ประเพณี “กวนข้าวมธุปายาสยาคู”

ข้าวยาคูหรือข้าวยาโค เป็นชื่อที่คนภาคใต้เรียกกันทั่วไป ในพุทธประวัติเรียกว่า “ข้าวมธุปายาสยาคู”  ซึ่งเป็นข้าวที่นางสุชาดานำไปถวายพระพุทธเจ้า

ความเชื่อ

พุทธศาสนิกชนเชื่อว่าข้าวยาคูเป็นอาหารทิพย์ให้สมองดีเกิดปัญญาแก่ผู้บริโภค ทำให้ผิวพรรณผ่องใส อายุยืนยาว และเป็นโอสถขนานเอก ขจัดโรคร้ายทุกชนิด และบันดาลความสำเร็จในการประกอบอาชีพเป็นสิริมงคลแก่ผู้บริโภคด้วย

เดือนสามเป็นระยะเวลาที่ข้าวในนากำลังออกรวง เมล็ดข้าวยังไม่แก่กำลังเป็นน้ำนมข้าวสำหรับนำมากวนข้าวยาคู ชาวบ้านจึงนิยมกวนข้าวยาคูในวันขึ้น ๑๓ ค่ำ และ ๑๔ ค่ำ เดือน๓ โดยใช้วัดเป็นสถานที่กวนข้าวยาคู เพราะว่าวัดเป็นศูนย์รวมของประชาชน โดยเฉพาะจังหวัดนครศรีธรรมราชมีการจัดกวนข้าวยาคูขึ้นตามวัดต่างๆ และได้มีการจัดพิธีกวนข้าวยาคูเป็นพิเศษ จำนวน ๙ กระทะ ณ วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร ในวันขึ้น ๑๓ ค่ำ เป็นประจำทุกปี

การเตรียมการ

  1. เครื่องปรุง
  2. เครื่องปรุงมีมากกว่า ๕๐ ชนิด มีทั้งพวกพืชผลและพืชสมุนไพรผลไม้ที่มีอยู่ในท้องถิ่นตามฤดูกาล ซึ่งจัดเครื่องปรุงแยกเป็นประเภทได้ดังนี้

 ๑.๑ น้ำนมข้าว เป็นเครื่องปรุงที่สำคัญที่สุดได้จากการเก็บข้าวที่กำลังมีน้ำนม ชาวใช้กะลามะพร้าวรูดเอาแต่เมล็ดออกจารวงนำเมล็ดข้าวไปตำให้แหลกแล้ว นำมาคั้นเอาน้ำนมข้าว ใช้วิธีการเดียวกับการคั้นกะทิ แล้วกรองให้สะอาดเก็บเตรียมไว้

 ๑.๒ ประเภทผลไม้ เช่น ขนุน จำปาดะ มังคุด ละมุด อินทผาลัม กล้วย เงาะ พุทรา มะละกอ ทุเรียนสด ทุเรียนกวน มะตูม สาคูวิลาด และผลไม้อื่นๆ ที่มีตามฤดูกาล ผลไม้เหล่านี้ปอกเปลือกแกะเมล็ด หั่น ต้ม เตรียมไว้

 ๑.๓ ประเภทพืชผัก ได้แก่ ข้าวโพด ข้าวโพดอ่อน ข้าวเม่า ข้าวตอก ฟักทอง ถั่วลิสงคั่ว เมล็ดผักชี ลูกบัว หอม กระเทียม ซึ่งแต่ละชนิดเตรียมด้วยการหั่น ซอย คั่วหรือตำให้ละเอียด

 ๑.๔ ประเภทพืชมีหัว ได้แก่ เผือก มันเทศ มันล่า หัวมันหอม เป็นต้น ปอกเปลือกหั่นแล้วนำไปต้มในน้ำกะทิเตรียมไว้

 ๑.๕ ประเภทน้ำผึ้งและนม ได้แก่ น้ำผึ้งรวง น้ำตาลทราย น้ำตาลขัณฑสกร น้ำตาลปิ๊บ น้ำอ้อย นมสด นมข้น นมผง น้ำลำไย น้ำบัวบก เป็นต้น

