Hang Over Forum เมื่อความเมาของเราไม่เท่ากัน

กรุงเทพฯ 24 เมษายน 2566 - The People สื่อรุ่นใหม่ที่นำเสนอเนื้อหาสร้างสรรค์จากเรื่องราวของ ‘คน’ แบบเจาะลึกในทุกแง่มุม ไปจนถึงบทวิเคราะห์วิธีคิดของบุคคลผู้ที่มีบทบาทในการเปลี่ยนแปลงสังคมในเชิงบวก จากอดีต ปัจจุบัน จนถึงอนาคต ได้ประกาศจัดงาน Hang Over Forum เมื่อความเมาของเราไม่เท่ากัน วงเสวนาอันแสนรื่นรมย์ว่าด้วยเรื่องความเมาและความเท่าเทียม เวทีแสดงความคิดเห็นภายใต้หัวข้อ การถอดสูตรวัฒนธรรมการดื่ม สู่ผลลัพธ์ คือ ความเท่าเทียม ศึกษาวัฒนธรรมการดื่มทั่วโลก รวมถึงประเทศไทย พร้อมเจาะประเด็น โอกาส และความท้าทาย ที่ผู้ประกอบการเครื่องดื่มไทยต้องก้าวผ่านพ้นไป ด้วยการจับมือกัน คู่เคียงไปกับภาครัฐ เพื่อสร้างโอกาสและความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจที่มีเอกลักษณ์และเท่าเทียม

ลองศึกษาถึงวัฒนธรรมของการดื่มเราจะเห็นได้ถึงสาเหตุ วิธีการและผลที่ได้จากการดื่ม  ซึ่งมีเหตุปัจจัยและผลลัพธ์ที่แตกต่างกันไป การใช้เครื่องดื่มในวัฒนธรรมอาจไม่ได้ให้ผลร้ายเสมอไป  เนื่องจากเป็นเพียงสื่อหรือสัญลักษณ์ในการดำรงอยู่และขับเคลื่อนพิธีการ เป็นการดื่มเชิงสังคม แต่เราก็ไม่มองข้ามถึงการบริโภคที่มากล้นเกินนั้นได้ส่งผลต่อชีวิตของผู้บริโภค การทำความเข้าใจวัฒนธรรมการดื่มในบริบทสังคมวัฒนธรรมจึงเป็นทางหนึ่งที่จะช่วยเพิ่มมุมมองให้เป็นที่เข้าใจโดยกระจ่างทั้งเชิงกว้างและเชิงลึก ครอบคลุมและลุ่มลึกให้มากกว่าที่ปรากฏอยู่  พร้อมพิจารณาบทบาทของแอลกอฮอล์ในฐานะที่เป็นสินค้าและองค์ประกอบในระบอบคุณค่าที่แตกต่างกันไป ตัวอย่างที่เห็นชัดเจน คือ วัฒนธรรมการดื่มโซจูที่มาพร้อม soft power เกาหลี ทำให้คนไทยเริ่มนิยมดื่มโซจู ผู้ประกอบการที่ทำโซจู เครื่องดื่มแอลกอฮอล์พร้อมดื่ม RTD ที่เป็นเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ดื่มง่าย เป็นที่นิยมสำหรับวัยรุ่นและนักดื่มหน้าใหม่ กลับเสียภาษีในอัตราที่ต่ำกว่าเครื่องดื่มปราศจากแอลกอฮอล์แบบซอฟต์ดริ้งค์ อันจะส่งผลต่อการเข้าสู่การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของนักดื่มหน้าใหม่หรือไม่

การยกระดับมาตรฐานการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตให้เทียบเท่าประเทศที่เจริญแล้ว น่าจะเป็นทางออกของการลดการบริโภคแอลกอฮอล์ เพิ่มเม็ดเงินภาษีสรรพสามิต และขจัดข้อกังขาเรื่องความเหลื่อมล้ำ ลักลั่นในโครงสร้างภาษีเครื่องดื่มไทย 

