ก้าวสู่ปีที่ 15 สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์พลิกโฉม ใช้เทคโนโลยีนิวเคลียร์พัฒนาสินค้าเกษตร-อาหารพื้นบ้าน

ก้าวขึ้นสู่ปีที่ 15 สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ พลิกโฉม ใช้งานวิจัยเทคโนโลยีนิวเคลียร์ช่วยยกระดับสินค้าเกษตร - ผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร  หนุนฉายรังสีอาหารพื้นบ้าน ยกระดับสินค้าสู่มาตรฐานและความปลอดภัย พุ่งเป้านำสินค้าขึ้นห้าง – ส่งออก   เร่งสร้างฐานข้อมูลอัตลักษณ์ข้าวหอมมะลิไทย ป้องกันการปลอมปน  เตรียมขยายฐานสู่ภูมิภาคหวังให้บริการเข้าถึงชุมชน ตั้งเป้า 4 ปี ข้างหน้า สร้างมูลค่าเพิ่มจากการให้บริการ 25,000 ล้านบาท

รศ.ดร. ธวัชชัย  อ่อนจันทร์

ผู้อำนวยการสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สทน. 

รศ.ดร. ธวัชชัย  อ่อนจันทร์ เปิดเผยว่า การก้าวสู่ปีที่ 15 จะเป็นก้าวที่สำคัญอีกก้าวหนึ่งที่ท้าทายมากสำหรับสถาบัน  เราต้องการที่จะเป็นองค์กรที่มีความแข็งแกร่งมากยิ่งขึ้น ทั้งในเรื่องของวิชาการ  เรื่องของความสามารถในการให้บริการที่ตอบโจทย์กับประเทศและสังคม สทน. ตั้งเป้าหมายใน 3 ส่วน  เรื่องแรกคือ การวิจัยและพัฒนา ตั้งเป้าไว้ว่าในช่วง 5 ปี ข้างหน้า  สทน. จะต้องเป็นหน่วยงานชั้นนำด้านเทคโนโลยีนิวเคลียร์ของประเทศในกลุ่มอาเซียน เพราะในช่วง 4 ปี ข้างหน้า ประเทศไทยจะมีโครงสร้างพื้นฐานทางด้านนิวเคลียร์ของประเทศเกิดขึ้น 2 โครงการ ที่จะช่วยยกระดับและเพิ่มขีดความสามารถของประเทศในเรื่องของการวิจัยและพัฒนาและการให้บริการในด้านต่าง ๆ เช่น เครื่องไซโคลตรอน ขนาด 30 MeV ที่จะถูกนำมาใช้ประโยชน์ในด้านการแพทย์ การตรวจวินิจฉัยโรค การผลิตสารเภสัชรังสีชนิดใหม่ ๆ ที่ในอดีตเราไม่สามารถผลิตได้ กkรวิจัยและพัฒนาวัสดุชนิดใหม่ๆ  ซึ่งจะช่วยลดมูลค่าการพึ่งพาจากต่างประเทศได้เป็นจำนวนมาก  ส่วนที่สองคือ เครื่องโทคาแมค เป็นเทคโนโลยีชั้นสูงที่ประเทศไทยเตรียมไว้สำหรับอนาคต  นี่คือโครงสร้างพื้นฐานที่เตรียมให้กับประเทศเพื่อที่จะให้ประเทศไทยก้าวไปข้างหน้าได้อย่างมั่นคง

