สทน. จับมือจังหวัดนครนายกใช้เทคโนโลยีนิวเคลียร์ลดแมลงวันผลไม้ เพิ่มรายได้ให้เกษตรกรสวนมะยงชิดที่ร่วมโครงการไม่ต่ำกว่าร้อยละ 30

​วันที่ 19 มีนาคม 2564 สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) และจังหวัดนครนายก ร่วมจัดพิธีปล่อยแมลงวันผลไม้เป็นหมันในพื้นที่ จ.นครนายก ตามโครงการควบคุมแมลงวันผลไม้ด้วยเทคนิคการใช้แมลงเป็นหมันในไม้ผลเศรษฐกิจ จ.นครนายก ซึ่งจัดขึ้น ณ สวนนพรัตน์ ตำบลดงละคร อำเภอเมืองนครนายก จังหวัดนครนายก ผู้ร่วมพิธีประกอบด้วย ปลัดจังหวัดนครนายก ผู้อำนวยการสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ นายอำเภอเมืองนครนายก เกษตรจังหวัดนครนายก นายกสมาคมชาวสวนมะปรางจังหวัดนครนายก โดยมี ผศ.ดร.ดวงฤทธิ์ เบ็ญจาธิกุล ชัยรุ่งเรือง เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เป็นผู้กล่าวเปิดงาน

ผศ.ดร.ดวงฤทธิ์ เบ็ญจาธิกุล ชัยรุ่งเรือง เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เปิดเผยว่ามะยงชิด ผลไม้ GI สำคัญของจังหวัด คุณภาพและรสชาติได้รับการยอมรับจากผู้บริโภคทั่วประเทศ แต่เพราะปัญหาจากแมลงวันผลไม้ที่ทำลายผลมะยงชิด ทำให้เกษตรกรได้ผลผลิตไม่ดีเท่าที่ควร แต่เมื่อนำวิทยาศาสตร์เข้ามาส่งเสริมและแก้ไขทำให้ปัญหาดังกล่าวลดลง โครงการควบคุมแมลงวันผลไม้ด้วยเทคนิคการใช้แมลงเป็นหมันในไม้ผลเศรษฐกิจ จ.นครนายก ที่ดำเนินการโดย สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สทน. ที่นำผลงานวิจัยการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีนิวเคลียร์ นำไปช่วยเกษตรกรในพื้นที่ได้อย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งผลจากการปล่อยแมลงเป็นหมันเพื่อควบคุมแมลงวันผลไม้ที่ทำลายผลมะยงชิดในปีที่ผ่านมาสามารถลดความเสียหายที่เกิดขึ้นกับผลผลิต และสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้เกษตรกรได้มากกว่า 10 เท่าจากงบประมาณที่ใช้ไป ซึ่งเป็นสิ่งตอกย้ำให้เห็นว่าการนำวิทยาศาสตร์มาใช้ในการแก้ไขปัญหา หรือพัฒนากระบวนการสำหรับเกษตรกร สามารถทำได้จริงและผลเป็นที่น่าพอใจ และเป็นนโยบายสำคัญที่กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม ให้ความสำคัญมาอย่างต่อเนื่องและอยากให้เกิดขึ้นในทุกๆ พื้นที่ของประเทศ

รศ.ดร.ธวัชชัย อ่อนจันทร์ ผู้อำนวยการสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สทน. เปิดเผยว่า การปล่อยแมลงวันผลไม้ที่เป็นหมันสู่พื้นที่เป็นขั้นตอนสำคัญในการควบคุมแมลงวันผลไม้ด้วยเทคนิคการใช้แมลงเป็นหมันในพื้นที่กว้าง ซึ่งเป็นผลงานวิจัยเพื่อนำประโยชน์จากเทคโนโลยีนิวเคลียร์ไปใช้ประโยชน์ในภาคการเกษตร เทคนิคการใช้แมลงวันผลไม้ที่เป็นหมัน เพื่อไม่ให้มีจำนวนประชากรของแมลงผลไม้ในพื้นที่มากจนเป็นอันตรายต่อผลิตผลการเกษตร ขั้นตอนของเทคนิคการใช้แมลงวันผลไม้ที่เป็นหมันประกอบด้วย การเลี้ยงแมลงวันผลไม้ในห้องทดลองเป็นจำนวนมาก การทำหมันแมลงวันผลไม้ที่เลี้ยงด้วยการฉายรังสี การปล่อยแมลงวันผลไม้ที่เป็นหมันออกไปผสมพันธุ์กับแมลงผลไม้ที่มีอยู่ในธรรมชาติ ผลของการผสมพันธุ์จากแมลงวันผลไม้ที่เป็นหมัน ทำให้ตัวเมียวางไข่ที่ไม่สามารถฟักออกเป็นตัวได้ แต่จะต้องปล่อยแมลงที่เป็นหมันให้มากกว่าแมลงที่มีอยู่ในธรรมชาติ เพื่อลดโอกาสแมลงที่มีอยู่ในธรรมชาติจะได้ผสมพันธุ์กันเอง ทำให้ประชากรแมลงในธรรมชาติลดลง เมื่อปล่อยแมลงที่เป็นหมันจำนวนมากติดต่อกัน จะสามารถลดประชากรแมลงในธรรมชาติอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้ความเสียหายกับผลผลิตลดลง

