สกสว. เปิดเวทีรับฟังความเห็น แผนงานวิจัยและนวัตกรรมด้านดิจิทัลและปัญญาประดิษฐ์ เพื่ออุตสาหกรรมเกษตรและอาหาร ครั้งที่ 1

 เมื่อเร็ว ๆ นี้  สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ได้จัดงานเสวนาออนไลน์รับฟังความคิดเห็นแผนงานวิจัยและนวัตกรรมด้านดิจิทัลและปัญญาประดิษฐ์ เพื่ออุตสาหกรรมเกษตรและอาหาร ครั้งที่ 1 ในหัวข้อ Traceability from Farm to Table for World Kitchen and New Economy after COVID-19 จากการที่ สกสว. มีบทบาทในการจัดทำนโยบาย แผนยุทธศาสตร์ และกรอบงบประมาณเพื่อจัดสรรทุนด้านวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (ววน.) ของประเทศ จึงได้จัดงานเสวนาเพื่อระดมสมองและรับฟังความคิดเห็นกรอบแนวทางการส่งเสริมและสนับสนุนการวิจัยและนวัตกรรมด้านดิจิทัลและปัญญาประดิษฐ์เพื่ออุตสาหกรรมเกษตรและอาหารของไทย

รศ.ดร. ปัทมาวดี โพชนุกูล ผู้อำนวยการ สกสว. กล่าวว่า ปัจจุบันเทคโนโลยีดิจิทัลได้เข้ามามีบทบาทในภาคการเกษตร ช่วยลดต้นทุนการผลิตและทำให้เกิดระบบ Smart Farm ในปัจจุบันความปลอดภัยด้านอาหาร (Food Safety) เป็นเรื่องที่สำคัญ โดยเฉพาะหลังจากการระบาดของ COVID-19 ทำให้การตรวจสอบย้อนกลับสินค้าเกษตรและอาหาร (Traceability) มีความสำคัญมากขึ้น ในขณะที่ระบบ Traceability ที่มีอยู่เดิมเกิดช่องว่าง

จึงจำเป็นต้องนำเทคโนโลยีดิจิทัลและปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence – AI) เข้ามาช่วยลดช่องว่า เพิ่มประสิทธิภาพ ซึ่งระบบ Traceability จะตอบโจทย์ของประเทศไทยในการเป็นครัวของโลก

คุณครรชิต สุขเสถียร รองเลขาธิการ สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) กล่าวว่า มกอช. ได้ส่งเสริมให้เกษตรกรที่ได้การรับรองมาตรฐานจาก มกอช. ใช้ระบบ Traceability เพื่อสนับสนุนสินค้าเกษตรไทยให้แข่งขันกับต่างประเทศได้ และสร้างความมั่นใจในสินค้าเกษตรไทยว่าปลอดภัยและได้มาตรฐาน โดยได้พัฒนาระบบบันทึกข้อมูลสินค้าเกษตรบน Cloud ให้เกษตรกรเข้ามาใช้งานได้ฟรี และสามารถสร้าง QR Code ที่ผู้บริโภคสามารถตรวจสอบรายละเอียดแหล่งที่มาของสินค้าเกษตรได้ รวมทั้งได้จัดทำ website DGT Farm (Digital Farm) เพื่อเป็นช่องทางในการจำหน่ายสินค้าเกษตรที่ได้มาตรฐาน ซึ่งในอนาคตมีแผนที่จะพัฒนาให้เป็น Online Platform ที่ผู้ผลิตและผู้บริโภคมีความมั่นใจในการซื้อขายสินค้าเกษตรต่อไป

คุณธนพล ภู่พันธ์ศรี ที่ปรึกษาฝ่ายพัฒนาการตลาดและต่างประเทศ ตลาดกลางผักและผลไม้ศรีเมือง จังหวัดราชบุรี กล่าวว่า การทำ Traceability ในภาคการเกษตรของไทย จะต้องคำนึงถึงเกษตรกรที่เป็นแปลงเล็กเป็นส่วนใหญ่ ความเข้าใจห่วงโซ่คุณค่า (Value Chain) ของการซื้อขายสินค้าเกษตรไทย ขณะที่เกษตรกรจะต้องเห็นคุณค่าของการทำ Traceability รวมทั้งกลุ่มตลาดกลางต้องเข้ามาสนับสนุนระบบ Traceability ให้กับเกษตรกร รวมทั้งนำข้อมูลจาก Traceability มาช่วยในการซื้อขายสินค้าเกษตร เพื่อให้ได้ข้อมูลราคาสินค้าเกษตร สามารถแนะนำพืชผลทางการเกษตรที่ขายได้ราคาดีให้กับเกษตรกร รวมทั้งการสร้างความร่วมมือข้อมูลสินค้าเกษตรของประเทศกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

