สกสว. เร่งคลอด ‘แผนวิจัยเอไอการแพทย์’ คล้องแผนแม่บทเอไอชาติ เล็งผลรับมือโควิด - สังคมสูงวัย

15 ธันวาคม 2563  สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.)  กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) จัดเวทีประชุมระดมสมอง “แผนงานวิจัย พัฒนา และนวัตกรรมเทคโนโลยีดิจิทัลปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ) สำหรับงานทางด้านสุขภาพและการแพทย์” ของประเทศไทย ณ โรงแรมเซนต์ รีจิส กรุงเทพฯ 

รศ.ดร.พงศ์พันธ์ แก้วตาทิพย์ รองผู้อำนวยการ  สกสว. กล่าวว่า เมื่อทั้งโลกต้องรับมือกับสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด 19 ทำให้ เอไอมีความต้องการในการใช้งาน โดยเฉพาะในกลุ่มงานทางด้านสุขภาพการแพทย์ รวมถึงการที่ประเทศไทยได้เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ (Aging Society) ทำให้ประเทศจะต้องมีระบบสุขภาพและการรักษาทางการแพทย์ที่มีประสิทธิภาพ   เอไอจึงถูกนำมาใช้เพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพทั้งในมิติของความรวดเร็ว  ลดภาระงานของบุคลากรทางการแพทย์และพยาบาล การประชุมในวันนี้จัดขึ้นเพื่อให้นักวิจัย ภาคเอกชน และผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย  ด้านการแพทย์และสาธารณสุข เข้าร่วมให้ข้อมูลและความเห็นต่อ  (ร่าง) แผนงานวิจัย พัฒนาและนวัตกรรมเทคโนโลยีดิจิทัลปัญญาประดิษฐ์หรือเอไอ สำหรับงานทางด้านสุขภาพและการแพทย์ของประเทศไทย” ที่ สกสว. จัดทำขึ้น ทั้งในมิติการผลิตองค์ความรู้และการต่อยอดเชิงพานิชย์ เพื่อให้การสนับสนุนงบประมาณการวิจัยและนวัตกรรมด้านนี้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ สอดคล้องกับแผนงานวิจัยและนวัตกรรมดิจิทัลปัญญาประดิษฐ์ในแผนแม่บทแห่งชาติ

ต่อมาภายในงานมีการเสวนาเรื่อง “เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ด้านสุขภาพการแพทย์เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของไทย”  เพื่อให้ผู้เข้าร่วมเห็นภาพรวมของแผนแม่บทด้านเอไอของชาติ  ตลอดจนนำเสนอภาพความจำเป็นเร่งด่วน ในการนำเอไอเฉพาะทางด้านการช่วยวินิจฉัยโรค ซึ่งถือเป็นโอกาสใหม่เชิงการแข่งขันของประเทศ    โดย ดร.กาญจนา  วานิชกร รองผู้อำนวยการ สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สวอช.) เปิดเผยข้อมูลว่า ปัจจุบันยังคงมีช่องว่างระหว่างอุปสงค์ของผู้บริโภค  (Demand) และอุปทานของผู้ผลิต (Supply)   ที่จำเป็นต้องทำการศึกษาวิเคราะห์เพื่อการใส่ทรัพยากรลงไปอย่างเหมาะสม 

ในส่วนของ (ร่าง) แผนแม่บทปัญญาประดิษฐ์แห่งชาติเพื่อการพัฒนาประเทศไทย  เกิดจากความร่วมมือกันออกแบบของทุกภาคส่วน  โดยมีกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เป็นเจ้าภาพหลัก ในร่างแผนแม่บทฉบับนี้ ระยะที่ 1 (พ.ศ.2564 – 2565)  นั้น มุ่งเน้น  1.การพัฒนาเทคโนโลยีและประยุกต์ใช้เอไอ นำร่องใน 4 เรื่องสำคัญ คือ การแพทย์ การเกษตร อาหาร และบริการภาครัฐ  2. การสร้างแนวปฏิบัติเกี่ยวกับธรรมาภิบาลข้อมูลเพื่อการประยุกต์ใช้ด้านเอไอ 3.เตรียมพร้อมกำลังคนด้านเอไอ และส่งเสริมผู้ประกอบการใหม่ และ 4.การเตรียมโครงสร้างพื้นฐานด้านข้อมูลและการคำนวณสำหรับเอไอ  สำหรับในระบบวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมของประเทศ (ววน.) มีหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.)  รับหน้าที่หลักในการสนับสนุนทุนวิจัยด้านเอไอ ภายใต้แผนวิจัย “AI for all”  เช่น โครงการพัฒนานักวิจัย วิศวกร ด้านเอไอ ซึ่งถือเป็นการพัฒนาและเพิ่มกำลังคนด้านนี้ เป็นต้น 

