นักวิชาการชี้ อย่าเอาแต่กระตุ้นเศรษฐกิจ จนลืมปรับโครงสร้างภาษีเพื่อเพิ่มรายได้ประเทศ

   ช่วงใกล้สิ้นปี มีแต่ข่าวรัฐบาลเตรียมออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหญ่ หลังจากที่ได้แจกเงินหมื่นรอบแรกไปแล้วให้กับผู้มีรายได้น้อยที่ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐและบัตรผู้พิการไปแล้ว 1.42 แสนล้านบาทเมื่อเดือน ก.ย. ที่ผ่านมา หวังดันจีดีพีปี 2568 โตเกิน 3% แต่การกระตุ้นเศรษฐกิจนั้นแน่นอนว่าต้องใช้เม็ดเงินงบประมาณจำนวนมาก โดยอาจทำให้สัดส่วนหนี้สาธารณะของไทยใกล้เต็มเพดาน 70% ของจีดีพีภายในปี 2570 และภาคการคลังไทยจะมีความเปราะบางต่อวิกฤติการณ์ต่างๆ ในอนาคตมากขึ้น  

 

รศ. ดร. ภัทรกิตติ์ เนตินิยม 
หัวหน้าภาควิชาการเงิน คณะบริหารธุรกิจ
มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

ธนาคารโลก (World Bank) ระบุในรายงานเรื่อง Thailand Systemic Country Diagnostic Update 2024: Shifting Gears Toward Sustainable Growth and Inclusive Prosperity ว่าสถานะรายได้รัฐของประเทศไทยอาจไม่เพียงพอที่จะสนับสนุนความจำเป็นในการใช้งบประมาณเพื่อการรับมือกับสังคมสูงวัย การปกป้องและพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และลดความเปราะบางของเศรษฐกิจต่อสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลง ดังนั้น กระทรวงการคลังจึงควรเร่งดำเนินการเพิ่มพื้นที่ทางการคลังอย่างเป็นรูปธรรม โดยการเพิ่มรายได้รัฐ ผ่านการผลักดันให้เกิดการปรับปรุงโครงสร้างภาษีประเภทต่างๆ เพื่อเพิ่มรายได้ภาษีโดยเร็ว 

จริงๆ แล้วกระทรวงการคลังได้ทำการศึกษาการปฏิรูปภาษีต่างๆ มาเป็นเวลาหลายปีแล้ว ไม่ว่าจะเป็น Negative Income Tax การจัดเก็บภาษีส่วนเพิ่มจากบริษัทข้ามชาติตตามข้อตกลงของ OECD ภาษีคาร์บอน การปรับโครงสร้างภาษีบุหรี่และยาเส้น เป็นต้น ซึ่งล้วนแต่จะช่วยเพิ่มรายได้ภาษีให้รัฐ แต่น่าเสียดายที่การปรับปรุงภาษีบางตัวที่น่าจะทำได้ง่ายและเร็วที่สุด กลับไม่ถูกดำเนินการ 

หนึ่งในนั้นก็คือภาษีสรรพสามิตยาสูบ ที่จัดเก็บได้ลดลงตลอดช่วง 7 ปีที่ผ่านมา ทั้ง ๆ ที่มีการเพิ่มอัตราภาษีถึง 2 ครั้งในช่วงเวลาดังกล่าว โดยตั้งแต่เริ่มใช้โครงสร้างภาษีบุหรี่แบบ 2 เทียร์เมื่อปี 2560 จากที่เคยเก็บภาษีได้ 68,603 ล้านบาทในปี 2560 ก็ลดเหลือเพียง 51,247 ล้านบาทในปี 2567 หรือลดลง 25% ซึ่งสำนักงานเศรษฐกิจการคลังเคยทำการศึกษาไว้เมื่อปี 2564 โดยพบว่าภาษีบุหรี่ 2 เทียร์มีความซับซ้อนและไม่ได้ลดแรงจูงใจในการบริโภคยาสูบ แถมยังทำให้เกิดผลกระทบต่อผู้ที่เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมในหลายมิติ และแนะนำให้ปรับปรุงโครงสร้างภาษีบุหรี่จาก 2 เทียร์ เป็นแบบอัตราเดียว ตามหลักสากลที่ประเทศส่วนใหญ่ในโลกเค้าใช้กันตามคำแนะนำขององค์กรระหว่างประเทศต่าง ๆ เช่น ธนาคารโลก องค์การอนามัยโลก เป็นต้น แต่เหมือนที่ผ่านมารัฐบาลจะไม่ได้ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ เพราะแม้จะมีข่าวเกี่ยวกับความพยายามในการปรับโครงสร้างภาษีบุหรี่มาปีกว่าแล้ว แต่ปัจจุบันกรมสรรพสามิตและกระทรวงการคลังยังไม่มีการดำเนินการปรับปรุงโครงสร้างภาษีบุหรี่แต่อย่างใด ปล่อยให้รายได้ภาษีสรรพสามิตยาสูบตลอด 7 ปีที่ผ่านมาลดลงเรื่อย ๆ 