การควบคุมแมลงวันผลไม้โดยเทคนิคแมลงวันเป็นหมันในประเทศไทย เริ่มดำเนินการครั้งแรก ที่โครงการหลวงดอยอ่างขาง อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ ตั้งแต่ปี 2528-2540 พบว่า สามารถลดการทำลายท้อพันธุ์พื้นเมือง ของแมลงวันผลไม้จาก 54.7% ลดลงเหลือ 4% หลังจากนั้นถึงนำเทคนิคนี้ไปเผยแพร่และช่วยเหลือเกษตรกรในหลายๆ พื้นที่ อาทิ อำเภอปากท่อ จังหวัดราชบุรี อำเภอบ้านฉาง จังหวัดระยอง อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา อำเภอวังชิ้น จังหวัดแพร่ อำเภอหนองเสือ จังหวัดปทุมธานี และที่ประสบความสำเร็จสูงสุด คือ ที่ ต.ตรอกนอง อ.ขลุง จ.จันทบุรี ที่ปัจจุบันเป็นพื้นที่ควบคุมแมลงวันผลไม้ในระดับต่ำ หรือ Low Pop


 

ในฐานะที่ สทน. เป็นหน่วยงานของรัฐที่มีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ในพื้นที่ จ.นครนายก ซึ่งเป็นจังหวัดที่มีผลไม้เศรษฐกิจขึ้นชื่อ และถูกขึ้นทะเบียน GI ได้แก่ มะปราง และมะยงชิด แต่ปัญหาหนึ่งที่เกษตรกรประสบปัญหาคือ การถูกทำลายผลผลิตด้วยแมลงวันผลไม้ ทำให้ไม่ได้ผลผลิตเท่าที่ควร สทน.จึงได้ร่วมกับจังหวัดนครนายก ดำเนินโครงการแปรรูปและสร้างมูลค่าเพิ่มเกษตรอุตสาหกรรมโดยใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยี โดย สทน.ให้การสนับสนุนงบประมาณจำนวน 1.2 ล้านบาท เพื่อดำเนินการควบคุมแมลงวันผลไม้โดยเทคนิคการใช้แมลงที่เป็นหมันที่ตำบลดงละคร อำเภอเมือง จังหวัดนครนายก ครอบคลุมพื้นที่ราว 3,700 ไร่ ผลการดำเนินการตลอดปี 2561-2562 ปรากฏว่า ความเสียหายของผลผลิตลดลงเหลือเพียง 14% เกษตรกรมีรายได้รวมมากกว่า 25 ล้านบาท ลดการใช้สารเคมีลงได้มากกว่า 70% จากความสำเร็จในปีที่ผ่านมา และเป็นประโยชน์โดยตรงกับกลุ่มเกษตรกรในพื้นที่โดยตรง สทน. และเกษตรจังหวัดนครนายก เห็นควรดำเนิน โครงการควบคุมแมลงวันผลไม้ด้วยเทคนิคการใช้แมลงเป็นหมันในไม้ผลเศรษฐกิจ จ.นครนายก ต่อเนื่อง 

โดยในปีนี้จะดำเนินการในพื้นที่ ต.ดงละคร อ.เมือง และพื้นที่ ต.ศรีกะอาง อ.บ้านนา รวมพื้นที่รวมกว่า 6 พันไร่ โดยทีมวิจัยของ สทน. ได้ลงพื้นที่ประชุมกลุ่มเกษตรกร ต่อจากนั้นได้วางกับดักแมลงเพื่อลดปริมาณแมลงในพื้นที่ ศรีกะอาง และ ดงละคร แล้ว ในช่วงปลายปี 2563 ที่ผ่านมา และวันนี้เป็นอีกขั้นตอนสำคัญ คือ การปล่อยแมลงวันผลไม้ที่เป็นหมันลงพื้นที่ ซึ่ง สทน. จะดำเนินการปล่อยแมลงวันผลไม้เป็นหมันต่อเนื่องไปจนถึงเดือนกรกฎาคม 2564 รวมจำนวนแมลงวันผลไม้ที่จะปล่อยในพื้นที่จำนวนประมาณ 25 ล้านตัว ซึ่ง สทน. คาดว่าผลการดำเนินโครงการในปี 2564 จะสามารถเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการเพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่าร้อยละ 30 ของรายได้ในปีที่ผ่านมา

