สทน.-กรมศิลปากรสานต่อความร่วมมืออีก 5ปี เทคโนโลยีนิวเคลียร์สนับสนุนงานโบราณคดีชาติบรรลุเป้า

สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ(องค์การมหาชน)หรือ สทน.โดยรศ.ดร.ธวัชชัย อ่อนจันทร์ ผู้อำนวยการ สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติหรือสทน. และกรมศิลปากร โดยนายประทีป เพ็งตะโก อธิบดีกรมศิลปากรได้ลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการฉบับที่ 2 สานต่อความร่วมมืออีกเป็นเวลา 5 ปี หลังจากความร่วมมือครั้งที่ 1 ประสบความสำเร็จบรรลุเป้า

นายประทีป เพ็งตะโก อธิบดีกรมศิลปากร กล่าวว่า กรมศิลปากรกับสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ(องค์การมหาชน) ได้ร่วมจัดทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการครั้งที่ 1 เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2557 เพื่อร่วมศึกษา วิจัยและประยุกต์ใช้เทคโนโลยีนิวเคลียร์ในการสนับสนุนการศึกษาวิจัย ฟื้นฟู อนุรักษ์โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ ภายในกรอบระยะเวลา 5 ปี โดยมีผลงานความทุ่มเทของบุคลากรทั้งด้านการวิจัย พัฒนา การสำรวจและวิเคราะห์ตัวอย่างในพื้นที่โบราณสถานอย่างน่าสนใจ ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นในการนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีนิวเคลียร์ที่มีในปัจจุบันมาใช้สนับสนุนภารกิจของกรมศิลปากรได้อย่างมีประสิทธิภาพ ดังนั้นในปีงบประมาณ 2561 คณะทำงานดำเนินการตามข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการระหว่างทั้ง 2 หน่วยงานได้ มีมติเห็นชอบให้มีการขยายระยะเวลาความร่วมมือต่อไป โดยไม่มีการเปลี่ยนแปลงแก้ไขรายละเอียดความร่วมมืออย่างมีนัยสำคัญและดำเนินการยกร่างบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการฉบับที่ 2 ขึ้นและกำหนดจัดพิธีลงนามในวันนี้

อธิบดีกรมศิลปากร กล่าวต่อว่า กรมศิลปากรและสทน. มีความตั้งใจทำความร่วมมือทางวิชาการเพื่อยกระดับความรู้และเพิ่มขีดความสามารถในการปฏิบัติงานของบุคลากรทั้ง 2 ฝ่ายและจะร่วมกันศึกษา วิจัยและพัฒนากระบวนการทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีนิวเคลียร์ พัฒนาระบบฐานข้อมูลอัตลักษณ์โบราณวัตถุชิ้นพิเศษและองค์ประกอบทางเคมีของโบราณวัตถุและวัสดุเพื่องานอนุรักษ์ การศึกษาระบบการจัดการน้ำในอดีตของชุมชนโบราณ การวิเคราะห์ตัวอย่างจากการขุดค้นเพื่อหาค่าอายุทางวิทยาศาสตร์ การศึกษาโครงสร้างภายในวัตถุโดยใช้รังสี เป็นต้น ซึ่งจะพิจารณาตกลงในวิทยาศาสตร์เป็นการเฉพาะเกี่ยวกับโครงการ กิจกรรมและแบ่งมอบความรับผิดชอบต่อไป “กรมศิลปากรขอขอบคุณสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติที่ให้การสนับสนุนภารกิจกรมศิลปากรมาด้วยดีมาโดยตลอดและมีความยินดีอย่างยิ่งที่สถาบันได้ก้าวเข้ามาเป็นทีมที่ทรงพลังและให้ความสำคัญต่อการอนุรักษ์ฟื้นฟูมรดกทางศิลปวัฒนธรรมของชาติเพื่อร่วมกันค้นหาและส่งต่อองค์ความรู้ที่ได้รับแก่สาธารณชนต่อไป”

ด้านรศ.ดร.ธวัชชัย อ่อนจันทร์ ผู้อำนวยการสนท. กล่าวว่า การลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือฉบับที่ 2 แสดงให้เห็นถึงความสำเร็จในการบูรณาการงานวิจัยด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีนิวเคลียร์กับงานโบราณคดีตลอดระยะเวลา 5 ปี เนื่องจากทั้ง 2 ฝ่ายมีจุดมุ่งหมายที่สำคัญร่วมกันนั่นคือ การศึกษา ค้นคว้า วิจัยและการอนุรักษ์โบราณสถาน โบราณวัตถุและศิลปวัตถุ ซึ่งเป็นมรดกทางวัฒนธรรมของชาติ สามารถสะท้อนภาพประวัติศาสตร์ของชาติไทยในอีกมิติหนึ่งผ่านทางเทคโนโลยีสมัยใหม่ ซึ่งเป็นที่นิยมในระดับสากล โดยปัจจุบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์ถูกนำมาใช้อย่างแพร่หลายในการตรวจหาอายุของโบราณวัตถุเพราะเป็นเทคนิคที่ไม่ทำลายตัวอย่างหรือใช้ตัวอย่างในปริมาณที่น้อยมาก สทน.จัดตั้งห้องปฏิบัติการไอโซโทปรังสีและใช้เทคโนโลยีนิวเคลียร์เพื่อตรวจวิเคราะห์หาอายุโบราณวัตถุมากว่า 10 ปี สำหรับเทคนิคที่สทน.ใช้ในการวิเคราะห์มี 2 แบบ คือ การวิเคราะห์โดยอาศัยคาร์บอน-14(C-14 dating) และการวิเคราะห์อายุโดยการเรืองแสงความร้อน(TL/OSL dating)

