สกสว. เสนอนัยสำคัญเชิงนโยบายจากการศึกษาการเปลี่ยนแปลง 7 อุตสาหกรรมหลังวิกฤตโควิด-19

วันนี้ (7 เมษายน 2564) สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) จัดประชุมรายงานผลการศึกษาโครงการ การเปลี่ยนแปลงของภาคอุตสาหกรรมหลังวิกฤตโควิด-19 (Industrial Transformation after COVID 19) เพื่อเป็นองค์ความรู้ สถานการณ์ด้านวิทยาศาตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) ประกอบการจัดทำแผนด้าน ววน. 2566-2570

รศ.ดร.ปัทมาวดี โพชนุกูล ผู้อำนวยการ สกสว. บอกว่า สกสว. จำเป็นต้องใช้ข้อมูลจาการศึกษาการเปลี่ยนแปลงของภาคอุตสาหกรรมหลังวิกฤต COVID-19 เพื่อวิเคราะห์ผลกระทบต่ออุตสาหกรรมที่เกิดขึ้นท่ามกลางวิกฤต COVID-19 ซึ่งเป็นวิกฤตทางด้านสาธารณสุขที่รุนแรงที่สุดในรอบศตวรรษและได้ส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจอย่างรุนแรงทางตรงเกือบทุกประเทศของโลก พร้อมกับโอกาสและความเสี่ยงที่คาดว่าจะเกิดขึ้นภายหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดบรรเทาและระบบเศรษฐกิจโลกกลับมาเปิดใหม่อีกครั้ง (Re-opening) โดยขอบเขตของการศึกษาครอบคลุมภาคการผลิตที่สำคัญ 7 ภาค ประกอบด้วยอุตสาหกรรมอาหาร อิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า ยานยนต์ เสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม โรงแรม ยา และเครื่องมือแพทย์ เพื่อเป็นองค์ความรู้ในการทำความเข้าใจสถานการณ์ด้าน ววน. ของประเทศ และเป็นข้อมูลประกอบการจัดทำแผนด้าน ววน. พ.ศ.2566-2570

ทางด้าน อาจารย์ เพ็ชรธรินทร์ วงศ์เจริญ ทีมวิจัยจากคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เปิดเผยว่า แม้อุตสาหกรรมยานยนต์ได้รับผลกระทบจากวิกฤตโควิด-19 อย่างรุนแรงและทำให้ผู้ประกอบการจำนวนมากจึงปรับตัวด้วยการลดกำลังผลิต การลดชั่วโมงทำงาน และปลดคนงานชั่วคราว ความรุนแรงของผลกระทบเกิดขึ้นในทุกส่วนของซัพพลายเชนไม่ว่าบริษัทรถยนต์ อย่างไรก็ตามภายหลังการผ่อนคลายมาตการ lockdown ความต้องการซื้อรถยนต์และชิ้นส่วนทั้งในและต่างประเทศฟื้นตัวกลับมาอย่างรวดเร็วจากเดิมที่คาดว่ายอดการผลิตในปี พ.ศ. 2563 เหลือเพียง 0.5-0.7 ล้านคันเพิ่มเป็น 1.5 -1.7 ล้านคัน จนถึงกันยายน พ.ศ. 2563 คาดว่าเป็นผลจากการจัดกิจกรรมส่งเสริมการขาย ประกอบกับกลุ่มผู้มีรายได้หันมาจัยจ่ายช่วงลดภาษี วิกฤตโควิด-19 ยังไม่ได้ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงซัพพลายเชนอย่างมีนัยสำคัญ ยกเว้นเพียงบางชิ้นส่วนที่ต้องพึ่งพาการนำเข้าจากจีนเล็กน้อย

กระแสหนึ่งที่เกิดขึ้นท่ามกลางวิกฤตโควิด-19 คือ การตื่นตัวให้ไปผลิตรถยนต์ไฟฟ้าแทนการใช้เครื่องยนต์ระบบสันดาบภายในซึ่งกำลังลดบทบาทความสำคัญลง สำหรับไทยที่เป็นฐานการผลิตรถยนต์เครื่องสันดาบที่สำคัญแห่งหนึ่งของโลก ความท้าทายที่สำคัญ คือ การวางแผนยุทธศาสตร์ให้เหมาะสมเพื่อให้การเปลี่ยนผ่านที่เกิดขึ้นมีความเสียหายต่ำที่สุด โดยเปิดกว้างในทางเลือกของพลังงานโดยยึดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมเป็นเป้าหมายสุดท้ายแทนการตีกรอบที่พลังงานประเภทใดประเภทหนึ่งเป็นพิเศษ ในขณะที่กระตุ้นให้ภาคเอกชนแข่งขันกันในการนำเสนอทางเลือกกับผู้บริโภค พร้อม ๆ กับการเตรียมความพร้อมในด้านโครงสร้างพื้นฐานอื่น ๆ ที่จำเป็นสำหรับการเปลี่ยนผ่าน นอกจากนั้นภาครัฐควรให้ความสำคัญกับการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันให้กับผู้ประกอบการภายในประเทศ ซึ่งสามารถทำได้ในหลาย ๆ ด้าน เช่น การเดินหน้านำเอาระบบ e-Government และ/หรือเอาเทคโนโลยี Digital เข้ามาช่วยลดความล่าช้าและความซ้ำซ้อนในระบบราชการโดยเฉพาะในเรื่องการรับรองมาตรฐานด้านต่าง ๆ

นอกจากนี้ โครงการวิจัยยังได้ศึกษาครอบคลุมภาคการผลิตที่สำคัญ 7 ภาค พบนัยสำคัญเชิงนโยบายจากการศึกษา คือ วันนี้โลกเริ่มมีความชัดเจนทางด้านวัคซีนต่อต้านโควิด-19 การดำเนินนโยบายควรเกลี่ยความสำคัญจากเดิมทุ่มไปที่การเยียวยาและการกระตุ้นให้ผู้บริโภคในประเทศจับจ่ายใช้สอยเพิ่ม มาสู่การฟื้นฟูที่เป็นการเพิ่มศักยภาพการผลิตในระยะปานกลางและระยะยาว และตักตวงโอกาสที่เกิดขึ้นท่ามกลางวิกฤตซึ่งหลากหลายไปตามแต่ละภาคการผลิต เรื่องดังกล่าวควรมีนโยบายในระดับภาคการผลิตเพื่อให้ไทยตักตวงโอกาสที่เกิดขึ้นท่ามกลางวิกฤตได้อย่างเต็มที่และลดความเสียหายที่เกิดจากวิกฤตโควิด-19

7 เมษายน 2564


บริษัท มีเดีย เน็ทเวิร์ค จำกัด
138, 140 ซอยอนามัย ถนนศรีนครินทร์ แขวงสวนหลวง เขตสวนหลวง กรุงเทพฯ 10250
MEDIA NETWORK Co.,Ltd
138, 140 Soi Anamai Srinakarin Road Suanluang Suanluang Bangkok 10250
Tel. 02 721 4417 Fax. 02 721 5516
E-mail : phototechthailand@gmail.com


ติดต่อโฆษณาหรือข้อมูลเพิ่มเติม
โทร. 02 721 4417 , 097 921 2929 คุณขวัญ

แฟนเพจ Phototech Magazine


ออกแบบโดย touronthai