สทน.แจงดำเนินกิจกรรมในพื้นที่ คลองห้าเป็นไปตามมาตรฐาน ยันทุกขั้นตอนมาตรฐานความปลอดภัยต้องมาก่อน

สทน.พาคณะสื่อมวลชนเยี่ยมชม การปฏิบัติงานของสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สทน. คลอง5 พร้อมแจง ดำเนินกิจกรรมในพื้นที่ คลองห้าเป็นไปตามมาตรฐาน ยันทุกขั้นตอนมาตรฐานความปลอดภัยต้องมาก่อน

สืบเนื่องจากมีบทความเผยแพร่ทางสื่อมวลชน ได้ตั้งข้องสงสัยในการปฏิบัติงานของสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ หรือ สทน. ” ซึ่งเป็นสถานที่ตั้งศูนย์วิจัยและพัฒนาธาตุหายาก และโรงเก็บอาคารเก็บกากกัมมันตรังสี 3 ซึ่งตั้งอยู่ที่ ต.คลองห้า อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี โดยระบุว่า กิจกรรมที่ สทน .ดำเนินการในพื้นที่คลอง 5 อาจส่งผลทำให้เกิดการปนเปื้อนของธาตุกัมมันตรังสีต่อแหล่งน้ำธรรมชาติ หรือแหล่งน้ำใต้ดินโดยรอบพื้นที่ตั้งของโครงการและอาจจะก่อให้เกิดอันตรายต่อประชาชนที่บริโภคน้ำจากแหล่งน้ำ

วันที่ 4 มีนาคม 2564 สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (สทน.) จึงได้จัดกิจกรรมสื่อมวลชนสัญจรเพื่อนำสื่อมวลชนเยี่ยมชมเยี่ยมชมการดำเนินงานและพื้นที่โดยรอบของศูนย์ธาตุหายากและโรงเก็บกากกัมมันตรังสี 3 โดยมี รศ.ดร. ธวัชชัย อ่อนจันทร์ ผู้อำนวยการ สทน. นายนิคม ประเสริฐเชี่ยวชาญ ผู้จัดการศูนย์จัดการกากกัมมันตรังสี นายวราวุธ ขจรฤทธิ์ ผู้จัดการศูนย์ฉายรังสี และทีมงานจากศูนย์จัดการกากกัมมันตรังสี ฝ่ายความปลอดภัย และ ศูนย์วิจัยและพัฒนานิวเคลียร์ เป็นผู้ชี้แจงและตอบข้อซักถามของสื่อมวลชน รศ.ดร. ธวัชชัย อ่อนจันทร์ ผู้อำนวยการสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ เปิดเผยว่า สทน. ได้มีการตรวจสอบข้อมูลที่มีการเผยแพร่ผ่านทางสื่อมวลชนและมีความกังวล เพราะข้อมูลหลายประเด็นมีความคลาดเคลื่อน หรือการรับทราบข้อมูลไม่ครบทุกด้าน หลายประเด็นไม่ใช่ข้อเท็จจริง สทน.จึงขอชี้แจงประเด็นข้อสงสัย เพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องต่อกลุ่มผู้ตั้งข้อสังเกตเอง และกลุ่มประชาชนทั่วไป จึงขอชี้แจงประเด็นดังกล่าว ที่เกี่ยวเนื่องกับบทความที่นำเสนอดังนี้

1. ศูนย์ธาตุหายาก เป็นหน่วยงานที่ตั้งขึ้นโดยการสั่งการจากคณะรัฐมนตรี เมื่อปี 2518 โดยให้ พปส.และกรมทรัพยากรธรณี ร่วมเป็นเจ้าของโครงการสกัดและแปรสภาพแร่โมนาไซด์ และแร่กัมมันตรังสีอื่นๆ โดย พปส.ได้จัดทำโครงการพัฒนาวัสดุนิวเคลียร์ขึ้น และถูกบรรจุไว้ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 4 เริ่มดำเนินการก่อสร้างโรงงานและดำเนินกิจกรรมตั้งแต่ปี 2530 โดยอยู่ในการดูแลของสำนักงานพลังงานปรมาณูเพื่อสันติ (ในขณะนั้น) โรงงานตั้งอยู่บนเนื้อที่ราว 30 ไร่ในพื้นที่เมืองวิทยาศาสตร์ (ขณะนั้น) มีกิจกรรมสำคัญคือ การสกัดแร่ธาตุหายากจากแร่โมนาไซด์ กิจกรรมดำเนินมาจนประมาณปี 2547 พปส.ก็ได้ยุติการดำเนินการของโรงงาน จนกระทั่งปี 2549 พื้นที่ของศูนย์ธาตุหายาก ซึ่งอยู่ในบริเวณเดียวกับศูนย์ฉายรังสี ได้ถูกโอนกิจการมาอยู่ในความดูแลของ สทน. ซึ่ง สทน.ก็ไม่ได้ดำเนินกิจกรรมใดๆในส่วนของศูนย์ธาตุยากเช่นกัน

