ลุ้น นายกฯ นั่งประธานบอร์ดสภานโยบายการอุดมศึกษาฯ สร้างความเป็นหนึ่งเดียวให้หน่วยงานบริหารงานวิจัย

เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2565 สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม จัดงาน “วันคล้ายวันสถาปนา วช. ครบรอบ 63 ปี” ซึ่งเป็นการจัดกิจกรรมเพื่อส่งเสริมให้ภาคประชาชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการใช้ประโยชน์จากการวิจัยและนวัตกรรมเห็นถึงบทบาทและความสำคัญในการส่งเสริมและพัฒนาให้มีการนำงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งเป็นภารกิจที่ วช. ปฏิบัติมาตลอดระยะเวลา 63 ปี โดยงานจัดขึ้นระหว่างวันที่ 25 – 28 ตุลาคม 2565 ณ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ โดยมี ศาสตราจารย์กิตติคุณ นายแพทย์สุทธิพร จิตต์มิตรภาพ ประธานกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ได้ให้เกียรติบรรยายปาฐกถาพิเศษเรื่อง “วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม : อดีต ปัจจุบัน อนาคต”

ศาสตราจารย์กิตติคุณ นายแพทย์สุทธิพร จิตต์มิตรภาพ ประธานกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กล่าวว่า นับจากวันก่อตั้งมาจนถึงปัจจุบัน วช. มีการเปลี่ยนแปลงไปมาก เป็นหน่วยงานด้านนโยบายในการจัดกรอบวงเงินการติดตามเพื่อให้มีการนำผลงานวิจัยนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ จนถึงปัจจุบันระบบวิจัยมีการเปลียนแปลงไปมาก และส่งผลให้เกิดงานวิจัยในหลายด้าน ด้านการเกษตรที่ช่วยเพิ่มผลผลิต จนสามารถส่งออกสินค้าเกษตรได้เป็นอันดับต้นๆ ของโลก แต่กระนั้นผลตอบแทนที่เราได้มากลับยังไม่มากนัก เมื่อเปรียบเทียบกับต่างประเทศที่เขาส่งสินค้าเข้ามาขายในประเทศไทย ต่างชาติสามารถขายสินค้าได้ในมูลค่าที่สูง เพราะฉะนั้น ถ้า เราต้องการเพิ่มมูลค่าการขายสินค้าเราต้องวางแผนการดำเนินการ คือ

1) เราต้องร่วมมือร่วมใจกันมากขึ้นตั้งแต่ระดับของนักวิจัย เพราะปัจจุบันการใช้ความรู้ ใช้งานวิจัยเพื่อแก้ไขปัญหาต้องอาศัยความรู้จากศาสตร์หลายแขนง เราจึงต้องการความร่วมมือในการวิจัย ความร่วมมือจากนักวิจัยต่างสถาบัน แต่ที่ผ่านมาเป็นไปได้ยากเพราะมีกำแพงระหว่างสถาบัน ระบบการประเมินของสถาบันการศึกษาเรายังเป็นระบบแบ่งแยก การทำงานข้ามสถาบันจึงถูกวัดว่าเป็นผลการดำเนินงานของสถาบันนั้นๆ สิ่งที่เราต้องการทลายคือกำแพงของสถาบัน 2) ความร่วมมือแบบที่สอง ปัจจุบัน หน่วยงานที่ทำหน้าที่เกี่ยวข้องกับการบริหารงานวิจัย จะขึ้นตรงกับสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ซึ่งออกแบบมาเพื่อให้นายกรัฐมนตรีเป็นประธานสภาฯ แต่ปัจจุบันรองนายกฯ เป็นผู้รับหน้าที่ ขอฝากไปถึงนายกคนต่อไป หรือคนเดิม แต่เป็นรุ่นต่อไปว่า ถ้าเห็นความสำคัญของงานวิจัย นายกฯ ต้องลงมากำกับเอง นี่คือสิ่งที่คนวิจัยอยากต้องการ และทุกรัฐมนตรี ทุกประธานบอร์ดที่เกี่ยวข้องกับหน่วยงานด้านการวิจัยต้องก็มาอยู่ที่เดียวกัน เพราะฉะนั้น เป้าหมายหรือนโยบายที่เราอยากได้จากงานวิจัยก็จะเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน 3) ความร่วมมือแบบที่สาม เป็นการทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานที่ให้ทุน หรือ Funding Agency เพราะเมื่อถึงเวลาจะนำผลงานการวิจัยไปถ่ายทอด ความเป็นเจ้าของมันเกิด การจะนำไปถ่ายทอดได้จำเป็นจึงต้องมีการเปลี่ยนแปลงในเรื่องของกฎหมาย ซึ่งได้มีการแก้ไขไปเรียบร้อยแล้ว 4) ความเปลี่ยนแปลงแบบที่ 4 คือเรื่องการจัดการทรัพย์สินทางปัญญา คือ ให้ทรัพย์สินทางปัญญาตกเป็นทรัพย์สินของผู้วิจัย ส่วนการนำไปใช้ประโยชน์ก็จะมีกระบวนการทำงานแตกต่างกันไปขึ้นกับว่าจะนำไปใช้ประโยชน์เพื่อประชาสังคม หรือนำไปผลิตเป็นสินค้าหรือบริการ ซึ่งเป็นเรื่องของภาคเอกชนและภาคการผผลิต เรื่องในลักษณะนี้ก็ต้องค่อยทำงานร่วมกันไปเรื่อยๆ 5) ที่เกิดการเปลี่ยนแปลงคือจุดที่ทำให้เกิดการทำงานร่วมกันระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนซึ่งหมายถึงทั้งหน่วยภาคทางด้านอุตสาหกรรม ภาคธุรกิจ รวมทั้งภาคเอกชน ในเชิงที่เป็นประชาสังคม ภาคชุมชนด้วย นี่คือสิ่งที่ต้องสร้างให้เกิดขึ้นและเกิดการยอมรับมากขึ้น เพราะที่จริงแล้วเอกชนก็สามารถใช้เงินภาครัฐได้ นี่คือสิ่งที่มีการเปลี่ยนแปลง และเพื่อให้เกิดความคล่องตัวในการทำงานร่วมกับภาคส่วนต่างๆ จึงต้องมีการปรับปรุงและพัฒนาระเบียบการใช้จ่ายเงินของภาครัฐให้มีความคล่องตัวมากขึ้นโดยปรับเป็นกองทุนเพื่อให้เกิดความคล่องตัวในเรื่องการใช้เงิน

