สทน. ผนึก มรภ. หนุนสร้างมูลค่า “อาหารพื้นถิ่น” ด้วยนวัตกรรมฉายรังสี

สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ(องค์การมหาชน) หรือ สทน. ร่วมกับ 3 มหาวิทยาลัยราชภัฏ (มรภ.) ถ่ายทอดเทคโนโลยีอาหารฉายรังสีสู่ผู้ประกอบการ SME กลุ่มวิสาหกิจชุมชน ตั้งเป้า 5 ปี ยกระดับคุณภาพ “อาหารพื้นถิ่น” ให้ได้มาตรฐานความปลอดภัย มีมูลค่าเพิ่มขึ้น สร้างโอกาสต่อยอดเชิงพาณิชย์ สู่ตลาดทั้งในและต่างประเทศ 

             วันนี้ (25 มี.ค.64) รศ.ดร.พาสิทธิ์ หล่อธีรพงศ์ ที่ปรึกษาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เป็นประธานใน “พิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในการพัฒนาศักยภาพการวิจัยและพัฒนา เพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถในการบริหารจัดการและบูรณาการ ด้านการวิจัยและพัฒนา สร้างนวัตกรรมใหม่ด้านวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีนิวเคลียร์” ซึ่งสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (สทน.) จัดขึ้น ภายใต้โครงการ “การสร้างมูลค่าให้กับอาหารพื้นถิ่นด้วยการฉายรังสี” และ “โครงการคูปองยกระดับผลิตภัณฑ์ด้วยนวัตกรรมฉายรังสี” โดยมี รศ.ดร.ธวัชชัย อ่อนจันทร์ ผู้อำนวยการ สทน. และอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏ 3 แห่ง ได้แก่ มหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครศรีอยุธยา และมหาวิทยาลัยราชภัฏธนบุรี พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร มรภ. และ สทน. ร่วมงาน ณ อาคารพระจอมเกล้า ชั้น 1 สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม

​​​รศ.ดร.พาสิทธิ์ หล่อธีรพงศ์ ที่ปรึกษาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เปิดเผยว่า จากการที่รัฐบาลได้ให้ความสำคัญกับการสร้างผู้ประกอบการรุ่นใหม่ รวมถึงส่งเสริมให้ผู้ประกอบการสินค้าโอทอป รู้จักปรับตัวให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงด้านเศรษฐกิจและสังคม โดยนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีมาช่วยพัฒนาและยกระดับสินค้า แต่ยังคงคุณค่าและรักษาไว้ซึ่งเอกลักษณ์ของท้องถิ่น เพื่อให้เป็นที่ยอมรับและแข่งขันได้อย่างยั่งยืน ทั้งตลาดในประเทศและตลาดโลก พิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือระหว่าง สทน.และมรภ. ในครั้งนี้ จึงถือได้ว่ามีความสอดคล้องกับนโยบายและยุทธศาสตร์ของกระทรวง อว. ในยุทธศาสตร์ด้านการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน เรื่องการพัฒนาผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมยุคใหม่ เรื่องการส่งเสริมการวิจัยและพัฒนานวัตกรรม การส่งเสริมความรู้พื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม รวมทั้งตรงกับยุทธศาสตร์ในเรื่องการวิจัยและนวัตกรรมที่ตอบโจทย์ของประเทศ และสร้างระบบนิเวศการวิจัย   

​​​ด้าน รศ.ดร.ธวัชชัย อ่อนจันทร์ ผู้อำนวยการ สทน. กล่าวเพิ่มเติมว่า พิธีลงนามบันทึกข้อตกลงฯในวันนี้ เกิดขึ้นเพื่อยกระดับการใช้เทคโนโลยีนิวเคลียร์ด้วยวิธีการฉายรังสีให้เป็นที่รู้จัก เป็นที่ยอมรับและมีการใช้ประโยชน์แพร่หลายมากขึ้น มีโครงการที่ได้ดำเนินการร่วมกัน ได้แก่ โครงการการถ่ายทอดเทคโนโลยีการสร้างมูลค่าให้กับอาหารพื้นถิ่นด้วยการฉายรังสี และ โครงการคูปองยกระดับผลิตภัณฑ์ด้วยนวัตกรรมฉายรังสี เนื่องจากปัจจุบันผู้ประกอบการและผู้บริโภคบางส่วน ยังไม่ทราบถึงข้อมูลอาหารฉายรังสีที่ถูกต้อง จนเกิดความกังวลและเข้าใจผิด ทำให้อาหารฉายรังสีไม่เป็นที่รู้จักและไม่ได้รับการยอมรับเท่าที่ควร 