ร.ต.ต.อำนวย หงษ์ทอง หรือ ที่รู้จักกันดีในชื่อ “ดาบนวย” ประธานคณะกรรมการบริหารชมรมชาวสวนมะปรางนครนายก เจ้าของสวนนพรัตน์ เปิดเผยว่า ปัญหาแมลงวันผลไม้สร้างความเสียหายให้กับชาวสวนที่ปลูกมะยงชิดมาทุกปี เฉพาะที่สวนนพรัตน์แต่ละปีจะผลิตผลมะยงชิดได้ประมาณ 40 ตัน แต่แมลงวันผลไม้จะทำให้ผลผลิตเสียหายไปประมาณ 50 เปอร์เซ็นต์ หรือประมาณ 20 ตัน ส่วนที่เก็บผลผลิตได้อีก 20 ตัน ก็ไม่สามารถตรวจสอบได้ว่าจะมีไข่ของแมลงวันผลไม้อยู่ในผลมะยงชิดอีกเท่าไหร่ ถ้าคิดราคามะยงชิดกิโลกรัมละ 100 บาท ก็หมายความว่าแต่ละปีสวนนพรัตน์จะสูญเสียรายได้ไปประมาณปีละ 2 ล้านบาท ปัญหานี้เกิดขึ้นกับชาวสวนผลไม้แทบทุกรายที่จังหวัดนครนายก เมื่อตนทราบข่าวเกี่ยวกับการปล่อยแมลงวันเป็นหมันเพื่อควบคุมแมลงวันผลไม้ที่จังหวัดนครนายกที่ สทน. มาเป็นผู้ดำเนินการ และสามารถลดปริมาณแมลงวันผลไม้ได้กว่า 70 เปอร์เซ็นต์ จึงเกิดความสนใจและได้ปรึกษากับผู้ว่าราชการจังหวัดนครนายก

จนในที่สุดจึงเกิดความร่วมมือระหว่าง สทน. และจังหวัดนครนายกในปี 2563 สทน. ได้นำวิธีการปล่อยแมลงวันเป็นหมันในบริเวณพื้นที่ส่วนที่เรียกว่าเกาะดงละคร มีเนื้อที่ประมาณ 3,700 ไร่ โดยใช้วิธีกรปล่อยแมลงวันเป็นหมันควบคู่กับวิธีการอื่นๆ เช่น การวางกับดักในสวนและแนวกันชนเพื่อลดปริมาณแมลงวันผลไม้ การกำจัดผลไม้ที่หล่นอยู่ในสวนเพื่อไม่ให้เป็นอาหารและแหล่งแพร่พันธุ์ หลังจากนั้นจึงนำแมลงวันตัวผู้ที่เป็นหมันมาปล่อย

หลังจากนำมาปล่อยได้ระยะหนึ่งสังเกตได้ชัดเจนว่าแมลงวันผลไม้ลดลง ผลผลิตเสียหายน้อยลง ปริมาณผลผลิตที่ได้เพิ่มขึ้น มีรายได้จากการขายผลผลิตเพิ่มขึ้นประมาณ 30-40 เปอร์เซ็นต์ ในขณะเดียวกันค่าใช้จ่ายจากการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชก็ลดลงเกิน 50 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเปรียบเทียบกับสวนของตนอีก 2 แห่ง ที่ตำบลสาลิกาและที่แก่งคอยซึ่งไม่ได้ใช้วิธีการปล่อยแมลงวันเป็นหมันปรากฏว่าผลผลิตเสียหายมาก ตนคิดว่าโครงการนี้มีประโยชน์มากน่าจะมีการขยายผลให้ครอบคลุมทั้งจังหวัด จะสามารถช่วยเพิ่มรายได้ให้กับชาวสวนมะยงชิดซึ่งปัจจุบันสร้างรายได้ให้กับจังหวัดนครนายกได้ถึงปีละ 500 ล้านบาท

 

19 มีนาคม 2564


บริษัท มีเดีย เน็ทเวิร์ค จำกัด
138, 140 ซอยอนามัย ถนนศรีนครินทร์ แขวงสวนหลวง เขตสวนหลวง กรุงเทพฯ 10250
MEDIA NETWORK Co.,Ltd
138, 140 Soi Anamai Srinakarin Road Suanluang Suanluang Bangkok 10250
Tel. 02 721 4417 Fax. 02 721 5516
E-mail : phototechthailand@gmail.com


ติดต่อโฆษณาหรือข้อมูลเพิ่มเติม
โทร. 02 721 4417 , 097 921 2929 คุณขวัญ

แฟนเพจ Phototech Magazine


ออกแบบโดย touronthai