 ๑.๖ ประเภทสมุนไพร ได้แก่ พริกไทย ลูกกระวาน กานพลู ราแดง ราขาว ราตั๊กแตน ชะเอม ดีปลีเชือก (ดีปลี) ลูกจันทน์ รกจันท์ ดอกจันท์ นำเครื่องเทศทั้งหมดคั่วให้มีกลิ่นหอมแล้วนำไปตำร่อนเอาแต่ส่วนที่ละเอียด ส่วนขิงแห้ง หัวเปราะ หัวกระชาย หัวข่า อบเชย และโป้ยกั๊ก นำไปต้มกรองเอาแต่น้ำ

 ๑.๗ ประเภทแป้ง ได้แก่ แป้งข้าวเจ้า แป้งขาวเหนียว เวลาจะกวนจึงละลายผสมในน้ำนมข้าว

 ๑.๘ มะพร้าว นำไปขูดเอกน้ำกะทิแล้วเคี่ยวให้แตกมันจนกลายเป็นน้ำมันมะพร้าวเก็บพักไว้

การผสมเครื่องปรุง

นำเครื่องปรุงทั้งหมดมาผสมผสานเข้าด้วยกัน โดยแบ่งเครื่องปรุงทุกชนิดออกเป็นส่วนๆ เท่าๆ กัน ใส่ภาชนะโอ่งดินพักไว้ จำนวนโอ่งดินที่ใช้ใส่เครื่องปรุงทั้งหมดจะเท่ากับจำนวนกระทะใบบัวที่ใช้กวนข้าวยาคู อาจจะเป็น ๕ – ๗ – ๙ กระทะ

การเตรียมอุปกรณ์เตาไฟ

การกวนข้าวยาคูต้องใช้ความร้อนสูง ลักษณะของเตานิยมขุดลงไปในพื้นดินเป็นรูปตัวที ให้ความร้อนระอุอยู่ภายในตลอดเวลา เตาดินสามารถเก็บความร้อนไว้ได้มากลมไม่โกรก มีช่องสำหรับใส่ฟืนเชื้อเพลิงและมีรูช่องระบายอากาศ ชาวบ้านเรียกว่า รูพังเหย เตาไฟของวัดพระมหาธาตุวรมหาวิหารใช้เป็นเตาเหล็กตั้งบนพื้นดินแต่เก็บความร้อนได้ดี

การเตรียมบุคลากรที่สำคัญ

 ๑. สาวพรหมจารี เพื่อความเป็นสิริมงคลในการกวนข้าวยาคูในพิธีต้องใช้สาวพรหมจารีคือผู้หญิงที่บริสุทธิ์ รับสมาทานเบญจศีลก่อนเข้าพิธีกวนแต่ละเตาจะใช้จำนวน ๓ คน

 ๒. นิมนต์พระสงฆ์สำหรับสวดชัยมงคลคาถาพร้อมทั้งเครื่องใช้ในพิธีสงฆ์ เช่น ด้าย สายสิญจน์ และอื่นๆ

 ๓. ด้านสายสิญจน์ วงจากพระสงฆ์มาผูกไว้ที่ไม้พาย (ไม้กวน) เพื่อให้สาวพรหมจารีจับไม้พายที่ผูกสายสิญจน์ไว้

ขั้นตอนในการกวนข้าวยาคู

 การกวนข้าวยาคู ของวัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร เริ่มด้วยพิธีบวงสรวงพระบรมธาตุเจดีย์ ซึ่งเป็นพิธีพราหมณ์ เสร็จแล้วจึงบูชาพระรัตนตรัย อาราธนาศีล สาวพรหมจารีรับสมาทานศีล ประธานในพิธีทัดดอกมะตูมให้สาวพรหมจารี

 ๑. เริ่มพิธีกวน สาวพรหมจารียืนประจำกระทะละ ๓ คน พนักงานนำเครื่องปรุงวางบนโต๊ะข้างกระทะ ประธานในพิธีเข้าประจำที่กระทะ เริ่มพิธีกวนข้าวยาคูโดยประธานในพิธีเทเครื่องปรุงลงในกระทะ จับไม้กวนมีการลั่นฆ้องชัย ตั้งแต่เริ่มกวนพระสงฆ์เจริญชัยมงคลคาถาจนจบเป็นอันว่าเสร็จพิธีต่อไปใครจะกวนก็ได้

