ศาลปะกำ เทวาลัยอันเป็นที่สิงสถิตวิญญาณบรรพบุรุษและผีปะกำตามความเชื่อของชาวกูย

ศาลปะกำ และเชือกปะกำ เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ชาวช้างสุรินทร์ให้ความเคารพและเซ่นไหว้ก่อนออกคล้องช้างหรือทำกิจกรรมอื่นๆ เกี่ยวกับช้างเสียงบทสวดพิธีกรรมเป็นภาษาชาวกูยของพ่อหมอเฒ่าเมืองสุรินทร์ ถิ่นอีสานใต้ เพื่ออัญเชิญผีปะกำและวิญญาณบรรพบุรุษรับเครื่องเซ่นไหว้พร้อมกับขอพรเพื่อให้มีโชคลาภ และเสี่ยงทายผลที่จะเกิดขึ้นจากการดำเนินกิจกรรม

ศาลปะกำ สถานที่เปรียบเสมือนเทวาลัยอันเป็นที่สิงสถิตวิญญาณบรรพบุรุษและผีปะกำตามความเชื่อของชาวกูย ซึ่งตั้งอยู่ภายในศูนย์คชศึกษาแห่งบ้านตากลาง ต.กระโพ อ.ท่าตูม โดยศาลปะกำนี้นิยมปลูกสร้างไว้ในชุมชนคุ้มบ้าน หรือที่บ้านของทายาทฝ่ายพ่อ มีลักษณะเป็นเรือนไม้คล้ายหอสูง มีเสาสี่ต้น หันหน้าไปทางทิศเหนือ ณ ตำแหน่งที่เงาบ้านไม่ตกทับตัวศาลและเงาศาลไม่ตกต้องตัวบ้านซึ่งศาลปะกำจะใช้เป็นที่เก็บรักษาหนังปะกำ และอุปกรณ์ในการคล้องช้าง

การเซ่นผีปะกำจะกระทำโดยหมอช้างอาวุโส เจ้าของบ้าน และญาติพี่น้อง นำของเซ่นไหว้ไปยังศาลปะกำ จุดเทียนแล้วอัญเชิญผีปะกำและวิญญาณบรรพบุรุษและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ชาวกูยเคารพบูชาให้เข้ามาสิงสถิตย์ในเชือกเชือกปะกำนี้เพราะหนังปะกำถือว่าเป็นอุปกรณ์ที่มีความสำคัญอย่างยิ่งที่ชาวกูยใช้ในการคล้องช้างป่า ซึ่งในการเซ่นผีปะกำ มีหลักว่าผู้ทำพิธีและขึ้นศาลปะกำได้จะต้องเป็นผู้ชาย ลูกหลานของต้นตระกูล ผู้เป็นเจ้าของศาลปะกำ บุคคลอื่นห้ามขึ้นโดยเด็ดขาด และโดยเฉพาะสตรีห้ามแตะต้องหนังปะกำเด็ดขาด ดังนั้น ผู้เข้าร่วมพิธี จึงต้องนั่งอยู่ที่พื้นดินล้อมรอบศาลปะกำ

ชั้นบนภายในศาลปะกำ จะเป็นที่เก็บเชือกปะกำ เป็นบ่วงบาศทำด้วยหนังควาย ที่นำมาตัดเป็นริ้วๆ แล้วตากแห้งจากนั้นปั่นเข้ากันเป็น 3 เกลียว มีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 1-2 นิ้ว มีความยาวประมาณ 50-80 เมตร ซึ่งควาย 3 ตัวจะได้เชือกปะกำ 1 เส้น เชือกปะกำนี้บรรดาหมอช้างและควาญถือว่าเป็นเชือกศักดิ์สิทธิ์ มีความสำคัญมากที่สุดเพราะเป็นที่สิงสถิตย์ของดวงวิญญาณครูบาอาจารย์และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลาย และแต่ละตระกูลมักจะมีไว้ใช้เฉพาะคนในตระกูล ซึ่งต้องเคารพนับถือและเชื่อว่าผีปะกำจะสามารถบันดาลให้โชคดีหรือโชคร้ายในการคล้องช้างได้สิ่งที่ต้องระมัดระวังเกี่ยวกับเชือกปะกำคือ ห้ามเหยียบหรือห้ามผู้หญิง หรือผู้ที่มิใช่สายเลือด หรือคนต่างตระกูล แตะต้องหรือขึ้นไปในศาลปะกำ ถ้าละเมิดข้อห้ามดังกล่าวถือว่าผิดครู หรือผิดปะกำ อาจมีผลร้ายต่อผู้ไปคล้องช้างได้ ส่วนเครื่องรางที่หมอช้างนำติดตัวไปด้วยนั้นจะเป็นสายรัดที่เอวที่สืบทอดมาตั้งแต่รุ่นปู่ย่าตาทวด ซึ่งเมื่อออกมาจากป่าก็ต้องเก็บไว้บนหัวนอน ห้ามนำไปให้คนอื่นดู ซึ่ง เครื่องรางนั้นมีทั้งต้นห่าเสื่อ เขี้ยวหมูตัน และจันทคราส เป็นต้น ซึ่งไม่ว่าจะประกอบกิจการใดๆชาวกูยมักจะมีการเซ่นบวงสรวงผีปะกำก่อนเสมอ

พิธีเซ่นศาลปะกำ จะกระทำกันทุกปี หรือว่า มีเหตุต้องเคลื่อนย้ายเชือกปะกำ (เช่นการแสดง การคล้องช้างประจำปี ต้องใช้เชือกปะกำ ประกอบการคล้องช้างแสดง จึงต้องทำพิธีกรรมก่อนจะเรียกว่าสมัยใหม่ ว่า ศาลปะกำ สัญจร เช่นงานบวช งานแต่ง ฯ )

ขอขอบคุณ

การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานสุรินทร์ (สุรินทร์ บุรีรัมย์)

โทรศัพท์ 0 4451 4447-8

ข้อมูลจาก facebook/มหัศจรรย์งานช้างสุรินทร์

31 มกราคม 2561


บริษัท มีเดีย เน็ทเวิร์ค จำกัด
138, 140 ซอยอนามัย ถนนศรีนครินทร์ แขวงสวนหลวง เขตสวนหลวง กรุงเทพฯ 10250
MEDIA NETWORK Co.,Ltd
138, 140 Soi Anamai Srinakarin Road Suanluang Suanluang Bangkok 10250
Tel. 02 721 4417 Fax. 02 721 5516
E-mail : phototechthailand@gmail.com


ติดต่อโฆษณาหรือข้อมูลเพิ่มเติม
โทร. 02 721 4417 , 097 921 2929 คุณขวัญ

แฟนเพจ Phototech Magazine


ออกแบบโดย touronthai