ดังนั้น ทาง สทน.จึงได้ร่วมกับทางมหาวิทยาลัยราชภัฏ ซึ่งเป็นสถาบันการศึกษาที่อยู่ใกล้ชิดกับชุมชน และคุ้นเคยกับผู้ประกอบการ  เพื่อร่วมมือกันยกระดับการรับรู้เรื่องการฉายรังสีอาหารอย่างถูกต้องให้กับคนไทย โดยในปี 2564 นี้ สทน.ได้ร่วมกับ 3 มหาวิทยาลัยราชภัฏ ประกอบด้วย มรภ.ราชนครินทร์ มรภ.พระนครศรีอยุธยา และ มรภ.ธนบุรี  โดยทั้งสองฝ่ายจะร่วมกันดำเนินการจัดฝึกอบรมให้ความรู้ ความเข้าใจ สร้างการยอมรับ และสนับสนุนให้นำผลิตภัณฑ์อาหารที่มีศักยภาพของชุมชน และอาหารที่มีความเสี่ยงต่อการปนเปื้อนจากเชื้อโรคต่างๆ มาฉายรังสี รวมทั้งอำนวยความสะดวกให้มีศูนย์ประสานงาน ในการส่งผลิตภัณฑ์เพื่อมาฉายรังสี  เพื่อให้ได้ผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพ ปลอดภัยสำหรับผู้บริโภค มีอายุการจัดจำหน่ายที่ยาวนานขึ้น และช่วยเพิ่มมูลค่าให้ผลิตภัณฑ์  อันเป็นพื้นฐานสำคัญที่จะนำไปสู่การขยายตัวของธุรกิจชุมชน รวมทั้งนำไปสู่การวิจัยและพัฒนาตัวสินค้า จนสามารถขยายไปเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ที่จะนำไปจำหน่ายทั้งในประเทศ และส่งออกไปต่างประเทศในอนาคต 

“ในฐานะนักวิจัยที่ทำงานทางด้านนี้มาตลอด และมีผลการวิจัยที่ยืนยันเป็นที่ยอมรับมากว่า 40 ปีแล้วว่า อาหารที่ผ่านการฉายรังสีนั้นไม่มีอันตรายและไม่เกิดผลกระทบกับร่างกายแต่อย่างใด โดยวัตถุประสงค์ส่วนใหญ่ของการฉายรังสีในอาหารคือ การลดปริมาณจุลินทรีย์ การฆ่าเชื้อปรสิต ฉะนั้น อยากขอเชิญชวนผู้ประกอบการ SME กลุ่มวิสาหกิจชุมชน โดยเฉพาะในกลุ่มอาหารแปรรูป อาหารแช่แข็ง และสมุนไพร สมัครเข้ามาร่วมโครงการฯ ฉายรังสีกับ สทน. ได้นะครับ ผมมั่นใจว่าผลิตภัณฑ์ท่านจะมีทางเลือก มีโอกาสในการทำตลาดเพิ่มมากขึ้น” ผอ.สทน.กล่าวในตอนท้าย

ด้านรองศาสตราจารย์ ดร.ดวงพร ภู่ผะกา อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์ กล่าวเพิ่มเติมว่า มหาวิทยาลัยราชภัฏทั้ง 38 แห่ง มีพื้นที่บริการแต่ละพื้นที่อยู่แล้ว อย่างมหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์เราดูแล 3 จังหวัดในพื้นที่ EEC คือ จังหวัดฉะเชิงเทรา ระยอง และชลบุรี เพราะฉะนั้นแต่ละมหาวิทยาลัยมีพื้นที่บริการ การทำงานร่วมกับ สทน. คือ เราเน้นในเรื่องของการเสริมสร้างขีดความสามารถให้กับชุมชนให้กับบุคลากรของมหาวิทยาลัย เพราะฉะนั้นการทำงานของมหาวิทยาราชภัฏทั้ง 38 แห่ง เรามองถึง 2 ช่องทางก็คือการสร้าง train the trainer ให้กับบุคลากรของมหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นองค์ความรู้ที่ได้จาก สทน.  ส่วนที่ 2 คือ การสร้างให้ชุมชนมีความเข้มแข็ง เพราะฉะนั้นการสร้างให้ชุมชนมีความเข้มแข็ง เราดึงเอาศักยภาพของชุมชนผ่านอาหารพื้นถิ่นหรือวัฒนธรรมพื้นถิ่น ซึ่งวัฒนธรรมเหล่านี้ อาจจะเน้นในเรื่องของวัฒนธรรมด้านอาหาร เพราะฉะนั้นเราก็มาต่อยอดองค์ความรู้ที่ทาง สทน.มีคือการฉายรังสี ทำยังไงให้สินค้าเหล่านั้นยกเป็น Premium grade เน้นถึงความคุ้มค่า ความปลอดภัยในการรับประทานของผู้บริโภค แล้วส่งต่อถึง SME หรือผู้ประกอบการที่อยู่ในพื้นที่ เพื่อยกระดับสินค้าให้สามารถตอบโจทย์ในประเทศหรือต่างประเทศได้ อีกส่วนหนึ่งคือเรื่องของการวิจัย เรามองแล้วว่ากระทรวง อว. เราผนึกกำลังโดยท่านรัฐมนตรีท่านก็มีแนวคิดว่า ท่านมองถึงการพัฒนาบุคลากรในเรื่องของการวิจัย เพราะฉะนั้นสิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่เราพร้อมที่จะดำเนินงานตามนโยบายของท่าน และสิ่งสำคัญก็คือการสร้างแผนงานวิจัยร่วมกันในกระทรวง อว. เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้ประเทศ อันนี้คือแนวทางที่เรามองว่าจะทำงานด้วยกันต่อไป

25 มีนาคม 2564


บริษัท มีเดีย เน็ทเวิร์ค จำกัด
138, 140 ซอยอนามัย ถนนศรีนครินทร์ แขวงสวนหลวง เขตสวนหลวง กรุงเทพฯ 10250
MEDIA NETWORK Co.,Ltd
138, 140 Soi Anamai Srinakarin Road Suanluang Suanluang Bangkok 10250
Tel. 02 721 4417 Fax. 02 721 5516
E-mail : phototechthailand@gmail.com


ติดต่อโฆษณาหรือข้อมูลเพิ่มเติม
โทร. 02 721 4417 , 097 921 2929 คุณขวัญ

แฟนเพจ Phototech Magazine


ออกแบบโดย touronthai