 ๒. วิธีกวน การกวนข้าวยาคูต้องกวนอยู่ตลอดเวลา เพื่อจะได้ไม่ติดกระทะ เมื่อข้าวยาคูเริ่มเหนียวหนืดจะใช้น้ำมันมะพร้าวที่เคี่ยวไว้เติมลงในกระทะ ไม่ให้ข้าวยาคูติดไม้พาย ข้าวยาคูจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลคล้ำเมื่อกวนเสร็จ และมีกลิ่นหอมเครื่องเทศ

 ๓. ระยะเวลาในการกวนข้าวยาคู ใช้เวลาประมาณ ๘ ถึง ๙ ชั่วโมง ส่วนมากเริ่มกวนเวลา ๑๙.๐๐ น. แต่ละกระทะจะใช้เวลากวนไม่เท่ากัน เพราะการใส่ส่วนผสมและขนาดของกระทะไม่เท่ากัน รวมทั้งการเติมไฟเชื้อเพลิงแต่ละกระทะไม่เสมอกัน ทำให้ข้าวยาคูกระทะแรกมักจะสุกได้ที่ใช้เวลาประมาณ ๗ ชั่วโมง คือเสร็จประมาณ ๐๒.๐๐ น. ส่วนกระทะสุดท้ายอาจกวนจนเช้าถึงเวลา ๐๕.๐๐ น. จึงแล้วเสร็จ

 ๔. ตักข้าวยาคูจากกระทะใส่ถาด เกลี่ยข้าวยาคูให้บางๆ ในถาดวางไว้จนข้าวยาคูเย็นลงต้องทิ้งระยะหนึ่ง ในวันรุ่งขึ้นจึงร่วมกันตัดข้าวยาคูบรรจุใส่ถุงและบรรจุลงกล่องสำหรับนำไปถวายพระในวัด แจกจ่ายฝากญาติมิตรที่มาร่วมในพิธีทั่วทุกคน ที่เหลือจัดส่งไปยังวัดต่างๆ และนำไปฝากญาติมิตร ซึ่งข้าวยาคูของวัดพระมหาธาตุวรมหาวิหารพุทธศาสนิกชนจะรับได้ในวันมาฆบูชาแห่ผ้าขึ้นธาตุ

สาระสำคัญ

การกวนข้าวยาคูเป็นกิจกรรมที่สำคัญ ที่พุทธศาสนิกชนควรปฏิบัติเพราะเป็นการปลูกฝังให้คนมีความศรัทธาต่อพระพุทธศาสนาสาระสำคัญมีดังนี้

 ๑. ทำให้เกิดความรักความสามัคคีในหมู่ญาติและมิตรสหาย เพราะต้องร่วมแรงร่วมใจจัดหาอุปกรณ์ เครื่องปรุง การกวนต้องใช้ทั้งเวลาและผู้คน

 ๒. เป็นประเพณีที่มีความสัมพันธ์กับสังคมเกษตรกรรม คือให้ความสำคัญต่อข้าวหรือน้ำนมข้าวซึ่งเป็นพืชหลักของชาวไทย

 ๓. การแบ่งปันข้าวยาคูแสดงให้เห็นว่าทุกคนมีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ต่อกันเกิดความห่วงใยซึ่งกันและกัน แม้ไม่ได้มาร่วมกวนข้าวยาคู ก็จะได้รับข้าวยาคูเป็นของฝากให้ได้รับประทานทั่วถึงกันทุกคน

 ๔. เป็นการอนุรักษ์และปฏิบัติตามประเพณีที่ดีงาม และเป็นการถ่ายทอดประเพณีให้แก่เยาวชนได้เรียนรู้ถึงวิธีการกวนข้าวยาคู เพื่อสืบทอดประเพณีให้คงอยู่ตลอดไป

ขอขอบคุณ

การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานนครศรีธรรมราช

4 มีนาคม 2561


บริษัท มีเดีย เน็ทเวิร์ค จำกัด
138, 140 ซอยอนามัย ถนนศรีนครินทร์ แขวงสวนหลวง เขตสวนหลวง กรุงเทพฯ 10250
MEDIA NETWORK Co.,Ltd
138, 140 Soi Anamai Srinakarin Road Suanluang Suanluang Bangkok 10250
Tel. 02 721 4417 Fax. 02 721 5516
E-mail : phototechthailand@gmail.com


ติดต่อโฆษณาหรือข้อมูลเพิ่มเติม
โทร. 02 721 4417 , 097 921 2929 คุณขวัญ

แฟนเพจ Phototech Magazine


ออกแบบโดย touronthai