กองทุนสื่อเปิดตัวงานวิจัยเฝ้าระวังสื่อ รับมือความรุนแรงในโลกไซเบอร์

​ที่กระทรวงวัฒนธรรม(๑๑พ.ย.๒๕๖๓) ดร.ธนกร ศรีสุขใส ผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ พร้อมด้วยนางสาวลัดดา ตั้งสุภาชัย ประธานอนุกรรมการเฝ้าระวังสื่อฯ และดร.อมรวิชช์ นาครทรรพ หัวหน้าโครงการวิจัยเพื่อจัดทำแผนยุทธศาสตร์เฝ้าระวังสื่อฯ ได้ร่วมกันแถลงข่าวผลการวิจัยพร้อมกับชี้แจงยุทธศาสตร์การทำงานที่สำคัญในการรับมือความรุนแรงในสื่อทั้งการใช้คำพูดสร้างความเกลียดชังต่อกัน ไปจนถึงการสร้างข่าวปลอม และการคุกคามกันในโลกไซเบอร์

​ดร.ธนกร ศรีสุขใส ผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์  กล่าวว่าปัจจุบันปัญหาความรุนแรงมีมากขึ้นในโลกไซเบอร์ ทั้งการระรานและคุกคามกันหรือไซเบอร์บูลลี่ การโจมตีใช้คำพูดสร้างความเกลียดชังหรือประทุษวาจา ตลอดจนข่าวปลอมที่ถูกสร้างขึ้นในยามที่บ้านเมืองมีความขัดแย้ง กองทุนสื่อฯได้จับตาดูแนวโน้มนี้ร่วมกับนักวิชาการและมีความห่วงใยต่อสังคมในเรื่องนี้มาโดยตลอด การให้ทุนสนับสนุนที่ผ่านมาก็มีการให้ทุนสนับสนุนการริเริ่มนวัตกรรมสื่อเพื่อศึกษาและพัฒนาแนวทางลดปัญหาความรุนแรงในสื่อแบบนี้ลง ทั้งนี้ โดยร่างแผนยุทธศาสตร์ชาติสามปีเพื่อการพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ที่ผ่านการเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีแล้ว และแผนยุทธศาสตร์ของกองทุนเองมุ่งที่จะให้การสนับสนุนการรับมือความรุนแรงในสื่อไซเบอร์อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะนวัตกรรมสันติวิธี เพิ่มพื้นที่การพูดคุยข้ามความแตกต่าง 

ไม่เฉพาะเรื่องการเมืองแต่ทุกเรื่องที่มีหลายมุมมอง มุ่งสร้างวัฒนธรรมเอื้อเฟื้อ (civility) การคิดอย่างใคร่ครวญ (thoughtfulness) และความเข้าใจกัน (mutual understanding) ที่อาจเริ่มจากประเด็นทั่วไปที่มีคนสนใจมาก เช่นเรื่องสุขภาพ อาหาร การเงิน สิ่งแวดล้อม ไปจนถึงภัยพิบัติธรรมชาติต่างๆ ซึ่งในระยะยาวก็อาจก้าวไปสู่การมีพื้นที่พูดคุยความคิดที่แตกต่างอย่างสร้างสรรค์ได้ในประเด็นที่ซับซ้อนขึ้นอย่างการเมือง ศาสนา เป็นต้น

โดย นางสาวลัดดา ตั้งสุภาชัย ประธานอนุกรรมการเฝ้าระวังสื่อที่ไม่ปลอดภัยและไม่สร้างสรรค์ กล่าวว่าปัญหาสื่อไม่ปลอดภัยเปลี่ยนไป จากแค่สื่อลามกและการพนันออนไลน์ที่ก็ยังเป็นปัญหา มาสู่ปัญหาการใช้ความรุนแรงต่อกันทั้ง cyber bully และ hate speech  ยังไม่รวมถึงเรื่อง fake news ที่เพิ่มมากขึ้นในปัจจุบัน งานเฝ้าระวังจึงปรับตัวตามลักษณะปัญหา เน้นงานส่งเสริมการรู้เท่าทันหรือ media literacy ควบคู่กับงานเฝ้าระวัง และการทำงานบูรณาการไปกับงานพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ นอกจากนี้ คณะอนุกรรมการยังมีแผนที่จะเสนอให้กองทุนมีศูนย์วิจัยสื่อหรือ Media Research Center ติดตามสถานการณ์การรับสื่อของประชาชนเพื่อเป็นข้อมูลในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์อย่างต่อเนื่อง สำหรับการแก้ไขปัญหาความรุนแรงต่อกันในสื่อไซเบอร์