ด้าน ดร.นเรศ ดำรงชัย  ผู้ช่วยเลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ด้านวิจัยและนวัตกรรม กล่าวเสริมว่า วงการแพทย์ทั้งไทยและโลกล้วนตื่นตัวเรื่องการใช้เทคโนโลยีมาช่วยอยู่แล้ว โจทย์วิจัยเอไอ ทางการแพทย์ปัจจุบัน มีความหลากหลายมาก  เช่น Virtual Assistant  หมอต้องการผู้ช่วยในการแปลผล เพื่อสร้างความรวดเร็ว แม่นยำในการทำงาน การใช้เอไอมาช่วยในระบบคัดกรองผู้ป่วย  ซึ่งในไทยมีการเริ่มต้นไปบ้างแล้ว เพราะเรามีเครื่องมืออย่างสมาร์ทโฟนและเครือข่าย แต่บางโจทย์วิจัยต้องค่อยๆคลี่ข้อมูลมากางดูว่าควรออกแบบอย่างไร การใช้ประโยชน์จากเอไอทางการแพทย์ในต่างประเทศที่สำเร็จก็เช่น บิล เกตต์ เจ้าของบริษัทไอทีชั้นนำ อย่างไมโครซอฟท์ ใช้เทคโนโลยีเอไอมาสนับสนุนข้อมูลด้านการแพทย์รักษาโรคอัลไซเมอร์  เพื่อให้ได้การวินิจฉัยที่รวดเร็ว แม่นยำ และราคาถูก โดยลงทุนไปกว่า 30 ล้านเหรียญ เป็นต้น สำหรับประเทศไทย ถือเป็นการเริ่มต้นที่ปัจจุบันเราได้มีการออกแบบแผนวิจัย แผนแม่บทชาติ และมีงานวิจัยที่รุดหน้าทางด้านนี้ไปแล้ว  ข้อเสนอแนะที่มีต่อ สกสว. คือ 1.ควรจัดให้มีกระบวนการมองอนาคต (foresight)  เพื่อกำหนดนโยบายวิจัยในการพัฒนาชุดข้อมูลและปัญญาประดิษฐ์ของไทย  2. ควรศึกษาเปรียบเทียบและติดตามการพัฒนาของประเทศในเรื่อง  “ระบบดูแลสุขภาพเฉพาะบุคคล”  (Personalized health system)  ที่ครอบคลุมประชาชนของประเทศและ ไม่สร้างความเหลื่อมล้ำทางการแพทย์และสุขภาพ โดยจะต้องนำเสนอต่อผู้กำหนดนโยบายเป็น  “Personalized health in all policies”

ต่อมาในการประชุมมีการนำเสนอแผนงานเอไอ   “RDI for health and medicine”  แผนงานวิจัยและสร้างนวัตกรรมทางด้านปัญญาประดิษฐ์ในอุตสาหกรรมสุขภาพ การแพทย์ ตลอดจนแผนงานวิจัยและนวัตกรรม “AI for health and medicine”  ของกลุ่มเรื่องที่เกี่ยวข้อง โดยหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ หรือ บพข.  และทีมวิจัย  ตลอดจนการจัดเวิร์กชอป เพื่อจัดลำดับความสำคัญ (Prioritized)  ของการจัดสรรงบประมาณวิจัยและนวัตกรรมด้านนี้ต่อไป

15 ธันวาคม 2563


บริษัท มีเดีย เน็ทเวิร์ค จำกัด
138, 140 ซอยอนามัย ถนนศรีนครินทร์ แขวงสวนหลวง เขตสวนหลวง กรุงเทพฯ 10250
MEDIA NETWORK Co.,Ltd
138, 140 Soi Anamai Srinakarin Road Suanluang Suanluang Bangkok 10250
Tel. 02 721 4417 Fax. 02 721 5516
E-mail : phototechthailand@gmail.com


ติดต่อโฆษณาหรือข้อมูลเพิ่มเติม
โทร. 02 721 4417 , 097 921 2929 คุณขวัญ

แฟนเพจ Phototech Magazine


ออกแบบโดย touronthai