สำหรับงานวิจัยและพัฒนา จะเร่งรัดให้มีงานวิจัยที่นำเอาเทคโนโลยีนิวเคลียร์ไปใช้ประโยชน์ให้มากขึ้น  และตอบโจทย์ของปัญหาสังคมในปัจจุบันให้ชัดเจนมากขึ้น ตัวอย่างของภารกิจที่จะเกิดขึ้นในอีก  2-3 ปีข้างหน้า คือ เรื่องของอาหารและการเกษตร  เป็นเรื่องสำคัญที่ สทน. จะต้องยกระดับให้เป็นรูปธรรม ด้วยการนำเทคโนโลยีนิวเคลียร์ไปใช้ประโยชน์ในเรื่องของเกษตรและอาหารสู่ชุมชนให้ได้  ไม่ใช่ตอบโจทย์เฉพาะภาคอุสาหกรรม  แต่ต้องตอบโจทย์ในกลุ่มของ เอสเอ็มอี ชุมชน และรายย่อยให้ได้  ตัวอย่างเช่น อาหารพื้นบ้านซึ่งประเทศไทยมีความหลากหลายอยู่เป็นจำนวนมาก  แตกต่างกันไปตามแต่ละภูมิภาค เช่น ไส้อั่ว น้ำบูดู  ฯลฯ  เพื่อยกกระดับมาตรฐานของอาหาร และผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรให้มีความปลอดภัยสำหรับการบริโภค ถูกสุขลักษณะมากยิ่งขึ้น มีอายุการเก็บรักษายาวนานขึ้น โดยจะทำงานร่วมกับภาคส่วนต่าง ๆ ในพื้นที่ เช่น ราชภัฎ ราชมงคล และมหาวิทยาลัยในพื้นที่ ให้ช่วยเก็บข้อมูลปัญหา เพื่อนำไปสู่การวิจัยและพัฒนาตัวสินค้า จนสามารถขยายไปเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ที่จะนำไปขายในห้างสรรพสินค้า หรือส่งออกไปต่างประเทศ โดยเฉพาะเรื่องของอาหารพื้นบ้าน สทน. จะดันให้ขึ้นมาเป็นตัวชูโรง  ขณะนี้ได้มีการติดต่อพูดคุยกับผู้ประกอบการบ้างแล้ว เช่น คุยกับผู้ผลิตเพื่อนำปูดองมาฉายรังสี นอกจากนี้จะคุยกับกลุ่มเอสเอ็มอีเพื่อนำอาหารให้เข้ามาทดลองมากขึ้น

ในส่วนของพืชผลทางการเกษตร สทน. พยายามจะนำเอาเทคโนโลยีนิวเคลียร์ไปใช้ในด้านนี้ให้มากขึ้น เช่น เรื่องของการพัฒนาปรับปรุงพันธุ์  ตั้งแต่เรื่องต้นน้ำ กลางน้ำและปลายน้ำ  จะพยายามตอบโจทย์ให้สมบูรณ์แบและครบวงจร  ขณะได้มีการพูดคุยกับสถาบันราชภัฏร้อยเอ็ดเกี่ยวกับการสร้างฐานข้อมูลเพื่อยืนยันอัตลักษณ์ของข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้ ที่ผ่านมามักจะมีการปลอมปนและนำข้าวจากแหล่งอื่นมาแอบอ้างว่าเป็นข้าวทุ่งกุลาร้องไห้ เพราะทำให้ขายข้าวได้ในราคาสูงขึ้น ถึงแม้ข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้จะถูกขึ้นทะเบียนว่าเป็นสินค้าบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ หรือ จีไอ (Geographical Indication)

แต่ในทางปฏิบัติก็ยังไม่มีวิธีพิสูจน์ที่สามารถยืนยันได้ร้อยเปอร์เซนต์ สทน. จึงร่วมกับสถาบันราชภัฏร้อยเอ็ดรวบรวมตัวอย่างข้าวหอมมะลิในพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้ แล้วนำมาวิเคราะห์องค์ประกอบของธาตุในข้าวตัวอย่างด้วยวิธีการของเทคโนโลยีนิวเคลียร์  สร้างเป็นฐานข้อมูลข้าวในทุ่งกุลาร้องไห้ เพราะข้าวในแต่ละพื้นที่จะมีองค์ประกอบของธาตุแตกต่างกันไปตามสภาพของดิน  ดังนั้น หากมีการนำข้าวอื่นมาปลอมปน หรือแอบอ้าง  เราจะสามารถตรวจพิสูจน์ได้ว่าเป็นข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้หรือไม่ โดยเปรียบเทียบกับฐานข้อมูลที่ทำไว้ ขณะนี้ได้เก็บ รวบรวมตัวอย่างข้าว และวิเคราะห์ข้อมูลมาในระดับหนึ่งแล้ว จนสามารถยืนยันความแตกต่างของข้าวจากภาคเหนือและภาคอีสานได้  แต่สำหรับข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้ จะต้องใช้เวลาอีกประมาณ 4 ปี ในการรวบรวมตัวอย่าง สร้างเป็นฐานข้อมูลที่จะนำไปสู่ความมั่นใจในการตัดสินใจ ถึงตอนนั้น สทน. ก็จะสามารถเปิดให้บริการตรวจพิสูจน์อัตลักษณ์ของข้าวได้  หากดำเนินการเป็นผลสำเร็จ วิธีการนี้จะเป็นเครื่องมือสำคัญที่กระทรวงพาณิชย์จะใช้ยืนยันว่าเป็นข้าวหอมมะลิจริงหรือไม่ หรือใช้เป็นเครื่องมือฟ้องร้องในกรณีที่มีนำข้าวมาคนแอบอ้างว่าเป็นข้าวหอมมะลิไทย  และที่สำคัญ จะเป็นเครื่องมือของผู้ประกอบการของไทยที่จะไปต่อสู้บนเวทีโลก เมื่อเรานำสินค้าของเราไปแข่งขันในต่างประเทศ อีกทั้งเป็นสร้างความเชื่อมั่นและยกระดับให้แก่เกษตรกรไทย หลังจากที่ สทน. สร้างฐานข้อมูลข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้เป็นผลสำเร็จ  ก็จะขยายขอบข่ายการดำเนินงานไปสู่ข้าวหอมมะลิตัวอื่นที่มีบทบาทสำคัญในการส่งออก และสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้ประเทศไทยเป็นจำนวนมาก นอกจากนี้ ยังได้เก็บฐานข้อมูลของกาแฟดอยช้าง และกาแฟดอยตุง  และที่กำลังให้ความสนใจสร้างฐานข้อมูลอีกชนิดหนึ่งคือ ข้าวสังข์หยด

