ก้าวสู่ความหวังอีกขั้น วช.เตรียมทดลองวัคซีน โควิด-19 ในลิง หากสำเร็จนำทดลองต่อในคน

หลังจากประเทศไทยได้ทดลองวัคซีน โควิด-19 ในหนูได้ผล วช.เตรียมทดลองต่อในลิง หากสำเร็จก็จะทดลองต่อกับคนต่อไป

ศาสตราจารย์ดร.นายแพทย์สิริฤกษ์  ทรงศิวิไล ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติเผยว่า เนื่องจากวัคซีนเป็นเรื่องสำคัญมากที่จะป้องกันไม่ให้ติดเชื้อ ไวรัสโควิด-19เป็นเชื้อใหม่ที่คนทั่วโลกยังไม่มีภูมิคุ้มกัน ดังนั้นวิธีที่จะป้องกันไม่ให้การติดเชื้อ มีอยู่วิธีเดียวคือต้องมีวัคซีนขึ้นมา ดังนั้นทั่วโลกจึงต้องเร่งพัฒนาให้ได้วัคซีน ปกติถ้ามีโรคใหม่เข้ามาจะต้องใช้เวลาประมาณ 10 ปี จึงจะมีวัคซีนได้ แต่ในกรณีของโควิด-19 เราไม่สามารถรอถึง 10 ปีได้ เราจำเป็นต้องเร่งกระบวนการทั้งหมดเข้ามา

ดังนั้น การมีส่วนร่วมทั้งในระดับประเทศและระดับโลก เพื่อที่จะทำให้มีวัคซีนขึ้นได้ ซึ่งเป้าหมายหลักของประเทศตามนโยบายที่ท่านนายกรัฐมนตรีได้ให้นโยบายไว้ว่าประเทศไทยต้องมีวัคซีนอย่างรวดเร็ว และให้ประชากรของไทยได้รับวัคซีนระดับต้นๆของโลก เราจึงวาง 3 แนวทางที่จะทำงานควบคู่กันไป

1.สนับสนุนวัคซีนในประเทศให้พัฒนาขึ้น 2.ร่วมมือกับนานาประเทศในการวิจัย 3.เตรียมพร้อมรับในกรณีที่ประเทศอื่นๆมีวัคซีนที่ดี เราก็ต้องสามารถนำมาใช้ได้ ดังนั้นวช.ที่ทำหน้าที่เป็นศูนย์ปฏิบัติการด้านนวัตกรรม ด้านการแพทย์ การวิจัย และพัฒนา ของประเทศ เราทำหน้าที่ในการเจรจาความร่วมมือและต่อยอด ร่วมทำวิจัยกับประเทศต่างๆซึ่งตอนนี้ก็ทำกับสหรัฐอเมริกา แคนาดา จีน พร้อมทั้งพัฒนาวัคซีนในประเทศไปด้วย

ทั้ง 3 แนวทางหากแนวทางใดแนวทางหนึ่งประสบความสำเร็จก่อน เราก็จะไปใช้แนวทางนั้น โดยเน้นวัตถุประสงค์หลักคือให้ประชาชนคนไทยมีวัคซีนใช้โดยเร็ว

สำหรับประเทศไทยวช.ร่วมกับสถาบันวัคซีนแห่งชาติ ได้ร่วมกันสนับสนุนวัคซีน 5 ชนิด ซึ่งวัคซีนในโลกนี้มีประมาณ150-200 แบบ วัคซีนแต่ละชนิดใช้รูปแบบและวิธีการแตกต่างกัน

สำหรับ 5 วิธีที่ไทยใช้อยู่มีตั้งแต่การใช้เชื้อตัวตาย การใช้บางส่วน รวมทั้งการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่เลย เช่น DNAวัคซีน และ mRNAวัคซีน ขณะนี้มีความก้าวหน้าที่ทำได้รวดเร็ว 2 เทคโนโลยี คือ1. DNAวัคซีน มีการประเมินเบื้องต้นในหนู ผลออกมาเป็นที่น่าพอใจ

