สกสว. เผยสถานการณ์โควิด19 ส่งผลกระทบต่อภาคอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย

สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) เปิดเผยถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด19 ที่ส่งผลกระทบต่อภาคอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย ทำให้ผู้ประกอบการปรับลดกำลังการผลิต ด้านนักวิจัยเสนอภาครัฐ เร่งวางกลุยทธ์เปลี่ยนผ่านเข้าสู่การผลิตยานยนต์พลังงานทางเลือก

รศ.ดร.ปัทมาวดี โพชนุกูล ผู้อำนวยการ สกสว. เปิดเผยว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด19 ในรอบปีที่ผ่านมา ทำให้ปัจจุบัน สกสว. มีการการปรับแผนด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) ปี 2563 – 2565 โดยในปี 2564 มีการเพิ่มโปรแกรมที่ 17 การแก้ปัญหาวิกฤตของประเทศ เพื่อรองรับสถานการณ์การแพร่ระบาดของวิกฤตโควิด-19 โดยมีการจัดสรรงบประมาณให้กับหน่วยบริหารและจัดการทุนวิจัย หรือ ‘พีเอ็มยู’ (PMU: Program Management Unit) รวมทั้งสิ้น 7 พีเอ็มยู และจัดสรรงบประมาณจากกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมมากกว่า 1,000 ล้านบาท ก่อให้เกิดผลงานวิจัยและนวัตกรรมที่ตอบรับวิถีชีวิตใหม่ (New Normal) โดย สกสว. มุ่งหวังว่าแผนด้าน ววน. จะเป็นเครื่องมือในการสนับสนุนและส่งเสริมระบบวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมของประเทศ เป็นกลไกในการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศ

ทางด้าน รศ.ดร. อาชนัน เกาะไพบูลย์ นักวิจัยโครงการการเปลี่ยนแปลงของภาคอุตสาหกรรมหลังวิกฤต COVID-19 เปิดเผยว่า อุตสาหกรรมยานยนต์เป็นหนึ่งอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตโควิด-19 อย่างรุนแรง โดยเฉพาะในช่วงการใช้มาตรการ lockdown ภายในประเทศ ความต้องการที่ชะลอตัวทั้งจากตลาดภายในประเทศและตลาดส่งออกลดลงอย่างมาก เรื่องดังกล่าวซ้ำเติมปัญหากำลังการผลิตส่วนเกินที่มีอยู่ก่อนหน้าผู้ประกอบการจำนวนมากจึงปรับตัวด้วยการลดกำลังผลิต การลดชั่วโมงทำงาน และปลดคนงานชั่วคราว ความรุนแรงของวิกฤตโควิด19 ในระยะแรกทำให้ผู้ประกอบการหลายรายคาดว่ายอดการผลิตจะลดลงเหลือเพียง 0.5-0.7 ล้านคันและทำให้ตัดสินใจปลดแรงงานประจำที่เป็นแรงงานฝีมือ และจ่ายค่าชดเชยการเลิกจ้าง และพยายามประคองกระแสเงินสดจากยอดขายที่หยุดชะงักฉับพลัน และเกิดขึ้นในทุกส่วนของซัพพลายเชนไม่ว่าจะเป็นกลุ่ม Pure OEM กลุ่มทำตลาด OEM และ REM พร้อมกัน และกลุ่มที่ทำเฉพาะตลาด REM ในขณะที่ทางเลือกการปรับตัวของผู้ผลิตชิ้นส่วนในซัพพลายเชนแตกต่างกันตามตำแหน่งในซัพพลายเชน ผู้ผลิตกลุ่ม Pure OEM มักมีทางเลือกไม่มากนัก แนวทางจึงเป็นการบริหารกระแสเงินสดและปลดคนงานเพื่อลดภาระทางการเงิน บางรายอาจขยายกลุ่มลูกค้าไปยังคลัสเตอร์ของรถยนต์ค่ายอื่น เช่น ค่ายรถจีน กลุ่มที่ทำตลาด OEM และ REM พร้อมกัน วันนี้มีทางเลือกปรับตัวมากกว่า และเริ่มหันไปทำตลาด REM เพิ่มขึ้นพร้อมกับ และกลุ่มที่ทำ Pure REM วันนี้อาจหันไปพึ่งพาช่องทางจำหน่ายอย่างออนไลน์เพิ่มขึ้น