คุณอนันต์ ชัยกิจวัฒนะ ผู้จัดการฝ่ายพัฒนาธุรกิจสมุนไพรและสารสกัด บริษัท ทิปโก้ ไบโอเท็ค จำกัด กล่าวว่า บริษัทฯ ได้ทำ Traceability ผลิตภัณฑ์สมุนไพร เป็นรายแรก ๆ ของไทย โดยเริ่มจากกระชายดำ ซึ่งความต้องการส่งออกสูง แต่วัตถุดิบไม่เพียงพอ จึงแก้ปัญหาโดยการทำ Contract Farming และลูกค้ามีความต้องการระบบ Traceability แต่ปัจจุบันยังไม่ได้นำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้โดยสมบูรณ์ ขณะที่โรงงานผลิตหรือสกัดสมุนไพรในประเทศที่มีการทำ Traceability มีจำนวนน้อยมาก จึงมองว่าเป็นช่องว่างที่จะทำให้ผู้ประกอบการเห็นความสำคัญและนำ Traceability มาใช้ โดยเสนอแนะแนวทางการนำระบบ Traceability มาใช้ในอุตสาหกรรมสมุนไพรและสารสกัดว่า จะต้องคำนึงถึงความต้องการของลูกค้า สนับสนุนหน่วยงานภาครัฐให้กำหนด Traceability

เป็นข้อบังคับในการรับรองมาตรฐานการผลิต รวมทั้งสร้างแรงจูงใจในด้านราคาผลผลิตในการใช้ Traceability ด้วย

นอกจากนี้ ยังมีผู้ทรงคุณวุฒิอีกหลายท่านร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ซึ่งการทำ Traceability จะช่วยในการสร้างความน่าเชื่อถือของสินค้าเกษตรว่ามาจากแหล่งวัตถุดิบนั้น ๆ จริง รวมถึงการสร้าง Story ของสินค้าเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม ทั้งนี้ เทคโนโลยีดิจิทัลและปัญญาประดิษฐ์จะสามารถนำมาประยุกต์ใช้งานในเรื่อง Traceability ได้นั้น ต้องขึ้นอยู่กับการทำให้ระบบ Traceability ที่ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเข้าถึงเกษตรกรได้ ความพร้อมและความต้องการของตลาดและภาคส่วนต่าง ๆ ของภาคการเกษตร ความคุ้มค่าของการลงทุนระบบ Traceability และการสร้างการรับรู้เรื่อง Traceability กับผู้บริโภค ซึ่งถ้าหากสามารถทำได้จริง จะช่วยยกระดับสินค้าเกษตรและอาหารของไทยให้มีศักยภาพ สู่เป้าหมายของการเป็นครัวโลกและสร้างโอกาสพลิกฟื้นเศรษฐกิจของประเทศหลังการระบาดของ COVID-19 ต่อไป

15 กุมภาพันธ์ 2564


บริษัท มีเดีย เน็ทเวิร์ค จำกัด
138, 140 ซอยอนามัย ถนนศรีนครินทร์ แขวงสวนหลวง เขตสวนหลวง กรุงเทพฯ 10250
MEDIA NETWORK Co.,Ltd
138, 140 Soi Anamai Srinakarin Road Suanluang Suanluang Bangkok 10250
Tel. 02 721 4417 Fax. 02 721 5516
E-mail : phototechthailand@gmail.com


ติดต่อโฆษณาหรือข้อมูลเพิ่มเติม
โทร. 02 721 4417 , 097 921 2929 คุณขวัญ

แฟนเพจ Phototech Magazine


ออกแบบโดย touronthai