รวมถึงปัญหาการสร้างข่าวปลอมไปแก้ที่ปลายเหตุด้วยการลงโทษไม่ได้ แต่ต้องแก้ที่ต้นทางคือปัญญาความรู้เท่าทันของผู้รับสื่อ ซึ่งทางคณะอนุกรรมการฯได้เห็นชอบในเบื้องต้นแล้วต่อแผนการทำงานที่จะร่วมมือและสนับสนุนภาคี ซึ่งนอกจากภาคีหลักคือกระทรวงวัฒนธรรมซึ่งมีศูนย์เฝ้าระวังทางวัฒนธรรมที่ทำงานควบคู่กันมาโดยตลอดแล้ว ยังมีภาคีอื่นๆ ได้แก่ กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงดิจิตอลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค เป็นต้น รวมถึงองค์กรระหว่างประเทศเช่น ยูเนสโก เพื่อร่วมกันผลักดันการรณรงค์และป้องกันแก้ไขปัญหาเรื่องนี้

ดร.อมรวิชช์ นาครทรรพ หัวหน้าโครงการวิจัยเพื่อจัดทำแผนยุทธศาสตร์เฝ้าระวังสื่อที่ไม่ปลอดภัยและไม่สร้างสรรค์ กล่าวว่า จากผลการสำรวจประชาชนในกลุ่มอายุและกลุ่มอาชีพต่างๆ รวมถึงกลุ่มเฉพาะได้แก่ผู้พิการและกลุ่มชาติพันธุ์พบว่า เกือบร้อยละ๘o มีการใช้สื่อโซเชียลอย่างเฟสบุ๊ค ไลน์ ทวิตเตอร์สม่ำเสมอ   ส่วนความกังวลเกี่ยวกับการใช้สื่อโซเชียลพบว่าอันดับหนึ่งร้อยละ ๗๘ กังวลกับปัญหาข่าวปลอม  รองลงมาร้อยละ ๕๘ กังวลการระรานทางไซเบอร์ และร้อยละ ๕๔ กังวลเรื่องการใช้ประทุษวาจาหรือคำพูดที่รุนแรงสร้างความเกลียดชังกันตามลำดับ  

นอกจากนี้ จากการสำรวจของกรมสุขภาพจิตในปี ๒๕๖๒  พบว่าร้อยละ  ๓๕-๔o ของเด็กมัธยมเคยระรานหรือถูกระรานทางไซเบอร์ ในส่วนของเรื่องข่าวปลอม ตัวเลขของประเทศต่างๆ คล้ายคลึงกันกล่าวคือร้อยละ๕o-๗o แล้วแต่กลุ่มอายุได้รับข่าวปลอมสม่ำเสมอราวร้อยละ ๓o-๔o เคยแชร์ข่าวปลอม และมีเพียงราวร้อยละ ๕-๑o เท่านั้น  ที่เคยมีการตรวจสอบแหล่งข่าวจนรู้ว่าเป็นข่าวปลอม และในส่วนของประทุษวาจาหรือการใช้คำพูดรุนแรงต่อกันกำลังเป็นปัญหาที่เพิ่มขึ้นทั่วโลก โดยเป็นการกระทำต่อกลุ่มชาติพันธุ์ ชนกลุ่มน้อยทางศาสนา ตลอดจนกลุ่มการเมือง โดยดร.อมรวิชช์กล่าวว่าจากการประชุมระดมความคิดร่วมกับนักกฎหมายเห็นตรงกันว่าคำพูดที่รุนแรงสร้างความเกลียดชังอาจเป็นปัญหาได้ โดยเฉพาะกรณีประทุษวาจาที่ยกระดับไปสู่การข่มขู่หรือยั่วยุให้มีการทำร้ายกันถือเป็นความผิดตามกฎหมาย

11 พฤศจิกายน 2563


บริษัท มีเดีย เน็ทเวิร์ค จำกัด
138, 140 ซอยอนามัย ถนนศรีนครินทร์ แขวงสวนหลวง เขตสวนหลวง กรุงเทพฯ 10250
MEDIA NETWORK Co.,Ltd
138, 140 Soi Anamai Srinakarin Road Suanluang Suanluang Bangkok 10250
Tel. 02 721 4417 Fax. 02 721 5516
E-mail : phototechthailand@gmail.com


ติดต่อโฆษณาหรือข้อมูลเพิ่มเติม
โทร. 02 721 4417 , 097 921 2929 คุณขวัญ

แฟนเพจ Phototech Magazine


ออกแบบโดย touronthai