รศ.ดร.ธวัชชัยกล่าวต่อว่า ในกรอบเวลา 5 ปีมีการกำหนดกิจกรรมทำร่วมกันในด้านการวิจัยและพัฒนา,การสำรวจ วิเคราะห์และเก็บตัวอย่างและการเผยแพร่และแลกเปลี่ยนความรู้ ซึ่งในการร่วมมือครั้งที่ 1 ได้ดำเนินการหลายอย่าง เช่น ได้ร่วมวิจัยพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา จ.พระนครศรีอยุธยา ในการวิเคราะห์ทองคำโบราณจากกรุวัดราชบูรณะและวัดมหาธาตุ เพื่อจัดทำฐานข้อมูลทองคำโบราณสมัยกรุงศรีอยุธยา และโครงการนี้ยังคงดำเนินการอย่างต่อเนื่อง และข้อมูลที่ได้จากการวิเคราะห์ทางวิทยาศาสตร์จะถูกนำเสนอในพิพิธภัณฑ์ทองหลังใหม่ของพิพิธภัณฑ์ฯ เจ้าสามพระยา  “ผลของการมุ่งมั่น ทุ่มเทของบุคลากรทั้งนักวิทยาศาสตร์และนักโบราณคดี ทำให้ค้นพบข้อมูลที่น่าสนใจมากมาย เช่น เทคโนโลยีการผลิตเครื่องประดับโบราณ การศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างชุมชนในอดีตผ่านข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ หรือการนำเทคโนโลยีนิวเคลียร์และรังสีที่ใช้ในการฆ่าเชื้อในเครื่องมือแพทย์ มาใช้ฆ่าเชื้อ หรืออนุรักษ์โบราณวัตถุและศิลปวัตถุให้อยู่ในสภาพดี เป็นมรดกทางวัฒนธรรมส่งต่ออนุชนรุ่นหลังต่อไป

สำหรับการร่วมมือครั้งที่ 2 อีก 5 ปี ทั้ง2ฝ่ายจะประสานความร่วมมือทางวิชาการเพื่อยกระดับความรู้และขีดความสามารถของบุคลากรทั้ง 2 ฝ่าย ร่วมกันศึกษาวิจัยและพัฒนากระบวนการทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีนิวเคลียร์เพื่อมาใช้สนับสนุนการศึกษา ค้นคว้า ฟื้นฟูและการอนุรักษ์โบราณสถาน โบราณวัตถุและศิลปวัตถุ โดยตกลงร่วมกันในการจัดหางบประมาณเพื่อดำเนินกิจกรรมดังกล่าวจนบรรลุผลสำเร็จ”

รศ.ดร.ธวัชชัยกล่าวในตอนท้ายว่า การนำความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีนิวเคลียร์เข้ามาช่วยในการศึกษาโบราณวัตถุ ทำให้เราไม่ต้องส่งชิ้นส่วนของโบราณวัตถุไปตรวจสอบอายุในต่างประเทศ แต่เป็นเทคโนโลยีที่สามารถดำเนินการได้เองในประเทศไทย การตรวจวิเคราะห์ก็มีความถูกต้องแม่นยำ อีกทั้งห้องปฏิบัติการไอโซโทปของสทน.ยังได้รับการรับรองจากทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ(IAEA)และได้รับการสนับสนุนอุปกรณ์จำนวนมากจาก IAEA ด้วย สทน.มีการพัฒนาตลอดเวลา เชื่อว่า ห้องปฏิบัติการตรวจวิเคราะห์ด้านสิ่งแวดล้อมและโบราณคดีสทน. มีความทันสมัยมากที่สุดแห่งหนึ่งในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

9 ธันวาคม 2564


บริษัท มีเดีย เน็ทเวิร์ค จำกัด
138, 140 ซอยอนามัย ถนนศรีนครินทร์ แขวงสวนหลวง เขตสวนหลวง กรุงเทพฯ 10250
MEDIA NETWORK Co.,Ltd
138, 140 Soi Anamai Srinakarin Road Suanluang Suanluang Bangkok 10250
Tel. 02 721 4417 Fax. 02 721 5516
E-mail : phototechthailand@gmail.com


ติดต่อโฆษณาหรือข้อมูลเพิ่มเติม
โทร. 02 721 4417 , 097 921 2929 คุณขวัญ

แฟนเพจ Phototech Magazine


ออกแบบโดย touronthai