2. ในกรณีที่การตั้งข้อสงสัยว่ากิจกรรมการดำเนินการของศูนย์ธาตุหายากอาจะทำให้เกิดการปนเปื้อนของธาตุกัมมันตรังสีประเภทเรเดียม-226 ในแหล่งน้ำธรรมชาติ หรือแหล่งน้ำใต้ดินโดยรอบพื้นที่ตั้งโครงการ และอาจจะก่อให้เกิดอันตรายต่อประชาชนที่บริโภคน้ำจากแหล่งน้ำ ประเด็น สทน.ของชี้แจงว่า โครงการธาตุหายากได้ยุติการดำเนินกิจกรรมไปเมื่อราวปี 2548 และเมื่อยุติการดำเนินโครงการ นักวิจัยของ พปส.ในคณะนั้นได้ ได้ขอทุนวิจัย เพื่อดำเนินโครงการประเมินรังสีเรเดียม-226 จากน้ำบริโภคของบุคคลต่างวัย (ปี 2546-2547)  โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อ วิเคราะห์ปริมาณเรเดียมในแหล่งน้ำใต้ดิน และในตัวอย่างน้ำจากคลองชลประทานซอยห้า และประเมินปริมาณรังสีต่อปี ของเรเดียม-226 จากการบริโภคน้ำใต้ดินและน้ำจากคลองชลประทานซอยห้า นักวิจัยที่ดำเนินโครงการนี้ระบุประโยชน์ของการศึกษาโครงการนี้ ก็เพื่อทราบค่าปริมาณต่อปีของประชาชน ซึ่งอาศัยอยู่ใกล้ๆศูนย์ธาตุหายากได้รับจากการปริโภคน้ำ และเพื่อเป็นข้อมูลอ้างอิงต่อสาธารณะเกี่ยวกับการปฏิบัติงานของศูนย์ธาตุหายาก ที่ไม่ก่อผลกระทบต่อสุขอนามัยของประชาชนที่อาศัยโดยรอบ

ผลการศึกษาสรุปว่า ค่าเฉลี่ย 2 ปีของปริมาณเรเดียม-226 ในน้ำใต้ดิน และน้ำจากคลองชลประทานซอยห้า อยู่ระหว่าง 3.639 ถึง 8.069 และ 2.956 ถึง 3.781 มิลลิเบ็กเคอเรลต่อลิตร ตามลำดับ ซึ่งต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐานปริมาณเรเดียม-226 ในน้ำดื่มที่องค์การอนามัยโลกกำหนดไว้ที่ 1,000 มิลลิเบ็กเคอเรลต่อลิตร ซึ่งสรุปว่าตัวน้ำอย่างในพื้นที่โดยรอบศูนย์ธาตุหายากปลอดภัยต่อการบริโภคในแง่คุณลักษณะทางรังสี (คิดเฉพาะไอโซโทปรังสีเรเดียม-226) การประเมินค่ารังสียังผล (effective dose) ของเรเดียม-226 พบว่า ปริมาณรังสีเรเดียม-226 สูงสุดต่อปี ที่คำนวนจากน้ำใต้ดินและน้ำในคลองเท่ากับ 13.846 และ 6.486 ตามลำดับ ซึ่งต่ำกว่าค่ามาตรฐานขององค์การอนามัยโลกที่กำหนดไว้ที่ 100 ไมโครซีเวิร์ตต่อปี แสดงน้ำจากทั้งสองแหล่งไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพ

