ้านนี้ว่า“บ้านเนินกลาง”

            ในอดีต พื้นที่หมู่บ้านอุดมสมบูรณ์ไปด้วยป่าชายเลน สัตว์ป่าและสัตว์น้ำนานาชนิด มีการสันนิษฐานว่าชาวชองเป็นผู้ที่เข้ามาสร้างรกรากปักฐานอยู่ในพื้นที่ติดต่อค้าขายกับชาวจีน ชาวญวน และคนไทยจากภาคใต้ โดยอาศัยการเดินทางด้วยเรือเป็นหลัก ด้วยลักษณะพื้นที่มีความเหมาะสมและสะดวกในการจอดเรือสินค้าจากการติดต่อค้าขายก่อให้เกิดความสัมพันธ์สร้างรกรากปักฐาน ทำมาหากิน สร้างครอบครัว ขยายเป็นชุมชนใหญ่โตขึ้น จนมาถึงปัจจุบัน

ศูนย์การเรียนรู้บ้านเนินกลาง

ฟังปราชญ์ชาวบ้านเล่า ของดี ของเด่น บ้านบางสระเก้า พร้อมแวะจุดเช็คอินห้ามพลาดบริเวณศาลาไม้ไผ่ริมคลอง ชมวิวป่าต้นจากไกลสุดลูกหูลูกตา

ขนมควยลิง

ขนมชื่อแปลกและเป็นขนมโบราณที่ทำจากแป้งข้าวเหนียวปั้นเป็นแท่งเล็กๆ รีๆ ต้มในน้ำเดือด แล้วนำขึ้นมากับคลุกมะพร้าวและน้ำตาล ซึ่งถ้าได้เห็นหน้าตาของขนมแล้ว คงพอเดาได้ถึงที่มาของชื่อ และยังมี ขนมต้มแดง และต้มขาว ให้ได้ชิมกันอีกด้วย

ทอเสื่อ สานข้อง

ชมวิถีชีวิตชุมชนคนน้ำตื้น ถักทอหัตถกรรมพื้นบ้านสืบสานภูมิปัญญาท้องถิ่นโดยเฉพาะข้องที่เป็นอุปกรณ์ใส่ปลาที่ได้จากการทำประมง เป็นเครื่องจักสานชนิดหนึ่งสานด้วยผิวไม้ไผ่ ใช้สำหรับใส่ ปลา ปู กุ้ง หอย กบ เขียด

แส้ตียุง ชาสมุนไพร

ชมวิธีทำแส้ตียุงจาก “งวงจาก” ซื้อเป็นของฝากติดไม้ติดมือกลับบ้านและชมการสาธิตวิธีทำเครื่องดื่มชาสมุนไพรพื้นถิ่น พร้อมดื่มให้ชื่นใจ

ขนมตาล ขนมตะไล

แวะชิมขนมหวานขึ้นชื่อ ทั้งขนมตาลที่ทำจากลูกตาล และขนมตะไล หรือขนมถ้วยตะไล ที่ทำจากน้ำตาลโตนด กะทิ เกลือ และน้ำอ้อยคั้นสด ซึ่งคนภาคกลางมักจะเรียกว่า ขนมถ้วย

ผลิตภัณฑ์

เสื่อกก   กะปิ   น้ำพริกแกง   ถั่วลิสงต้ม   กุ้งแห้ง  งอบ  ตะข้อง   ไม้ตียุง  ลูกประคบสมุนไพร   ชาสมุนไพร

ข้อมูลติดต่อ

บ้านเนินกลาง หมู่ ๓ ตำบลบางสระเก้า อำเภอแหลมสิงห์ จังหวัดจันทบุรี

คุณมาลัย  สุขสิงห์    โทร. ๐๘๗ ๗๖๖ ๐๕๐๖

34. บ้านกองหิน หมู่ ๔ ตำบลบางสระเก้า อำเภอแหลมสิงห์ จังหวัดจันทบุรี

“ไหว้พระ ชมตะกาดป่า พาชิมหอย”