ศ.กิตติคุณ นพ.สุทธิพร กล่าวต่อว่า ถ้าเกิดผลที่ดีแต่ใช้วิธีการทำงานแบบเดิมก็คงไม่เกิดประโยชน์ สิ่งที่ต้องการให้นักวิจัย นักวิชาการ หรือนักบริหารงานวิจัย เปลี่ยนแปลง คือเรื่องของความเชื่อ จะต้องเชื่อว่า ความรู้สร้างทรัพย์สินได้ ต้องเชื่อว่าคนไทยนั้นก็สร้างได้ และต้องเชื่อในงานของคนไทย ต้องทำให้คนเชื่อได้ว่า เวลาทำวิจัยต้องให้ได้มาตรฐาน และถูกควบคุมด้วยกฏ ระเบียบที่ได้มาตรฐานที่เป็นสากล นอกเหนือจากแวดวงของการวิจัยและพัฒนานวัตกรรม อีกเรื่องหนึ่งที่น่าสนใจคือ คนทำงาน หาวิธีสร้างแรงจูงใจเพิ่มมากขึ้น นั่นคือความก้าวหน้าในชีวิตการทำงานของนักวิจัย เพราะฉะนั้น สิ่งที่จะขับเคลื่อนต่อไปซึ่งนอกเหนือจากแวดวงวิจัย ก็คือวงการของอาชีพการทำงานของนักวิจัย เริ่มตั้งแต่สายอาจารย์ที่บอกว่าการทำงานวิจัยในปลายทางเพื่อให้ได้ผลผลิตมา แต่ไม่ถูกนับเป็นผลผลิต ก็นับแต่เรื่องของ Paper Public relations คือการตีพิมพ์ผลงานวิชาการ ก็พยายามปรับให้ตรงกับความต้องการ เพื่อก่อให้เกิดผลประโยชน์แก่ประเทศชาติ

26 ตุลาคม 2565


บริษัท มีเดีย เน็ทเวิร์ค จำกัด
138, 140 ซอยอนามัย ถนนศรีนครินทร์ แขวงสวนหลวง เขตสวนหลวง กรุงเทพฯ 10250
MEDIA NETWORK Co.,Ltd
138, 140 Soi Anamai Srinakarin Road Suanluang Suanluang Bangkok 10250
Tel. 02 721 4417 Fax. 02 721 5516
E-mail : phototechthailand@gmail.com


ติดต่อโฆษณาหรือข้อมูลเพิ่มเติม
โทร. 02 721 4417 , 097 921 2929 คุณขวัญ

แฟนเพจ Phototech Magazine


ออกแบบโดย touronthai