ภายหลังการผ่อนคลาย lockdown ความต้องการซื้อรถยนต์และชิ้นส่วนทั้งในและต่างประเทศฟื้นตัวอย่างรวดเร็วและกลับมาอยู่ระดับใกล้เคียงช่วงก่อน lockdown อันเนื่องจากหลาย ๆ สาเหตุ เช่น สงครามราคาระหว่างบริษัทรถยนต์ ผลกระทบของวิกฤตโควิด19 ในต่างประเทศที่ทำให้คำสั่งซื้อถูกถ่ายโอนมาที่ไทย เป็นต้น ยอดการผลิตในปี พ.ศ.2563 ทั้งปีคาดว่ามากถึง 1.5 -1.7 ล้านคัน (จากเดิม 0.5-0.7 ล้านคัน) แต่ยังต่ำกว่าช่วงก่อนเกิดวิกฤต ปัจจุบันโรงงานจึงพยายามใช้แรงงานที่ยังคงเหลือ แต่ยังไม่มีการจ้างแรงงานเพิ่มเติมเพื่อให้การผลิตมีความยืดหยุ่นต่อ Shock ที่อาจจะเกิดขึ้นได้ในอนาคต
จนถึงกันยายน พ.ศ. 2563 วิกฤต COVID-19 ยังไม่ได้ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงซัพพลายเชนอย่างมีนัยสำคัญยกเว้นเพียงบางชิ้นส่วนที่ต้องพึ่งพาการนำเข้าจากจีนเล็กน้อย ทั้งนี้เพราะลักษณะอุตสาหกรรมยานยนต์ที่พัฒนาในลักษณะ Cluster ที่มีบริษัทรถยนต์อยู่ใจกลาง Cluster และล้อมด้วยผู้ผลิตชิ้นส่วน ดังนั้นการผลิตรถยนต์ของไทยในปัจจุบันจึงพึ่งพาการชิ้นส่วนภายในประเทศเป็นจำนวนมาก
กระแสหนึ่งที่เกิดขึ้นท่ามกลางวิกฤตโควิด19 คือ การตื่นตัวให้ไปผลิตรถยนต์ไฟฟ้าแทนการใช้เครื่องยนต์ระบบสันดาบภายในซึ่งกำลังลดบทบาทความสำคัญลง แต่การลดลงดังกล่าวไม่ได้หมายถึงรถไฟฟ้าเสมอไป แต่ยังมีทางเลือกอื่น ๆ เช่น Plug-in Hybrid และ Hybrid เรื่องดังกล่าวเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงหลายปีที่ผ่านมา แต่วิกฤต COVID-19 ที่ทำให้ความต้องการซื้อลดลงและทำให้บริษัทรถยนต์จำนวนมากต้องพยายามนำเอาพลังงานทางเลือกมาเป็นจุดขายเพื่อรักษา หรือแย่งลูกค้าจากคู่แข่ง

สำหรับไทยที่เป็นฐานการผลิตรถยนต์เครื่องสันดาบที่สำคัญแห่งหนึ่งของโลก ความท้าทายที่สำคัญ คือ การวางแผนยุทธศาสตร์ให้เหมาะสมเพื่อให้การเปลี่ยนผ่านที่เกิดขึ้นมีความเสียหายต่ำที่สุด คณะนักวิจัยเชื่อว่าการเปิดกว้างในทางเลือกของพลังงานโดยยึดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมเป็นเป้าหมายสุดท้าย แทนการตีกรอบที่พลังงานประเภทใดประเภทหนึ่งเป็นพิเศษน่าจะเหมาะสมกว่า เรื่องดังกล่าวสอดคล้องกับการขับเคลื่อนภายใต้กรอบยานยนต์แห่งอนาคตที่เป็นอยู่ ในขณะที่กระตุ้นให้ภาคเอกชนแข่งขันกันในการนำเสนอทางเลือกกับผู้บริโภค พร้อม ๆ กับการเตรียมความพร้อมในด้านโครงสร้างพื้นฐานอื่น ๆ ที่จำเป็นสำหรับการเปลี่ยนผ่าน เช่น ความเพียงพอของสถานีชาร์จ การปรับเปลี่ยนระบบไฟฟ้าในบ้านในเหมาะสมและเพียงพอกับกำลังไฟฟ้าที่จะเพิ่มขึ้น รวมไปถึงการจัดการกับแบตเตอรี่ที่หมดอายุการใช้งาน เป็นต้น การส่งเสริมรถยนต์ไฟฟ้าควรทำแบบมีเป้าหมายเฉพาะกลุ่มที่ภาครัฐสามารถมีบทบาทช่วยเหลือโดยไม่กระทบต่อบรรยากาศการแข่งขัน เช่น รถขนส่งมวลชนสาธารณะ เป็นต้น นอกจากนั้นความพยายามสร้างซัพพลายเชนภายในประเทศผ่านมาตรการบังคับใช้ชิ้นส่วนภายในประเทศต้องทำบนพื้นฐานความเป็นจริงซึ่งเป็นจุดเด่นของไทยในการดำเนินนโยบายดังกล่าวในอดีตและทำให้อุตสาหกรรมยานยนต์พัฒนามาถึงจุดนี้ได้

วิกฤตโควิด19 ทำให้ภาครัฐยิ่งต้องให้ความสำคัญกับการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันให้กับผู้ประกอบการภายในประเทศ ซึ่งสามารถทำได้ในหลาย ๆ ด้าน เช่น การเดินหน้านำเอาระบบ eGovernment และ/หรือเอาเทคโนโลยี Digital เข้ามาช่วยลดความล่าช้าและความซ้ำซ้อนในระบบราชการโดยเฉพาะในเรื่องการรับรองมาตรฐานด้านต่าง ๆ ที่วันนี้ทวีความสำคัญมากขึ้นและเป็นอุปสรรคที่ผู้ประกอบการกล่าวอ้างถึงมากที่สุด การเร่งคืนภาษีหัก ณ ที่จ่ายเพื่อเพิ่มสภาพคล่องให้กับผู้ประกอบการภายในประเทศ และการอำนวยความสะดวกของการเข้ามาของผู้เชี่ยวชาญในต่างประเทศที่มีความจำเป็นมากขึ้นท่ามกลางการแข่งขันที่รุนแรงอย่างในปัจจุบัน

22 ธันวาคม 2563


บริษัท มีเดีย เน็ทเวิร์ค จำกัด
138, 140 ซอยอนามัย ถนนศรีนครินทร์ แขวงสวนหลวง เขตสวนหลวง กรุงเทพฯ 10250
MEDIA NETWORK Co.,Ltd
138, 140 Soi Anamai Srinakarin Road Suanluang Suanluang Bangkok 10250
Tel. 02 721 4417 Fax. 02 721 5516
E-mail : phototechthailand@gmail.com


ติดต่อโฆษณาหรือข้อมูลเพิ่มเติม
โทร. 02 721 4417 , 097 921 2929 คุณขวัญ

แฟนเพจ Phototech Magazine


ออกแบบโดย touronthai