3. เมื่อพื้นที่ของศูนย์ฉายรังสี และศูนย์ธาตุหายาก ถูกโอนมาอยู่ในความดูแลของ สทน. และยังมีแร่โมนาไซด์จำนวนประมาณ 600 ตันถูกจัดเก็บไว้ในพื้นที่ของศูนย์ธาตุหายาก ประกอบกับในพื้นที่ของ สทน.คลองห้า ยังมีศูนย์ฉายรังสี ซึ่งให้บริการฉายรังสีอาหารและผลิตผลทางการเกษตร สทน.จึงถือว่าพื้นที่นี้เป็นพื้นที่ดำเนินกิจกรรมด้านนิวเคลียร์และรังสี ซึ่งต้องมีมาตรการเฝ้าระวังความปลอดภัยซึ่งต้องเป็นไปตามมาตรฐาน สำหรับการปฏิบัติงานของสถานประกอบการด้านนิวเคลียร์และรังสี ดังนั้นนอกจากขั้นตอนการปฏิบัติงานตามมาตรฐานเพื่อความปลอดภัยสูงสุดแล้ว ฝ่ายความปลอดภัยของ สทน.จะดำเนินการสอบทานการดำเนินกิจกรรมของฝ่ายต่างในสทน.เพื่อสร้างความมั่นใจว่าการดำเนินกิจกรรมทางด้านนิวเคลียร์และรังสีของ สทน. มีความปลอดภัยต่อประชาชนและสิ่งแวดล้อมตามข้อกำหนดของกฎหมาย อีกทั้งเพื่อเฝ้าระวังความผิดปกติของปริมาณรังสีในสิ่งแวดล้อมโดยรอบบริเวณที่ตั้งของ สทน. พื้นที่คลองห้า และใช้เป็นข้อมูลพื้นฐานการตรวจวัดปริมาณรังสีในสิ่งแวดล้อม ในการดำเนินกิจกรรมทางด้านนิวเคลียร์และรังสีของ สทน.

กิจกรรมดำเนินการตรวจวัดกัมมันตภาพรังสีในตัวอย่างสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอ เพื่อเฝ้าระวังปริมาณรังสีในสิ่งแวดล้อม โดยทำการเก็บตัวอย่างสิ่งแวดล้อมและตรวจวัดปริมาณรังสีโดยรอบพื้นที่ของ สทน. คลองห้า ได้แก่ การนำตัวอย่างดินผิวหน้า ตะกอนดิน น้ำผิวดิน น้ำใต้ดิน เพื่อทำการตรวจวัดและวิเคราะห์ปริมาณกัมมันตภาพรังสี และสทน.มีสถานีเฝ้าตรวจทางไกลที่ทำงานแบบต่อเนื่องตลอด 24 ชั่วโมง ภายในพื้นที่ของ สทน. นอกจากนี้ยังได้ทำการตรวจวัดอัตราปริมาณรังสีภาคสนามภายนอกพื้นที่ของ สทน. คลองห้า

ผลการวิเคราะห์ปริมาณรังสีในสิ่งแวดล้อม จากตัวอย่างที่ฝ่ายความปลอดภัยดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง ปริมาณรังสีต่ำกว่าค่ามาตรฐานที่กำหนดทุกตัวอย่าง และไม่เกินค่ามาตรฐานที่ประชาชนทั่วไปได้รับต่อปี คือ 1 มิลลิซีเวิร์ด/ปี นั่นหมายความว่าการดำเนินกิจกรรมของ สทน.ที่คลอง 5 ไม่ต้องผลกระทบต่อสภาพแวดล้อม และประชาชนในพื้นที่โดยรอบ

4. เมื่อเกิดสถานการณ์น้ำท่วมครั้งใหญ่ปี 2554 พื้นที่โดยรอบเทคโนธานี เป็นพื้นที่น้ำท่วมสูง จึงถูกตั้งข้อสังเกตว่าน้ำท่วมในครั้งนั้น จะมีการปนเปื้อนธาตุกัมมันตรังสีจากศูนย์ธาตุหายาก และโรงเก็บกากกัมมันตรังสีที่ 3 ไปกับน้ำ และส่งผลกระทบกับประชาชนโดยรอบ และไหลลงสู่สระเก็บน้ำพระราม 9 ซึ่งเป็นแก้มลิงสำคัญในพื้นที่รังสิต ในประเด็นนี้ สทน.ขอชี้แจงว่า