ประวัติความเป็นมา

       เดิมทีหมู่บ้านมีชื่อเรียกอย่างเป็นทางการว่า “บ้านล่าง” แต่ต่อมาได้มีการเปลี่ยนชื่อหมู่บ้านเป็น “บ้านกองหิน” เพราะในยุคสมัยนั้น มีผู้ใหญ่บ้านที่ได้รับการเลือกตั้งติดต่อกันหลายสมัย อาศัยอยู่ที่บ้านกองหินที่มาของชื่อบ้านกองหิน เนื่องจากมีกองหินดาดอยู่ในลำคลองติดกับหมู่บ้าน ๓ จุดใหญ่ๆ คือ จุดแรก อยู่ตรงบ้านนายเกตุ ไสยวรรณ จุดที่สองอยู่ตรงกับบริเวณบ้านนายสำอาง สมานพรรค และจุดสุดท้ายอยู่ตรงบริเวณท่าช้าง ซึ่งเป็นเขตติดต่อกับพื้นที่หมู่ ๕ บ้านแถวนา แต่ในปัจจุบัน คนส่วนใหญ่ในตำบลยังนิยมเรียกชื่อเดิมคือ “บ้านล่าง” เนื่องจากเมื่อพ้นเขตหมู่บ้านไปทางตะวันตก ก็จะเป็นปากแม่น้ำจันทบุรี จึงถือกันว่าเป็นหมู่บ้านที่อยู่ล่างท้ายสุดของตำบล

ในอดีตพื้นที่หมู่บ้านอุดมไปด้วยป่าชายเลน สัตว์ป่าและสัตว์น้ำนานาชนิด มีการสันนาฐานว่า ชาวชองเป็นผู้ที่เข้ามาสร้างรกรากปักฐานอยู่ในพื้นที่ ติดต่อค้าขายกับชาวจีน ชาวญวน และคนไทยจากภาคใต้ โดยอาศัยการเดินทางด้วยเรือเป็นหลัก ด้วยลักษณะพื้นที่ที่มีความเหมาะสมและสะดวกในการจอดเรือสินค้าจึงมีท่าจอดเรือในสมัยนั้นถึง ๓ จุดด้วยกัน คือท่าตาลิ ท่าพลับ และท่ายายจาง จากการติดต่อค้าขายก่อให้เกิดความสัมพันธ์ สร้างรกรากปักฐานทำมาหากิน สร้างครอบครัว ขยายเป็นชุมชนใหญ่โตขึ้น จนมาถึงปัจจุบัน

ไหว้หลวงพ่อหินแก้ว

แวะสักการะหลวงพ่อหินแก้ว พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ประจำหมู่บ้าน ซึ่งชาวบ้านบอกต่อกันว่าศักดิ์สิทธิ์นักแล

ทอเสื่อ

หัตกรรมของคนในพื้นที่ จากวัตถุดิบธรรมชาติในชุมชนที่มีอยู่อย่างล้นหลาม ทั้งกก และปอ กลายเป็นผลิตภัณฑ์งานฝีมือของคนในชุมชน

ทำเหละ

เหละ คือ งอบ หรือหมวกใบจาก โดยการนำใบจากมาเย็บเป็นหมวกเพื่อใช้สำหรับคุมแดด กันฝน สามารถระบายความร้อนได้ดี ปีกหมวกด้านข้างมีความกว้าง เพื่อป้องกันกิ่งไม้

ยกยอ

ชมวิถีประมงของชาวบ้านฝั่งคลอง กับการ “ยกยอ” ซึ่ง ยอ คือเครื่องมือจับปลาที่มีลักษณะเป็นร่างแหผืนสี่เหลี่ยม มุมทั้งสี่ผูกติดกับคันสำหรับยก โดยยอขนาดเล็กจะใช้จับปลาตามแหล่งน้ำนิ่งและไม่ลึกแต่ถ้าเป็นยอขนาดใหญ่นิยมใช้ดักปลาในน้ำลึกบริเวณแม่น้ำและลำคลอง