​สำหรับการให้บริการของ สทน. รศ.ดร. ธวัชชัย ให้ความเห็นว่า จากการสำรวจในปีที่ผ่านมา บริการด้านต่าง ๆ ที่ สทน. เปิดให้บริการ สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจและสังคมได้ถึง 16,000 ล้านบาทต่อปี ซึ่งเป็นมูลค่าที่เกิดจากการบริการที่ สทน. ให้ผู้ประกอบการ และผู้ประกอบการนำสิ่งเหล่านี้ส่งออกไปต่างประเทศ ใช้งานจริง ไปสร้างเป็นเม็ดเงินให้กับประเทศ ในอีก 4 ปี ข้างหน้า  สทน. ตั้งเป้าไว้ว่าจะเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจจากการให้บริการอย่างน้อย 50 เปอร์เซ็นต์ หรือประมาณ 25,000 ล้านบาทต่อปี  และเพื่อที่จะให้ผู้ประกอบการในภูมิภาคได้มีโอกาสเข้าถึงบริการ  สทน. จึงมีแนวคิดขยายการดำเนินงานและการให้บริการของ สทน. ออกไปสู่ภูมิภาค  โดยเฉพาะไปตั้งในเขตอุทยานวิทยาศาสตร์ ซึ่งมีอยู่ 3 แห่ง ใน 3 ภูมิภาค คือ เชียงใหม่ ขอนแก่น และพังงา  หากมีความเหมาะสมในเชิงเศรษฐกิจ ก็จะขยายโดยนำเอาเทคโนโลยีต่าง ๆ เช่น การฉายรังสี และเทคโนโลยีอื่น ๆ ออกไปให้บริการแก่ผู้ประกอบการในภูมิภาค คาดว่าแต่ละศูนย์น่าจะใช้งบดำเนินการประมาณ 300-400 ล้านบาท  ขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้

​รศ.ดร. ธวัชชัย กล่าวสรุปในตอนท้ายว่า “การก้าวสู่ปีที่ 15 ก็จะเป็นก้าวที่สำคัญอีกก้าวหนึ่งที่ท้าทายมากสำหรับสถาบัน  เราต้องการที่จะเป็นองค์กรที่มีความแข็งแกร่งมากยิ่งขึ้น ทั้งในเรื่องของวิชาการ เรื่องของความสามารถในการให้บริการที่ตอบโจทย์กับประเทศและสังคม  และที่สำคัญ ต้องการที่จะเป็นองค์กรชั้นนำในภูมิภาคอาเซียนเกี่ยวกับเรื่องของเทคโนโลยีนิวเคลียร์  เพราะฉะนั้น ปีที่ 15 ของเรา เราจะก้าวไปข้างหน้า  มีความเข้มแข็งมากขึ้นทั้งทางด้านวิชาการ  ด้านการบริการและการบริการจัดการภายในองค์กรของเรา”

21 เมษายน 2563


บริษัท มีเดีย เน็ทเวิร์ค จำกัด
138, 140 ซอยอนามัย ถนนศรีนครินทร์ แขวงสวนหลวง เขตสวนหลวง กรุงเทพฯ 10250
MEDIA NETWORK Co.,Ltd
138, 140 Soi Anamai Srinakarin Road Suanluang Suanluang Bangkok 10250
Tel. 02 721 4417 Fax. 02 721 5516
E-mail : phototechthailand@gmail.com


ติดต่อโฆษณาหรือข้อมูลเพิ่มเติม
โทร. 02 721 4417 , 097 921 2929 คุณขวัญ

แฟนเพจ Phototech Magazine


ออกแบบโดย touronthai