วช.ผนึกม.หัวเฉียวสัมมนาความสัมพันธ์ทูตไทย – จีน ปันประสบการณ์-สานความร่วมมืออนาคต

สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ผนึกมหาวิทยาลัยหัวเฉียวแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน จัดสัมมนาออนไลน์”ความสัมพันธ์ทูตไทย – จีน 45 ปี แบ่งปันประสบการณ์และสานความร่วมมือในอนาคต” ตั้งเป้าหมายสู่การทำวิจัยเพื่อสร้างองค์ความรู้ที่เกี่ยวข้องกับทั้งสองประเทศ สนับสนุนการทำวิจัยในประเด็นที่คล้ายคลึงหรือเชื่อมโยงกัน และนำองค์ความรู้ไปจัดทำยุทธศาสตร์หรือนโยบายต่อไป

เมื่อวันที่ 8 ธ.ค.63 สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) เป็นเจ้าภาพฝ่ายไทยจัดการสัมมนาวิจัยยุทธศาสตร์ไทย-จีน ครั้งที่ 9 ภายใต้หัวข้อเรื่อง “ความสัมพันธ์การทูตไทย – จีน 45 ปี : การแบ่งปันประสบการณ์และความร่วมมือในอนาคต” (45th Year of Thai – Chinese Diplomatic Relation : Sharing Experiences and Future Coorperation) ร่วมกับมหาวิทยาลัยหัวเฉียวแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน (Huaqiao University : HQU) ระหว่างวันที่ 8 – 9 ธันวาคม 2563 ณ ชลพฤกษ์รีสอร์ท อำเภอบ้านนา จังหวัดนครนายก โดยมี นายสมปรารถนา สุขทวี รองผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ และรศ.ดร.โภคิณ พลกุล นายกสมาคมวัฒนธรรมและเศรษฐกิจไทย – จีน กล่าวต้อนรับ และเปิดงานโดย นายสมปอง สงวนบรรพ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และศาสตราจารย์เจิ้ง หลู (Zeng Lu) รองประธานมหาวิทยาลัยหัวเฉียวแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน กล่าวเปิดงาน

นายสมปอง สงวนบรรพ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กล่าวภายหลังเป็นประธานเปิดงานว่า​ การสัมมนาครั้งนี้นอกจากเพื่อให้มีความต่อเนื่องความสัมพันธ์ระหว่างประเทศให้ยาวนานต่อไปแล้ว ยังเป็นการทบทวนสิ่งที่ได้ร่วมมือกันมาและมองความร่วมมือกันต่อไปในอนาคตอีกด้วย “ที่ผ่านมาการพัฒนาความร่วมมือระหว่างกัน มีมาอย่างต่อเนื่องและรอบด้าน อย่างก่อนหน้าโควิด-19 ไม่เคยคิดหรอกว่าวันหนึ่งเราจะมาร่วมพัฒนาพัฒนาด้านสาธารณสุข คราวนี้ก็จะเด่นชัดมากขึ้น”

ส่วนความร่วมมือในอนาคตนั้น นายสมปองระบุว่า​คงต้องให้มีการขยายตัวมากขึ้นโดยเฉพาะความร่วมมือทางวิชาการ งานวิจัยต่าง ๆ ซึ่งนักวิจัยในบ้านเรายังมีน้อย เมื่อเทียบกับนักวิจัยของจีน ซึ่งศ(พิเศษ)ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ให้ความสำคัญและถือเป็นนโยบายหลักของรัฐบาล “จีนคิดจะทำ เขาคิดระดับโลก ขณะที่ไทยคิดระดับประเทศ ระดับภูมิภาค ส่วนวิธีการทำงาน จีนทำงานอย่างรวดเร็ว ขณะที่ของเรามีระบบราชการเป็นหลัก เป็นฐานของการพัฒนาประเทศ ระบบราชการยิ่งใหญ่ทำให้ช้า ที่ผ่านมา 45 ปีมีการปรับตัวเข้าหากัน อาจช้าบ้างแต่พื้นฐานความพันธ์เป็นร้อยเป็นพันปีก็จะช่วยได้”