คุณธนพงศ์ พุทธิวนิช บรรณาธิการบริหาร The People กล่าวถึงวัถตุประสงค์ของงานครั้งนี้ว่า “ด้วย The People เป็นสื่อที่นำเสนอเรื่องราวของ “คน” ผ่านบริบทต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นวิถีชีวิต สังคม เศรษฐกิจ วัฒนธรรม ซึ่งหนึ่งในนั้น คือ เรื่องราวของการกินดื่ม โดยเฉพาะเครื่องดื่มแอลกอฮอล์  ที่มักจะเป็นประเด็นอ่อนไหวอยู่เนืองๆ เมื่อกล่าวถึงการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ก็จะพบภาวะความสัมพันธ์แบบทั้งรักและชัง เป็นที่เลี่ยงไม่ได้ว่ารายได้ที่ได้จากการจำหน่ายเครื่องดื่มดังกล่าว มีมูลค่าสูง อีกทั้งช่วยสร้างระบบเศรษฐกิจให้กับหลายประเทศ โดยเฉพาะประเทศที่มีการส่งเสริมการท่องเที่ยวกับต่างชาติ   แต่ในทางตรงกันข้ามเราไม่ปฏิเสธถึงผลเสียที่อาจตามมาจากการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

สังคมไทยเองนั้นปฏิเสธไม่ได้ว่าเครื่องดื่มนั้นอยู่ในวิถีชีวิตของผู้คนตลอดมา โดยประเทศไทยถูกจัดอยู่ในทำเนียบนักดื่มลำดับที่ 41 ของโลก จากข้อมูลขององค์การอนามัยโลก เมื่อเทียบอัตราส่วนการดื่มเฉลี่ย 20.3 ลิตรต่อคนต่อปี หรือ 43.9 กรัมต่อคนต่อวันของนักดื่มชาวไทย มาจากการดื่มสุรา หรือ เหล้า เป็นหลัก ตามหลังมาด้วยเบียร์ และไวน์ซึ่งตัวเลขชุดนี้ เป็นทั้ง โอกาส และความท้าทาย 

โอกาส ในที่นี้คือโอกาสของคราฟท์เบียร์ และ สุรากลั่นพื้นบ้านไทย ในวันนี้ที่กระแสความเป็นท้องถิ่นกำลังเป็นเอกลักษณ์ และจุดขายสำคัญของ Soft Power อย่างโซจู ที่ถูกหอบหิ้วไปกับอุตสาหกรรมบันเทิงเกาหลีเพื่อสื่อสารกับโลก ในส่วนของความท้าทายนั้น คือการลดอัตราการดื่ม หรือ ลดนักดื่มหน้าใหม่ ที่สะท้อนออกมาในรูปแบบของกำแพงภาษี ซึ่งเปรียบเสมือน 2 ด้านของเหรียญ ที่กำลังกลายเป็นความคาดหวัง และคำถาม ความคาดหวัง ของหลายๆ คนที่ต้องการผลักดันเบียร์และสุราไทยให้ไปไกลสู่ระดับสากล ที่กำลังพยายามปีนกำแพงภาษีเท่าที่แรงของตัวเองจะเอื้ออำนวย

คำถาม ถึงการคำนวณภาษีตามดีกรีที่จะเป็นอีกแรงหนุนที่ทำให้เกิดความหลากหลาย และแรงขับเคลื่อนให้เกิดผู้เล่นหน้าใหม่ๆ มาพัฒนาคุณภาพของวงการ  เพราะประเทศไทยนั้นยังไม่ได้พัฒนายกระดับวิธีการเก็บภาษีให้เทียบเคียงประเทศที่พัฒนาแล้วส่วนใหญ่ที่กำกับดูแลโดยใช้หลักเกณฑ์ของปริมาณแอลกอฮอล์เป็นตัวตั้ง รวมทั้งการให้ความสำคัญกับผู้ค้า และผู้ผลิตรายย่อย  จึงเป็นที่มาในการจัดงานวันนี้เพื่อให้ผู้ที่มีบทบาทในการขับเคลื่อนทั้งภาครัฐ และผู้ประกอบการมองไปที่จุดมุ่งหมายเดียวกัน ไม่ว่าจะเพื่อสุขภาพ โอกาสทางเศรษฐกิจที่มีเอกลักษณ์และเท่าเทียม”