4.1 เหตุการณ์น้ำท่วมในครั้งนั้น อาคารเก็บกากกัมมันตรังสีโรงที่ 3 น้ำไม่เข้าโรงเก็บกาก เนื่องจาก สทน.จัดทำคันกั้นน้ำ น้ำจึงไม่สามารถท่วมโรงเก็บกากกัมมันตรังสี

4.2 น้ำท่วมอาคารเก็บแร่โมนาไซด์ แต่เนื่องจากแร่โมนาไซด์ก็คือ ทราย ที่ยังไม่ถูกสกัดนำธาตุหายากออกมา จึงมีน้ำหนักประกอบกับอยู่ในอาคารที่ปิดมิดชิด แร่โมนาไซด์ที่อยู่ในรูปของทรายจึงตกตะกอนอยู่ภายในอาคารไม่ได้ถูกพัดพา และธาตุหายากที่อยู่ในแร่โมนาไซด์ไม่สามารถปนเปื้อนกับน้ำได้ เพราะการสกัดแร่ธาตุหายากออกจากโมนาไซด์ ต้องผ่านกระบวนการเคมีหลายขั้นตอน จึงเป็นไปไม่ได้ที่แร่กัมมันตรังสีจะแยกตัวออกมาได้

5. สทน.มีภารกิจหน้าที่สำคัญในการให้บริการจัดการกากกัมมันตรังสีทั่วประเทศที่มีการใช้งานสารกัมมันตรังสี และต้องถูกจัดเก็บอย่างถูกต้องและปลอดภัยตามมาตรฐานสากล ปัจจุบัน สทน.จึงมีสถานที่สำหรับการเก็บกากกัมมันตรังสีจำนวน 3 แห่งได้แก่ แห่งแรกคือที่ สทน.จตุจักร สทน.คลอง 5 และ สทน.องครักษ์ สำหรับโรงเก็บกากกัมมันตรังสี โรงที่ 3 ที่ต้องอยู่ในพื้นที่ของ สทน.คลอง 5 ใช้จัดเก็บกากกัมมันตรังสีชนิดไม่ปิดผนึกที่ผ่านการบำบัดแล้ว เช่น ขี้เถ้า แก้ว แล้วบรรจุลงในถังเหล็กปริมาตร 200 ลิตร และ จัดเก็บกากกัมมันตรังสีชนิดไม่ปิดผนึกที่ไม่ผ่านการบำบัด เช่น เรซิน ดิน โลหะเปื้อนรังสี ตลอดจนกากกัมมันตรังสีชนิดไม่ปิดผนึกที่ผ่านการแปรสภาพด้วยซีเมนต์โดยบรรจุลงในถังเหล็กปริมาตร 200 ลิตรเป็นโรงเก็บกากกัมมันตรังสี

ปัจจุบันโรงเก็บกากกัมมันตรังสีที่ 3 จัดเก็บผลิตภัณฑ์กากกัมมันตรังสี จำนวน 340 ถัง (ข้อมูล ณ วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564) ดังแสดงรายละเอียดในตาราง แสดงจำนวนผลิตภัณฑ์กากกัมมันตรังสี ที่จัดเก็บ ณ โรงเก็บกากกัมมันตรังสี 3

อาคารเก็บรักษากากกัมมันตรังสีแห่งนี้ ถูกออกแบบและสร้างขึ้นพร้อมมีมาตรการดูแลด้านความปลอดภัยทางรังสี ความมั่นคงปลอดภัย มีการติดตั้งระบบควบคุมการเข้า-ออก ระบบตรวจวัดระดับรังสี การตรวจเช็คการเก็บรักษากาก และการตรวจวัดปริมาณรังสีโดยรอบอาคารเก็บรักษากากกัมมันตรังสีซึ่งมีค่าเท่ากับปริมาณรังสีในสิ่งแวดล้อม การดำเนินงานเป็นไปตามระบบบริหารคุณภาพ ISO9001 และ ISO14001 โดยมีการติดตามตรวจสอบจากหน่วยงานภายนอกตามระบบมาตรฐานคุณภาพ จากหน่วยกำกับดูแลหรือสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ และอยู่ภายใต้การควบคุมดูแลตามอนุสัญญาร่วมด้านความปลอดภัยการจัดการกากกัมมันตรังสีของทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ หรือ IAEA