ล่าสุด รายงาน ASEAN Tobacco Control Atlas (6th edition) ของ Southeast Asia Tobacco Control Alliance (SEATCA) ที่เผยแพร่เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา ได้กล่าวถึงโครงสร้างภาษีบุหรี่ในประเทศไทยไว้ว่า “ตั้งแต่เดือนกันยายน 2560 ประเทศไทยได้ใช้ระบบภาษีแบบหลายเทียร์ ซึ่งไม่มีประสิทธิผลหรือประสิทธิภาพเท่ากับระบบที่ไม่มีเทียร์” ในขณะที่รายงานเรื่อง Cigarette Tax Scorecard ปี 2567 ภายใต้โครงการในสังกัดมหาวิทยาลัยแห่งอิลลินอยส์ ที่เมืองชิคาโก ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งมีการประเมินโครงสร้างภาษีสรรพสามิตบุหรี่ทั่วโลก และพบว่าประเทศไทยได้คะแนนต่ำมากในด้านโครงสร้างภาษี (Tax Structure) จากการที่มีโครงสร้างภาษีบุหรี่แบบหลายเทียร์ (1 คะแนนจากเต็ม 5 คะแนน) อยู่ในกลุ่มเดียวกับบังกลาเทศ อินเดีย พม่า เนปาล ปากีสถาน และศรีลังกา เป็นต้น โดยรายงานฯ ระบุว่าโครงสร้างภาษีบุหรี่เป็นตัวบ่งชี้ประสิทธิภาพในการบรรลุเป้าหมายด้านสาธารณสุขและด้านรายได้ของรัฐ และโครงสร้างที่มีหลายเทียร์ทำให้มีซับซ้อนและเกิดช่องโหว่ที่ทำให้เลี่ยงภาษีได้ง่ายกว่า

สำหรับเรื่อง Negative Income Tax การที่กระทรวงการคลังจะหยิบเอาผลการศึกษาของ สำนักงานเศรษฐกิจการคลังเมื่อ 10 ปีก่อนมาพิจารณาปรับปรุงให้ทันสถานการณ์ ก็ไม่ควรใช้เวลาศึกษาเพิ่มเติมนานเกินไป เพราะเกรงจะเหมือนเรื่องภาษีสรรพสามิตยาสูบที่ศึกษากันมาหลายปีก็ยังไม่ได้ปรับโครงสร้าง  Negative Income Tax เป็นเครื่องมือที่น่าสนใจที่จะช่วยให้ประชาชนเข้าสู่ระบบภาษีกันมากขึ้นและยังจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการให้สวัสดิการช่วยเหลือประชาชนที่มีรายได้น้อย อีกทั้งยังจะจูงใจให้ประชาชนที่มีรายได้น้อยพยายามสร้างรายได้มากขึ้น ซึ่งในภาพรวมก็จะเป็นผลดีต่อเศรษฐกิจของประเทศและต่อรายได้ภาษีของรัฐในระยะยาวด้วย จึงฝากความหวังไว้ที่รัฐบาลชุดนี้ว่าจะผลักดันให้เป็นจริง 

นอกจากนี้ ยังมีช่องทางเพิ่มรายได้ภาษีอื่นๆ อีกมากมายจากธุรกิจใต้ดินต่างๆ ตามนโยบายรัฐที่ต้องการสร้างรายได้ใหม่ด้วยการนำเศรษฐกิจใต้ดิน (Underground Economy) เข้าสู่ระบบภาษี ๆ อาทิ การเก็บภาษีบุหรี่ไฟฟ้าที่มีคนใช้เยอะขึ้นเรื่อย ๆ อย่างเห็นได้ชัดตามท้องถนนทั่วไป แต่กลับไม่ต้องเสียภาษีและยังมีความเสี่ยงต่อคนใช้จากการที่สินค้าไม่ได้มาตรฐานเพราะไม่ผ่านการควบคุมคุณภาพใด ๆ จากภาครัฐเลย 

การเพิ่มรายได้ให้ประเทศต้องอาศัยเม็ดเงินภาษีเพิ่มขึ้น การปรับโครงสร้างภาษีจึงเป็นวาระแห่งชาติที่จะสร้างรายได้มาขับเคลื่อนนโยบายในด้านอื่นๆ ต่อไปได้ รัฐบาลควรหยิบผลการศึกษาและข้อเสนอแนะจากหน่วยงานต่างๆ ที่เคยทำไว้มาเร่งพิจารณาดำเนินการโดยด่วน เพราะหากไม่ลงมือทำ ผลการศึกษาต่างๆ ที่ทำกันไว้มากมายก็ไม่เกิดมีประโยชน์แต่อย่างใด และรัฐอาจไม่เหลือพื้นที่ทางการคลังมารับมือวิกฤติการณ์และความท้าทายต่างๆ ในอนาคตได้อีกต่อไป.

 

บทความโดย
รศ. ดร. ภัทรกิตติ์ เนตินิยม 
หัวหน้าภาควิชาการเงิน คณะบริหารธุรกิจ
มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

26 พฤศจิกายน 2567


บริษัท มีเดีย เน็ทเวิร์ค จำกัด
138, 140 ซอยอนามัย ถนนศรีนครินทร์ แขวงสวนหลวง เขตสวนหลวง กรุงเทพฯ 10250
MEDIA NETWORK Co.,Ltd
138, 140 Soi Anamai Srinakarin Road Suanluang Suanluang Bangkok 10250
Tel. 02 721 4417 Fax. 02 721 5516
E-mail : phototechthailand@gmail.com


ติดต่อโฆษณาหรือข้อมูลเพิ่มเติม
โทร. 02 721 4417 , 097 921 2929 คุณขวัญ

แฟนเพจ Phototech Magazine


ออกแบบโดย touronthai