ทั้งนี้ เมื่อกางกระดาษการจัดเก็บภาษีสำหรับ เบียร์ ที่มีแอลกอฮอลล์ประมาณ 4-7% ถูกกำกับให้เสียภาษีสูงที่สุด 22% ขณะที่ประเภทสุราแช่ อย่างพวกสินค้า RTD ไวน์คูลเลอร์ ที่มีปริมาณแอลกอฮอล์ราว ๆ 4-10% กลับถูกจัดเก็บภาษีอยู่ที่ 10% ขณะที่เครื่องดื่มประเภทวิสกี้ที่มีปริมาณแอลกฮอลล์มากกว่าราว 35-40% ก็ถูกเก็บภาษีอยู่ที่ 20% ส่วนเหล้าขาว ที่มีดีกรีแอลกอฮอลล์สูงถึง 28-40% ถูกจัดเก็บภาษีเพียง 2% เพียงเพราะว่าเป็นเหล้าพื้นถิ่นที่ฝังรากอยู่กับวิถีชีวิตของผู้คนมานาน กลายเป็นตลกร้ายเกี่ยวกับโครงสร้างการจัดเก็บภาษีของประเทศไทย โดยเครื่องดื่มที่ไม่มีปริมาณแอลกอฮอล์หรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 0% แม้กระทั่งซอท์ฟดริ้งส์นอกจากจะโดนภาษี 14% ยังบวกภาษีความหวานเพิ่มด้วย ดังนั้น การเสียภาษีสรรพสามิตจึงสูงกว่าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์บางประเภทเสียอีก ซึ่งก็กลายเป็นคำถามต่อเกี่ยวกับเม็ดเงินจากภาษีสรรพสามิตที่ได้มานั่นเอง

งานเสวนา Hang Over Forum เมื่อความเมาของเราไม่เท่ากัน ได้รับเกียรติจากตัวแทนจากทั้งภาครัฐที่มีหน้าที่ในการดูแลและกำหนดนโยบายการจัดเก็บภาษี , ตัวแทนผู้ประกอบการเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไทย , รวมถึงผู้เชี่ยวชาญด้านโภชนศาสตร์ และวัฒนธรรมการดื่ม มาร่วมพูดคุย ซึ่งประกอบไปด้วย

ว่าที่ ร.ต. ประยุทธ เสตถาภิรมย์ ผู้อํานวยการสํานักมาตรฐานและการจัดเก็บภาษี 1 กรมสรรพสามิต ตัวแทนจากกรมสรรพสามิตที่มาเพื่อสร้างความเข้าใจในเรื่องโครงสร้างการจัดเก็บภาษีที่เป็นเรื่องอ่อนไหวระหว่างภาครัฐและผู้ประกอบการ โดยเฉพาะคนตัวเล็ก โดยหยิบยกเรื่องวัฒนธรรมการดื่มกินที่เกิดขึ้นในต่างประเทศแล้วโยงมาถึงประเทศไทย ปัจจัยที่มีส่วนในโครงสร้างภาษีของไทย ซึ่งพิจารณาจากหลากหลายมิติทั้งในแง่ผลกระทบ และการสนับสนุนเพื่อให้เหล่าผู้ประกอบการสามารถเติบโตได้ยั่งยืน พร้อมย้ำการทำงานของภาครัฐยุคใหม่ที่รับฟังมากขึ้น, สร้างความเข้าใจ และหาทางออกร่วมกัน