ชมป่าตะกาดใหญ่

ป่ารูปหัวใจซึ่งเป็นแหล่งธรรมชาติอันสมบูรณ์กับพื้นที่ป่าชายเลนกว่า ๑๕๐ ไร่

ชมแปลงหอย

ล่องเรือไปชมแปลงหอยนางรมแล้วร่วมทำกิจกรรมเก็บหอยไปด้วยกันพร้อมชิมหอยนางรมสดๆ กับน้ำจิ้มสูตรเด็ดน้ำพริกระกำรสจัดจ้าน

ผลิตภัณฑ์

เสื่อบุนวมอย่างหนา   เสื่อกกบุฟองน้ำ   ปลานวลจันทร์ไร้ก้างแดดเดียว   เสื่อกกรองจาน   หอยนางรมดองพร้อมทาน        กุ้งแห้ง   ปลาสามรสทรงเครื่อง   หมวกเสื่อกก   ขนมควยลิง   สมุนไพรพื้นบ้านชงดื่มบำรุงสุขภาพ

ข้อมูลติดต่อ

บ้านกองหิน หมู่ ๔ ตำบลบางสระเก้า อำเภอแหลมสิงห์ จังหวัดจันทบุรี

คุณบุญสร้าง  ทองเปรม โทร. ๐๘๙ ๒๔๗ ๗๓๑๙

ฝ่ายประชาสัมพันธ์ คุณธาวิต  สุขสิงห์ โทร. ๐๖๑ ๕๗๒ ๔๑๑๘

35. บ้านล่าง (บ้านแถวนา)  หมู่ ๕ ตำบลบางสระเก้า อำเภอแหลมสิงห์ จังหวัดจันทบุรี

“ตกปลา หาปู ดูเหยี่ยว เที่ยวล่องแพ”

ประวัติความเป็นมา

บ้านล่าง (บ้านแถวนา) เป็นหมู่บ้านเล็ก ๆ เก่าแก่มาแต่โบราณมีอายุประมาณ ๒๐๐ ปีมาแล้ว ผู้คนกลุ่มแรกที่เข้ามาตั้งถิ่นฐานสันนิษฐานว่าน่าจะมาจาก ๒ พื้นที่ด้วยกันคือผู้ที่อพยพมาจากภาคใต้ เดินทางมาค้าขายทางเรือ แล้วหลบมรสุมเข้ามาตั้งถิ่นฐานในพื้นที่ กลุ่มที่สองเป็นคนพื้นเมืองในจังหวัดจันทบุรี กลุ่มชาวชองได้ขยายพื้นที่ทำมาหากินและติดต่อค้าขายในแถบนี้ กระทั่งเกิดการตั้งถิ่นฐานขึ้น บ้านแถวนาตั้งอยู่ในพื้นที่หมู่บ้านลำดับสุดท้ายของตำบลบางสระเก้า ลักษณะพื้นที่เป็นที่ราบลุ่ม การตั้งบ้านเรือนของชาวบ้านอยู่ท่ามกลางท้องทุ่งนา เป็นที่รู้จักและเรียกขานกันติดปากว่า “บ้านแถวนา”