6. จากบทความที่ระบุว่าอาคารในพื้นที่ สทน.คลอง 5 ไม่มีหลังคาคลุม อาจทำให้เกิดการฟุ้งกระจายของธาตุกัมมันตรังสีออกสู่สิ่งแวดล้อม ในประเด็นนี้ไม่เป็นความจริง อาคารในพื้นที่ทุกอาคารมีหลังคา และใน สทน.คลอง 5 มีเครื่องวัดปริมาณรังสีในสิ่งแวดล้อม ซึ่งสามารถดูค่าปริมาณรังสีในอากาศได้แบบ real time และค่าที่รังสีปรกติในสิ่งแวดล้อม

“สทน.ขอยันยันว่า ทุกขั้นตอนในการปฏิบัติงานของ สทน. คำนึงถึงความปลอดภัยของผู้ปฏิบัติงาน และผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นกับสิ่งแวดล้อม และประชาชนโดยรอบของสถานประกอบการเป็นสำคัญ  และสทน.เป็นหน่วยงานของรัฐที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน ISO 9001 และมาตรฐานห้องปฏิบัติการ ISO 14001 เกี่ยวกับระบบจัดการสิ่งแวดล้อม ห้องปฏิบัติการ ISO 17025 ว่าด้วยมาตรฐานการ ความสามารถห้องปฏิบัติการในการดำเนินการทดสอบหรือสอบเทียบ ซึ่งการได้รับมาตรฐานเหล่านี้แสดงให้เห็นว่า สทน.ต้องปฏิบัติงานตามข้อกำหนดต่างๆที่เกี่ยวข้องด้วยความรอบคอบและสม่ำเสมอ เป็นไปไม่ได้ที่ สทน.จะละเลยหรือไม่ดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่ง และที่สำคัญไปกว่านั้นคือ สทน.ต้องถูกตรวจติดตามจากหน่วยงานขององค์การสหประชาชาติ คือ IAEA ที่จะส่งผู้เชี่ยวชาญมาติดตามการปฏิบัติงาน และตรวจสอบความถูกต้องในทุกๆปี

พื้นที่ศูนย์ฉายรังสี และศูนย์ธาตุหายากก่อตั้งมามากกว่า 30 ปี และเป็นอาคารปฏิบัติการกิจกรรมทางด้านนิวเคลียร์และรังสีมาโดยตลอด จนกระทั่งมีหน่วยงานด้านวิทยาศาสตร์ อีกหลายหน่วยงานมาตั้งสำนักงานใหญ่อยู่ที่เทคโนธานีแห่งนี้ หากการปฏิบัติงานของศูนย์ฉายรังสี และศูนย์ธาตุหายาก มีความอันตรายหรือส่งผลกระทบกับสิ่งแวดล้อมหรือประชาชนโดยรอบ ผมเชื่อว่าหน่วยงานด้านวิทยาศาสตร์อื่น ๆก็คงจะไม่ได้รับการอนุญาตให้เข้ามาตั้งสำนักงานในพื้นที่เทคโนธานีแห่งนี้ และการดำเนินกิจกรรมของ สทน.เป็นไปตามภารกิจที่ได้รับมอบหมายจากรัฐบาล เพื่อส่งเสริมการนำเทคโนโลยีนิวเคลียร์ไปใช้ประโยชน์ต่อภาคธุรกิจ และส่งเสริมคุณภาพชีวิตที่ดีแก่ประชาชน และไม่ส่งผลกระทบกับประชาชนและสิ่งแวดล้อมอย่างแน่นอน” รศ.ดร.ธวัชชัย กล่าวในตอนท้าย

5 มีนาคม 2564


บริษัท มีเดีย เน็ทเวิร์ค จำกัด
138, 140 ซอยอนามัย ถนนศรีนครินทร์ แขวงสวนหลวง เขตสวนหลวง กรุงเทพฯ 10250
MEDIA NETWORK Co.,Ltd
138, 140 Soi Anamai Srinakarin Road Suanluang Suanluang Bangkok 10250
Tel. 02 721 4417 Fax. 02 721 5516
E-mail : phototechthailand@gmail.com


ติดต่อโฆษณาหรือข้อมูลเพิ่มเติม
โทร. 02 721 4417 , 097 921 2929 คุณขวัญ

แฟนเพจ Phototech Magazine


ออกแบบโดย touronthai