ด้าน​ รศ.ดร.โภคิณ พลกุล นายกสมาคมวัฒนธรรมและเศรษฐกิจไทย – จีน กล่าวว่า ประเทศไทยให้ความสำคัญความสัมพันธ์ไทย-จีนเป็นพิเศษต่อเนื่องมาอย่างยาวนาน แต่ที่เป็นทางการ เพิ่งเริ่มต้นมีความสัมพันธ์ทางการทูตมาแค่ 45 ปี แม้ไม่นานนักแต่เอื้อประโยชน์สุขแก่ประชาชนของทั้งสองประเทศ “จีนเป็นประเทศใหญ่มีประชากรมากแต่มีความชัดเจนในเรื่องยุทธศาสตร์เรื่องแก้ปัญหาความจน แต่ไทยเป็นประเทศเล็กมีประชากรน้อยมีแผนยุทธศาสตร์เรื่องการแก้ปัญหาความจน ความเหลื่อมล้ำ แต่มันขึ้นๆลง เช่น ความไม่ต่อเนื่องนโยบาย ความมุ่งมั่นของผู้นำประเทศ ความมุ่งมั่นของเจ้าหน้าที่ ลงไปดูแลค้นหาปัญหาและนำไปแก้ไขในเชิงภาพใหญ่และภาพย่อย จุดปัญหาของไทยคือไม่ต่อเนื่อง ความชัดเจนไม่เหมือนจีน ยังมีความผูกขาดของคนกลุ่มทุนใหญ่และทำให้การแบ่งปันทรัพยากร รายได้ กระจุกตัวไม่กระจาย และนับวันยิ่งหนักขึ้นเรื่อย ถ้าไม่แก้อนาคตจะมีปัญหามาก” นายกสมาคมวัฒนธรรมและเศรษฐกิจไทย – จีนกล่าว

พลเอกสุรสิทธิ์ ถนัดทาง ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยยุทธศาสตร์ไทย-จีน สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ(วช.) กล่าวว่า การสัมมนายุทธศาสตร์ไทย – จีน ที่จัดขึ้นครั้งนี้มีเป็นประจำทุกปีตั้งแต่ปี 2555 เพื่อเป็นเวทีให้นักวิชาการไทยและจีนได้พบปะและแลกเปลี่ยนผลงานวิชาการระหว่างกัน โดยสลับกันเป็นเจ้าภาพ ซึ่งแต่ละปีมีการกำหนดหัวข้อหลักและรูปแบบการสัมมนาที่มุ่งเน้นส่งเสริมและสนับสนุนการวิจัยในประเด็นสำคัญหรือประเด็นที่คาดการณ์ในอนาคต โดยมีเป้าหมายเพื่อสร้างองค์ความรู้ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับประเด็นไทย – จีน

สำหรับปีนี้ (พ.ศ.2563) ได้จัดสัมมนาในรูปแบบออนไลน์ เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด – 19 ทำให้นักวิจัยฝ่ายจีนไม่สามารถเดินทางมายังประเทศไทยเพื่อเข้าร่วมสัมมนาครั้งนี้ได้ โดยภายในการสัมมนาครั้งนี้ยังมีปาฐกถาพิเศษโดยศาสตราจารย์จวง กั๋วถู (Zhuang Guotu) ประธานสมาคมจีนเพื่อการศึกษาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และนายสมปอง สงวนบรรพ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ในหัวข้อเรื่อง “ความสัมพันธ์การทูตไทย – จีน 45 ปี : การแบ่งปันประสบการณ์และความร่วมมือในอนาคต” นอกจากนี้ยังมีการนำเสนอผลงานทางวิชาการในหัวข้อต่าง ๆ เช่น มิติวัฒนธรรมกับความสัมพันธ์ในอนาคต การเรียนรู้จากจีนในด้านการขจัดความยากจน การพัฒนาอย่างยั่งยืน รูปแบบการพัฒนาของจีน ผลกระทบของสงครามการค้า (US vs China) : ไทย – จีน จะร่วมกันพัฒนาอย่างไร และพัฒนาการโครงการริเริ่มแถบและเส้นทาง ผ่านชาวจีนโพ้นทะเล

8 ธันวาคม 2563


บริษัท มีเดีย เน็ทเวิร์ค จำกัด
138, 140 ซอยอนามัย ถนนศรีนครินทร์ แขวงสวนหลวง เขตสวนหลวง กรุงเทพฯ 10250
MEDIA NETWORK Co.,Ltd
138, 140 Soi Anamai Srinakarin Road Suanluang Suanluang Bangkok 10250
Tel. 02 721 4417 Fax. 02 721 5516
E-mail : phototechthailand@gmail.com


ติดต่อโฆษณาหรือข้อมูลเพิ่มเติม
โทร. 02 721 4417 , 097 921 2929 คุณขวัญ

แฟนเพจ Phototech Magazine


ออกแบบโดย touronthai