อพท.เตรียมแหล่งท่องเที่ยววัฒนธรรมอาหารภาคตะวันตกดึง5 ชุมชน 1 เครือข่าย ใช้วัตถุดิบท้องถิ่นต่อยอดสู่เมนูใหม่

            อพท.นำศักยภาพวัตถุดิบท้องถิ่นรังสรรค์เมนูอาหารใหม่พร้อมเสิร์ฟนักท่องเที่ยวหลังจบโควิด-19นำร่อง 5 ชุมชน 1 เครือข่าย ใน 2 จังหวัดเพชรบุรี–ประจวบฯดันเป็นพื้นที่ท่องเที่ยวโดยชุมชนเน้นสร้างจุดขายผ่านกิจกรรมเส้นทางเมนูอาหารเด็ดพื้นถิ่น ดึงนักท่องเที่ยวสาย ช้อปซิม ชิล ท่องแหล่งวัฒนธรรมอาหารนายทวีพงษ์ วิชัยดิษฐผู้อำนวยการองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน(องค์การมหาชน) หรือ อพท. เปิดเผยว่า ตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาได้กำชับให้หน่วยงานในสังกัดหาแนวทางช่วยเหลือภาคการท่องเที่ยว และยังเป็นนโยบายของคณะกรรมการอพท. ล่าสุดอพท.อยู่ระหว่างการเข้าไปดำเนินการพัฒนาการท่องเที่ยวฝั่งทะเลตะวันตกในกิจกรรมการยกระดับวัตถุดิบท้องถิ่นสู่วัฒนธรรมอาหารแบบยั่งยืนโดยมอบหมายให้สำนักงานพื้นที่พิเศษ 8 หรืออพท.8 และสำนักท่องเที่ยวโดยชุมชนเพื่อดำเนินการ

5 ชุมชน 1 เครือข่าย ใน  2 จังหวัด คือจังหวัดเพชรบุรีและจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพทั้งด้านวัตถุดิบและวัฒนธรรมทางด้านอาหารที่เป็นเอกลักษณ์และพร้อมบริการการท่องเที่ยวที่ถือเป็นหนึ่งในกิจกรรมสำคัญของการส่งเสริมการท่องเที่ยวโดยชุมชนตามแผนยุทธศาสตร์ อพท. ระยะ 4 ปี (2562-2565)  “การพัฒนาเพิ่มศักยภาพให้แก่ชุมชนเป็นเรื่องสำคัญเพราะถือเป็นการเตรียมความพร้อม เพราะเมื่อสถานการณ์แพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 จบลง ชุมชนก็มีความพร้อมที่จะให้บริการแก่นักท่องเที่ยวที่จะเข้ามาเยือน” สำหรับชุมชนเป้าหมายที่ได้เข้าไปดำเนินการยกระดับ 5 ชุมชน และ 1 เครือข่ายประกอบด้วย 

          ชุมชนบ้านไร่กร่างจังหวัดเพชรบุรีที่มีการส่งเสริมและเข้าไปพัฒนาต่อยอดด้านอาหารที่เป็นเอกลักษณ์ของชุมชน โดยตามแนวคิดที่ศึกษาและเป้าหมายที่วางไว้คือต้องการให้ชุมชนแห่งนี้อนุรักษ์วิถีตาลผ่านการท่องเที่ยวโดยนำตาลโตนดที่เป็นวัตถุดิบหลักของท้องถิ่น ได้นำไปใช้ประกอบอาหารเป็นเมนูอาหารต่างๆเช่น แกงหัวโหนด ยำหัวโหนด และผลักดันเข้าสู่โครงการ "เชฟชุมพลสร้างเชฟชุมชน" เพื่อสร้างสรรค์เมนูใหม่ เช่นยำหัวโหนด สเต็กหัวโหนดโดยมีการจัดวาง และตกแต่งอาหาร ให้สามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวและพร้อมเข้าร่วมโครงการพัฒนาสู่การท่องเที่ยวเชิงอาหาร (gastronomytourism) ซึ่งสามารถเปิดเป็นเส้นทางกิจกรรมการท่องเที่ยวแหล่งวัตถุดิบสำหรับประกอบอาหารที่ครบวงจร   

          ชุมชนบ้านถ้ำเสือโฮมสเตย์ จังหวัดเพชรบุรี มีศักยภาพและจุดเด่นในเรื่องของทัศนียภาพและชื่อของชุมชนที่เป็นเอกลักษณ์ สามารถดึงดูดความสนใจของนักท่องเที่ยวรวมถึงเป็นแหล่งวัตถุดิบต่างๆทางธรรมชาติที่ปลอดสารพิษ เช่น หน่อไม้ ปลาน้ำจืดผักกูด และผักตามฤดูกาลที่มีอยู่ในชุมชนตลอดทั้งปี จึงสามารถพัฒนาไปสู่การเป็นร้านอาหารชุมชนเพื่อบริการนักท่องเที่ยวที่พร้อมเข้าสู่การพัฒนาเมนูอาหารใหม่ในโครงการ"เชฟชุมพล สร้างเชฟชุมชน" รวมทั้งการพัฒนาสู่การท่องเที่ยวเชิงอาหาร (gastronomytourism) ที่สามารถเปิดให้มีกิจกรรมเป็นแหล่งเรียนรู้การประกอบอาหารให้กับนักท่องเที่ยว

