สกสว. เชิญผู้ทรงคุณวุฒิระดับแนวหน้า ร่วมระดมสมอง “พัฒนาระบบ ววน. ไทย”

สกสว. จัดเวทีประชุมระดมความคิดเห็น “การพัฒนาระบบวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมของประเทศไทย” โดยมีผู้ทรงคุณวุฒิทั้งจากภาครัฐ เอกชนและนักวิชาการ ร่วมระดมสมองให้ความคิดเห็นเกี่ยวกับการพัฒนาระบบวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) ของประเทศไทย เป้าหมายเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการขับเคลื่อนระบบ ววน. ในปี พ.ศ. 2566-2570 ยกระดับการพัฒนาประเทศไทย

วันนี้ (12 มกราคม 2564) สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) จัดประชุมระดมความคิดเห็น “การพัฒนาระบบวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมของประเทศไทย” โดยมีผู้ทรงคุณวุฒิระดับแนวหน้าของประเทศจากหลากหลายภาคส่วน เช่น คณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กสว.) / คณะกรรมการอำนวยการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม / คณะกรรมการติดตามและประเมินผลการสนับสนุนวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ซึ่งคณะกรรมการทั้ง 3 ชุดนี้ เป็นบอร์ดที่กำกับดูแลการทำงานของ สกสว. และกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กองทุนส่งเสริม ววน.) นอกจากนี้ยังมีผู้ทรงคุณวุฒิจากคณะกรรมการขับเคลื่อนการปฏิรูปการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม รวมถึงผู้บริหารหน่วยงานในระบบ ววน. และผู้แทนจากภาคเอกชน ร่วมให้ความคิดเห็นเกี่ยวกับการพัฒนาระบบ ววน. ของประเทศไทย เป้าหมายเพื่อนำไปสู่การพัฒนาระบบ ววน. ของประเทศไทย ในปี พ.ศ.2566-2570 รวมถึงเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของ สกสว. ในการขับเคลื่อนระบบ ววน. เพื่อยกระดับการพัฒนาประเทศไทย โดยการประชุมครั้งนี้มีผู้เข้าร่วมประชุมมากกว่า 100 คน ผ่านระบบการประชุมออนไลน์ (E-Meeting)

