จุฬาฯ -GC หนุนใช้พลาสติกชีวภาพ BioPBS สูตรสำเร็จจัดการขยะพลาสติกแบบยั่งยืน

ศาสตราจารย์ ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ อธิการบดี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ร่วมลงนามความร่วมมือกับ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GC ในการใช้บรรจุภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อม BioPBSTM  และความร่วมมือส่งเสริมการคัดแยกบรรจุภัณฑ์พลาสติกเพื่อสร้างจิตสำนึกตามแนวทางเศรษฐกิจหมุนเวียน ผ่านโครงการ Chula Zero Waste  ซึ่งได้ดำเนินการเป็นปีที่ 2  เพื่อดำเนินการลดปริมาณการเกิดขยะ การคัดแยกขยะ และการสร้างจิตสำนึกและวินัยให้กับนิสิตและบุคลากร โดยจะเป็นโครงการต้นแบบของสถาบันการศึกษาแห่งแรกของไทย ในการบริหารจัดขยะแบบครบวงจร สอดคล้องกับนโยบายมหาวิทยาลัยยั่งยืนแห่งประเทศไทย

ศาสตราจารย์ ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ อธิการบดี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

สำหรับความร่วมมือครั้งนี้ เป็นการนำพลาสติกชีวภาพนวัตกรรมใหม่ หรือที่เรียกว่า  BioPBSTM  มาเป็นวัตถุดิบในการเคลือบแก้วกระดาษ Zero-Waste Cup ที่สามารถย่อยสลายได้ 100 % โดยเป้าหมายปี 2561 จะเริ่มใช้ในโรงอาหารทั้งหมด 17 แห่ง ทำให้สามารถลดการใช้แก้วพลาสติกประเภทใช้ครั้งเดียวทิ้งได้กว่า 170,000 ชิ้นต่อเดือน หรือ 2 ล้านใบต่อปี ซึ่งเป็นระบบการจัดการแก้ว Zero-Waste Cup  อย่างครบวงจร ด้วยการคัดแยกแก้ว Zero-Waste Cup ที่ใช้งานแล้ว ไปฝังกลบ ในบ่อปุ๋ยหมัก เพื่อให้เกิดการย่อยสลาย ซึ่งคุณสมบัติของแก้วดังกล่าว สามารถนำไปเป็นสารปรับปรุงดินที่ใช้ดูแลต้นไม้ในมหาวิทยาลัยได้เป็นอย่างดี  

“ในความร่วมมือกับ GC ในฐานะผู้ผลิตเคมีภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อมรายใหญ่ของไทย ทำให้โครงการนี้สำเร็จได้ตามเป้าหมาย เชื่อมั่นว่าการดำเนินการครั้งนี้ จะเป็นส่วนสำคัญต่อการขยายเครือข่ายความร่วมมือไปยังหน่วยงานอื่นๆ ได้อีกเพื่อให้เกิดผลที่เป็นรูปธรรมในระยะยาวมากว่า  ซึ่งจุฬาฯ พร้อมที่จะให้ความร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆในการนำแนวทางของ Chula Zero Waste  ไปประยุกต์ใช้ภายในหน่วยงาน หรือสถาบันอื่นๆ ต่อไป”

นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GC 

นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GC  ในฐานะผู้นำนวัตกรรมเคมีภัณฑ์เพื่อสร้างสรรค์คุณภาพชีวิตที่ดีและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า ความร่วมมือกับจุฬาฯ  ถือเป็นจุดเริ่มต้นในการลดปัญหาขยะพลาสติกในประเทศไทย และเป็นอีกหนึ่งความท้าทายที่บริษัทฯให้ความสำคัญและตระหนักในการดำเนินธุรกิจ โดยยึดหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ในการใช้ทรัพยากรอย่างรู้คุณค่าและเกิดประสิทธิภาพสูงสุด จากการพัฒนานวัตกรรมพลาสติกชีวภาพ โดยนำพืช เช่น อ้อย มันสำปะหลัง ข้าวโพด มาเป็นวัตถุดิบในการผลิต BioPBSTM ใช้ทดแทนพลาสติกทั่วไปในบรรจุภัณฑ์ชนิดต่างๆที่สามารถย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ

การใช้  BioPBSTM  มาเคลือบกระดาษและผลิตเป็นแก้ว จะทำให้แก้วกระดาษทั้งใบสามารถย่อยสลายได้ทุกส่วน และยังคงคุณสมบัติการใช้งานกับเครื่องดื่ม ร้อนหรือเย็นได้ตามปกติ และมีแนวทางการพัฒนาผลิตภัณฑ์ชนิดอื่นๆได้อีก ไม่ว่าจะเป็นถุงพลาสติกหูหิ้ว ฝาแก้ว เป็นต้น ซึ่งผลิตภัณฑ์เหล่านี้ ส่วนใหญ่แล้วจะเป็นผลิตภัณฑ์ที่ใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง ทำให้เกิดปัญหาปริมาณขยะในปัจจุบัน และมีผลต่อสิ่งแวดล้อม ดังนั้นทาง GC พร้อมที่จะส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดความร่วมมือในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ชนิดต่างๆ เพื่อการใช้งานของผู้บริโภคได้อย่างมีคุณค่าและเป็นการยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดี

          “ หลักการของการทำ Circular Economy เป็นแนวทางของการใช้พลาสติกให้เกิดประโยชน์สูงสุด และอยากเห็นไทยเป็นผู้นำในหลักการนี้  เพราะทุกวันนี้พลาสติกสามารถกลับมาใช้ได้ในรูปแบบผลิตภัณฑ์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเสื้อผ้า ของใช้ในชีวิตประจำวัน  แต่ถ้าพลาสติกไปอยู่ในกองขยะ จะกลายเป็นปัญหา ดังนั้นนั้นควรแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ  เพื่อไม่ให้ปริมาณขยะไปสร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ทั้งบนบกและในทะเล”

11 กรกฏาคม 2561


บริษัท มีเดีย เน็ทเวิร์ค จำกัด
138, 140 ซอยอนามัย ถนนศรีนครินทร์ แขวงสวนหลวง เขตสวนหลวง กรุงเทพฯ 10250
MEDIA NETWORK Co.,Ltd
138, 140 Soi Anamai Srinakarin Road Suanluang Suanluang Bangkok 10250
Tel. 02 721 4417 Fax. 02 721 5516
E-mail : phototechthailand@gmail.com


ติดต่อโฆษณาหรือข้อมูลเพิ่มเติม
โทร. 02 721 4417 , 097 921 2929 คุณขวัญ

แฟนเพจ Phototech Magazine


ออกแบบโดย touronthai