         ชุมชนบ้านทุ่งประดู่ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์เป็นชุมชนที่มีเอกลักษณ์ในการนำวัตถุดิบ ที่แตกต่างจากพื้นที่อื่นๆมาประกอบอาหารสามารถหาทานได้ที่นี้เพียงแห่งเดียวไม่ว่าจะเป็นเมนูผักต่างๆที่ชุมชนปลูกขึ้นและใช้ปลาที่หาได้ในชุมชน ได้แก่เมนูงบปลายาง น้ำพริกกะปิที่ใช้เคยมาเป็นวัตถุดิบ  รวมถึงเมนูขนมหวานอย่างอัญมณีนกคุ้มที่มีการถ่ายทอดเรื่องราวที่น่าสนใจให้กับนักท่องเที่ยวได้

         ชุมชนบ้านม้าร้องจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เป็นแหล่งปลูกมะพร้าวที่ชุมชนนำมาเป็นวัตถุดิบหลักประกอบอาหารต่างๆตามวิถีชุมชนเช่น เมนูแกงเหมงพร้าว ซึ่งมีเรื่องราวที่และสามารถถ่ายทอดการเมนูอาหารโดยนักสื่อความหมายของชุมชนที่ผ่านการอบรมของ อพท.รวมทั้งเมนูดังกล่าวยังสามารถเข้าร่วมโครงการ "เชฟชุมพล สร้างเชฟชุมชน"เพื่อสร้างสรรค์เมนูใหม่ เช่น ยำม้าร้อง แกงเหมงพร้าว

        ในขณะที่ชุมชนบ้านหินเทินจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เป็นแหล่งปลูกมะพร้าวและกุยช่ายจำนวนมาก  มีจุดเด่นเมนูอาหารพื้นถิ่นดั่งเดิม เช่นผัดกากมะพร้าว แกงเหมงพร้าว แกงยอดมะพร้าวซึ่งชุมชนได้มีการพัฒนาภาชนะที่ทำจากผลิตภัณฑ์จากมะพร้าว เช่น โจ๊กกะลากาแฟเสิร์ฟในแก้วมะพร้าว มาเป็นจุดขายเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวที่น่าสนใจอีกทั้ง อพท.ยังได้เข้าไปส่งเสริมในพื้นที่เครือข่ายท่องเที่ยวคีรีมณีประดู่จังหวัดเพชรบุรี ซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมของชนเผ่าไทยทรงดำที่มีเรื่องราววิถีของชุมชนและอาหารประจำชนเผ่า ที่มีการถ่ายทอดสืบต่อกันมาโดยเฉพาะเมนูผักจุ๊บ และแจ่วด้าน สามารถเป็นแหล่งกิจกรรมเรียนรู้ด้านการทำอาหารตามวิถีชนเผ่า อย่างไรก็ตามอพท.ยังได้เตรียมพร้อมที่จะขยายการพัฒนากิจกรรมการท่องเที่ยวโดยชุมชนทั้งในด้านการพัฒนานักสื่อความหมายกิจกรรมการท่องเที่ยว รวมถึงยกระดับการให้บริการกับนักท่องเที่ยวโดยการนำจุดเด่นที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวของชุมชนมาเป็นจุดขาย  พร้อมกับสร้างเรื่องราวให้เกิดความน่าสนใจ เช่นเรื่องเล่าอาหาร (Story Telling) และการจัดทำปฎิทินฤดูกาลอาหารท้องถิ่นและหมวดหมู่อาหาร (Category) เพื่อเป็นตัวเลือกดึงดูดนักท่องเที่ยวตลอดทั้งปี

9 เมษายน 2563


บริษัท มีเดีย เน็ทเวิร์ค จำกัด
138, 140 ซอยอนามัย ถนนศรีนครินทร์ แขวงสวนหลวง เขตสวนหลวง กรุงเทพฯ 10250
MEDIA NETWORK Co.,Ltd
138, 140 Soi Anamai Srinakarin Road Suanluang Suanluang Bangkok 10250
Tel. 02 721 4417 Fax. 02 721 5516
E-mail : phototechthailand@gmail.com


ติดต่อโฆษณาหรือข้อมูลเพิ่มเติม
โทร. 02 721 4417 , 097 921 2929 คุณขวัญ

แฟนเพจ Phototech Magazine


ออกแบบโดย touronthai