ส่วนคุณดวงพร ทรงวิศวะ ผู้เชี่ยวชาญด้านโภชนศาสตร์ และพิธีกรรายการกินอยู่คือ ได้ย้ำภาพของวัฒนธรรมการดื่มที่ฝังอยู่ในทุกอารยธรรม อยู่ในดินแดนประวัติศาสตร์ของทุกชาติ โดยปูพื้นฐานความรู้ภายในงานเพื่อสร้างความเข้าใจว่า วัฒนธรรมการดื่มไม่ใช่เพื่อความเมาเท่านั้นแต่ในหลายประเทศเกี่ยวโยงไปถึงการรักษา เป็นเรื่องของสุขภาพ นอกจากนี้ยังได้เรียกร้อง ‘สิทธิ’ ในการเลือกดื่ม สนับสนุนให้คนไทยมีตัวเลือกที่หลากหลาย โดยภาครัฐต้องปรับความคิดและมีความเชื่อใจในประชาชน เชื่อในการดื่มที่สามารถรับผิดชอบตัวเองได้ ทั้งยังหยิบคำว่า ‘โภชนปัญญา’ (Food Literacy) มาให้ความเข้าใจก็คือ การรู้กิน มีสติในการรู้อะไรดีไม่ดี รู้ว่าจะส่งผลอย่างไรต่อไป สิ่งนี้จะช่วยให้การดื่มอย่างมีคุณภาพเกิดขึ้นในประเทศไทย

ทั้งนี้ ในส่วนของภาคเอกชนตัวแทนจาก 2 ผู้ประกอบการยังได้แชร์ความเห็นบนเวทีเกี่ยวกับ ‘การกีดกัน’ จากภาครัฐ โดย คุณธนากร ท้วมเสงี่ยม ตัวแทนกลุ่มประชาชนเบียร์ ได้หยิบประเด็นการผูกขาดในตลาดปัจจุบัน ที่ทำให้ผู้เล่นหน้าใหม่รวมทั้งนักดื่มหน้าใหม่ไม่มีทางเลือก พร้อมเสนอแนวคิดใหม่ให้กับภาครัฐว่า การส่งเสริมและสนับสนุนผู้ประกอบการรายเล็กต้องสร้างความเท่าเทียม การจัดเก็บภาษีควรพิจารณาจากโครงสร้างใหม่ที่เอื้อต่อรายเล็กมากขึ้น รวมถึงการสนับสนุนพวกเขาผ่านกิจกรรมระดับโลกที่ไม่ใช่การกีดกันอย่างทุกวันนี้

ขณะที่เสียงสะท้อนจาก ดร.วิชิต ซ้ายเกล้า เจ้าของ CHIT BEER แบรนด์คราฟต์เบียร์ไทยบนเกาะเกร็ด ที่เปิดใจฝากตรงถึงภาครัฐเรื่องโครงสร้างการจัดเก็บภาษีในปัจจุบันที่ไม่แฟร์ต่อผู้ประกอบการ หนำซ้ำยังเป็นการทำร้ายทางเลือกของ makers (ผู้ผลิต) มากกว่าด้วย โดยย้ำว่าการส่งเสริมของภาครัฐสำหรับผู้ผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไม่ได้สร้างแต้มต่อให้กับคนตัวเล็ก

ทั้งนี้ ในฝั่งของผู้ประกอบการได้เรียกร้องภาครัฐเปิดโอกาส และปลดปล่อยศักยภาพของธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์คนไทยมากกว่านี้ สนับสนุนไอเดียที่สร้างสรรค์และบอกเล่าสตอรี่อย่างตรงไปตรงมา เพื่อให้เกิดความก้าวหน้าไปพร้อมกัน

25 เมษายน 2566


บริษัท มีเดีย เน็ทเวิร์ค จำกัด
138, 140 ซอยอนามัย ถนนศรีนครินทร์ แขวงสวนหลวง เขตสวนหลวง กรุงเทพฯ 10250
MEDIA NETWORK Co.,Ltd
138, 140 Soi Anamai Srinakarin Road Suanluang Suanluang Bangkok 10250
Tel. 02 721 4417 Fax. 02 721 5516
E-mail : phototechthailand@gmail.com


ติดต่อโฆษณาหรือข้อมูลเพิ่มเติม
โทร. 02 721 4417 , 097 921 2929 คุณขวัญ

แฟนเพจ Phototech Magazine


ออกแบบโดย touronthai