โอกาสนี้ รศ.ดร.ปัทมาวดี โพชนุกูล ผู้อำนวยการ สกสว. กล่าวว่า การประชุมวันนี้ถือเป็นการประชุมระดมสมองรับฟังความคิดเห็นจากผู้ทรงคุณวุฒิครั้งสำคัญ หลังจากที่มีการปฏิรูประบบวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมของประเทศ เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2562 จนถึงปัจจุบันการปฏิรูปเริ่มมีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น เกิดการขับเคลื่อนระบบ ววน. ของประเทศ โดยการประชุมครั้งนี้ สกสว. ได้นำเสนอภาพรวมการทำงานในเชิงระบบ พร้อมทั้งรับฟังความคิดเห็นจากผู้ทรงคุณวุฒิเพื่อนำไปสู่การพัฒนาระบบ ววน. ของประเทศ โดยเริ่มจากระดมความคิดเห็นการพัฒนาระบบ ววน. 3 ด้าน ประกอบด้วย ระบบวิจัยและนวัตกรรมด้านเศรษฐกิจ ร่วมสร้างความสามารถของเอกชนเพื่อมุ่งเศรษฐกิจฐานนวัตกรรม ยกระดับห่วงโซ่อุตสาหกรรมเป้าหมาย เชื่อมต่อและกระจายสู่เศรษฐกิจฐานราก ผ่านการบริหารจัดการที่มีส่วนร่วมแบบจตุรภาคี (Quadruple helix) , ระบบวิจัยและนวัตกรรมด้านสังคม เป้าหมายเพื่อก่อให้เกิดการสร้างและใช้องค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เพื่อการบริหารจัดการทุนและทรัพยากร (Capitals and Resources) ในการสร้างคุณค่า และโอกาสการเข้าถึงทุนและทรัพยากรของประเทศ ที่สอดคล้องกับความซับซ้อนและหลากหลายของผู้คนและบริบททางสังคม รวมทั้งขจัดความยากจน ลดความเหลื่อมล้ำในทุกมิติ แก้ปัญหาความท้าทายทางสังคม และเป็นการวางรากฐานให้เกิดสังคมคุณภาพ และ ระบบวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อสร้างความรู้พื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์และสหวิทยาการ พัฒนากำลังคน พัฒนาเทคโนโลยีฐานที่สำคัญ รวมถึงสนับสนุนโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นอย่างเป็นระบบ ที่จะนำไปสู่การพัฒนาและสร้างนวัตกรรมใหม่ เพื่อให้ประเทศไทยมีขีดความสามารถในการแข่งขันสูงขึ้นและบรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน และสร้างความตระหนักรู้และวิถีคิดเชิงวิทยาศาสตร์ (Scientific thinking) เพื่อให้เกิดสังคมฐานความรู้ (Knowledge-based society) และเกิดการใช้ประโยชน์จากความรู้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และสหวิทยาการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ทางด้าน รศ.ดร. พงศ์พันธ์ แก้วตาทิพย์ รักษาการรองผู้อำนวยการด้านการพัฒนาระบบและเครือข่าย ววน. กล่าวว่า ปัจจุบัน สกสว. มีบทบาทสำคัญตามพระราชบัญญัติสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ พ.ศ. 2562 ทำหน้าที่ส่งเสริม สนับสนุน และขับเคลื่อน ระบบการวิจัยและนวัตกรรมของประเทศด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี สังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ และสหวิทยาการ โดยแบ่งเป็น 5 บทบาทสำคัญประกอบด้วย 1.จัดทำแผนด้าน ววน. ของประเทศ 2.จัดสรรงบประมาณจากกองทุนส่งเสริม ววน. โดย สกสว. มุ่งหวังให้เกิดการจัดสรรงบประมาณในรูปแบบ Block Grant – Multiyear 3.เสริมพลังการขับเคลื่อนระบบ ววน. 4.สร้างระบบการนำผลงาน ววน. ไปใช้ประโยชน์ 5. ประเมินผลการดำเนินงานของระบบ ววน. ของประเทศ โดยระบบการติดตามและประเมินผลของกองทุนส่งเสริม ววน. นั้น เป้าหมายคือการประเมินเพื่อก่อให้เกิดการพัฒนา โดยกรอบการติดตามและประเมินการสนับสนุนวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เน้นหลักการ Double-loop Learning ที่มีทั้งการการประเมินผลงานวิจัยและนวัตกรรม และการประเมินผลการดำเนินงานของหน่วยงาน ดูประสิทธิภาพและประสิทธิผลของการนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ ผลลัพธ์และกลุ่มผลกระทบของผลงาน ววน. (Outcome and Impact Pathway)

อย่างไรก็ตาม การประชุมระดมสมองในครั้งนี้ถือเป็นเวทีสำคัญในการระดมความคิดเห็นจากผู้ทรงคุณวุฒิเพื่อร่วมกันพัฒนาระบบ ววน. ของประเทศไทยปี พ.ศ.2566 – 2570 เพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาประเทศ โดยการประชุมในครั้งนี้ผู้ทรงคุณวุฒิต่างชี้ให้เห็นถึงแนวทางการพัฒนาที่สำคัญ ที่มองบทบาทของ สกสว. ไม่ใช่แค่ทำหน้าที่จัดสรรงบประมาณด้าน ววน. เท่านั้น แต่ สกสว. ยังมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนงานเชิงระบบ เพื่อก่อให้เกิดการขับเคลื่อนระบบ ววน. ที่เป็นกลไกสำคัญในการพัฒนาประเทศ โดยต่อจากนี้ สกสว. จะรวบรวมความคิดเห็นทั้งหมดเพื่อนำมาประกอบการออกแบบการทำงานและพัฒนาระบบ ววน. ของประเทศไทย ให้เป็นกลไกสำคัญในการพัฒนาประเทศ อย่างที่สังคมคาดหวัง

12 มกราคม 2564


บริษัท มีเดีย เน็ทเวิร์ค จำกัด
138, 140 ซอยอนามัย ถนนศรีนครินทร์ แขวงสวนหลวง เขตสวนหลวง กรุงเทพฯ 10250
MEDIA NETWORK Co.,Ltd
138, 140 Soi Anamai Srinakarin Road Suanluang Suanluang Bangkok 10250
Tel. 02 721 4417 Fax. 02 721 5516
E-mail : phototechthailand@gmail.com


ติดต่อโฆษณาหรือข้อมูลเพิ่มเติม
โทร. 02 721 4417 , 097 921 2929 คุณขวัญ

แฟนเพจ Phototech Magazine


ออกแบบโดย touronthai