2. mRNAวัคซีน ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่ใหม่มากๆ ข้อดีคือสามารถใช้ได้ในคนจำนวนมากๆ และใช้ปริมาณไม่มาก ขณะนี้ผลของ mRNAวัคซีน ที่ดำเนินการโดยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้ผลเบื้องต้นสามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันในหนูได้ โดยการเจาะเลือดไปทดลองว่าสามารถยับยั้งเชื้อได้ โดยมีปริมาณสารยับยั้ง 1 ต่อ 3,000 แปลว่า เมื่อเจือจางไปแล้ว 3,000 เท่า ก็ยังสามารถมีฤทธิ์ในการยับยั้งเชื้อได้ ผลเป็นที่น่าพอใจ

ขั้นต่อไปจะนำไปทดลอบในสัตว์ใหญ่ที่มีลักษณะคล้ายมนุษย์ คือลิง โดยฉีด mRNAวัคซีนเข้าไปในลิง ดูว่าลิงจะสามารถสร้างภูมิคุ้มกันต่อเชื้อได้และทดสอบว่าหากลิงติดเชื้อจะสามารถป้องกันเชื้อได้หรือไม่ โดยการทดสอบในลิงจะใช้งบประมาณวงเงิน 60 ล้านบาท ใช้เวลาในการทดลอง 3-6 เดือน

ถ้าการทดสอบในลิงสำเร็จขั้นต่อไปก็จะทดสอบในคน ซึ่งการทดสอบในคนจะแบ่งเป็น3 ระยะ ระยะที่1.ระยะฉีดในจำนวนคนที่ไม่มากแล้วดูว่าฉีดเข้าไปแล้วปลอดภัยหรือเปล่า ระยะที่2. คือสามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกัน และหากผลออกมาดีก็จะเข้าสู่ระยะที่ 3.คือการประเมินผล

และในวันเสาร์ที่ 23 พฤษภาคม 2563 นี้ วช.ร่วมกับเครือข่ายจะดำเนินการเอาวัคซีน mRNAไปทดสอบในลิงที่เราเตรียมพร้อมทดสอบในศูนย์วิจัยไพเมทแห่งชาติ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  ที่อำเภอแก่งคอย จังหวัดสระบุรี  ซึ่งการดำเนินงานต่างๆเหล่านี้ด้วยความสำคัญเร่งด่วนของโควิด-19 ทำให้เราสามารถทดสอบวัคซีน ในหลายๆรูปแบบไปพร้อมๆกันหากผลทดสอบออกมาดีเราได้เจรจาบริษัทผลิตวัคซีนต้นแบบซึ่งเป็นบริษัทของคนไทยไว้เรียบร้อยแล้ว บริษัทและหน่วยงานผลิตวัคซีนของไทยก็จะสามารถผลิตวัคซีนได้ทันที หากสามารถผลิตวัคซีนของเราได้ก็จะถือว่าเป็นความมั่นคงด้านสุขภาพ ด้านสาธารณะสุขของประเทศ ผอ.วช.กล่าว

22 พฤษภาคม 2563


บริษัท มีเดีย เน็ทเวิร์ค จำกัด
138, 140 ซอยอนามัย ถนนศรีนครินทร์ แขวงสวนหลวง เขตสวนหลวง กรุงเทพฯ 10250
MEDIA NETWORK Co.,Ltd
138, 140 Soi Anamai Srinakarin Road Suanluang Suanluang Bangkok 10250
Tel. 02 721 4417 Fax. 02 721 5516
E-mail : phototechthailand@gmail.com


ติดต่อโฆษณาหรือข้อมูลเพิ่มเติม
โทร. 02 721 4417 , 097 921 2929 คุณขวัญ

แฟนเพจ Phototech Magazine


ออกแบบโดย touronthai