จากอดีตที่ผ่านมาบ้านแถวนานับว่าเป็นชุมชนที่มีความอุดมสมบูรณ์ทางทรัพยากรธรรมชาติชายฝั่ง เป็นเส้นทางหากินและพักแรมของโขลงช้างป่า มีหลักฐานอ้างอิง คือสระน้ำที่เกิดจากการนอนเกลือกกลิ้งของโขลงช้างเกิดเป็นแอ่งน้ำขนาดใหญ่หรือเรียกว่าสระ มีจำนวน ๙ สระ ปัจจุบันชุมชนยังได้อนุรักษ์ไว้เป็นสระน้ำสาธารณะให้ชาวบ้านได้ใช้ทำการเกษตร จึงเป็นที่มาของตำบลบางสระเก้าและสระน้ำเหล่านั้นก็อยู่ในบ้านแถวนาอยู่หลายสระและนอกจากสระน้ำแล้วบริเวณท้ายหมู่บ้านที่ติดกับลำคลองหนองบัว จะมีลักษณะเป็นพื้นที่ลาดจากฝั่งลงไปถึงลำคลอง ปู่ย่าตายายบอกกล่าวเล่าต่อกันมาว่าเป็นเส้นทางที่โขลงช้างใช้ขึ้นลงข้ามคลองหนองบัวไปยังพื้นที่หมู่บ้านเสม็ดงาม ชาวบ้านเรียกกันติดปากว่า “ท่าช้าง”

บ้านปลาธนาคารปู

แหล่งอนุบาลและเพาะพันธ์ปลา ปู กุ้ง หอย

ชมรมไก่พื้นเมือง

นอกจากเพลิดเพลินกับการชมสัตว์น้ำแล้ว ที่หมู่บ้านยังอนุรักษ์ไก่ชนพื้นเมืองอีกด้วย

กิจกรรมการทอเสื่อ

กิจกรรมหลักของชุมชน คือการทอเสื่อ มีทั้งเสื่อปอ และเสื่อกก

ฟาร์มเลี้ยงชันโรง

ฟาร์มเลี้ยงชันโรงหรือผึ้งชันโรง ซึ่งก็คือผึ้งขนาดเล็ก ที่สร้างผลผลิตเป็นน้ำผึ้ง และ ชัน สามารถนำไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายของชุมชน

สระโบราณ

หนึ่งใน ๙ สระน้ำในตำนาน หลักฐานที่มาของชื่อตำบล “บางสระเก้า”

ศูนย์กีฬาและการละเล่นพื้นบ้าน

เยาวชนในหมู่บ้านอนุรักษ์การละเล่นพื้นบ้าน อาทิ เดินกะลา รีรีข้าวสาร

สวนเกษตรพอเพียง

วิถีเกษตรพอเพียง ความเขียวชอุ่มทำให้เย็นตา ความพอเพียงทำให้เย็นใจ

วิสาหกิจทอเสื่อสุริยา

การรวมกลุ่มของชุมชนทอเสื่อ แปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ฝีมือประณีต

ล่องแพ

ล่องแพ เล่นน้ำ ชมเหยี่ยวแดง

ผลิตภัณฑ์

กระเป๋าเสื่อ   น้ำปลาแท้ของชุมชน   กะปิคุณเสนาะ   น้ำพริกแกง   ผลิตภัณฑ์แปรรูปจากผึ้งชันโรง   กุ้งต้มหวาน   เมี่ยงคำ

ชาใบขู่   กล้วยตากหลากรส   หอยนางรมพร้อมทาน

ข้อมูลติดต่อ

บ้านล่าง (บ้านแถวนา)  หมู่ ๕ ตำบลบางสระเก้า อำเภอแหลมสิงห์ จังหวัดจันทบุรี

คุณสถิต แสนเสนาะ โทร. ๐๙๙ ๒๕๙ ๖๘๓๒

23 พฤศจิกายน 2561


บริษัท มีเดีย เน็ทเวิร์ค จำกัด
138, 140 ซอยอนามัย ถนนศรีนครินทร์ แขวงสวนหลวง เขตสวนหลวง กรุงเทพฯ 10250
MEDIA NETWORK Co.,Ltd
138, 140 Soi Anamai Srinakarin Road Suanluang Suanluang Bangkok 10250
Tel. 02 721 4417 Fax. 02 721 5516
E-mail : phototechthailand@gmail.com


ติดต่อโฆษณาหรือข้อมูลเพิ่มเติม
โทร. 02 721 4417 , 097 921 2929 คุณขวัญ

แฟนเพจ Phototech Magazine


ออกแบบโดย touronthai