กสทช. หนุนเปิดเสรี “ดาวเทียม” เชื่อมโยงอุตสาหกรรมแห่งอนาคต

กสทช. ซึ่งเป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบในการจัดสรรคลื่นความถี่และวางโรดแมปจากระบบสัมปทานสู่ระบบใบอนุญาต ทั้งนี้กิจการดาวเทียมมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อหลายอุตสาหกรรมและภาคประชาชน ล่าสุด ทาง กสทช. เตรียมดันให้เกิดการแข่งขันเสรีดาวเทียมขึ้น เพื่อสร้างโอกาสในการลงทุนใหม่ๆ ช่วยภาคธุรกิจขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจดิจิทัลไทย

16 ธันวาคม 2562 - SM Magazine (เอสเอ็มแมกกาซีน) นิตยสารการตลาดชั้นนำ ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) จัดงานสัมมนา “OpenSky 2020 : Opportunities and Challenges โอกาส และความท้าทายในกิจการดาวเทียมของไทย" ด้วยระบบสัมปทานของไทยได้ถูกเปลี่ยนผ่านไปยังการแข่งขันที่เสรีและเป็นธรรมมากขึ้น ส่งผลให้ระบบเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศถูกพัฒนาด้วยฟันเฟืองชิ้นสำคัญ บริษัทเอกชน และบริษัทต่างชาติจำนวนไม่น้อยสนใจลงทุนในหลายอุตสาหกรรมเมื่อมีการเปิดแข่งขันเสรี ซึ่งธุรกิจดาวเทียมก็เช่นกัน ตลาดกลุ่มนี้มีผู้เล่นน้อยรายมาตลอดระยะเวลาหลายสิบปีที่ผ่านมา เมื่อมีการปลดล็อกให้เกิดการแข่งขันที่เท่าเทียม จึงเป็นที่จับตาของนักลงทุน

​พล.อ.ท.ดร.ธนพันธุ์ หร่ายเจริญ รองเลขาธิการ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (รองเลขาธิการ กสทช.) กล่าวว่า หัวใจสำคัญในการออกใบอนุญาต แน่นอนว่าจะเปิดให้มีการแข่งขันด้านกิจการดาวเทียมของประเทศไทยอย่างเสรีและเป็นธรรม เพราะฉะนั้น จึงต้องใช้วิธีการออกใบอนุญาตเพื่อให้ทุกฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นผู้เล่นรายเก่าหรือรายใหม่สามารถเข้าสู่กิจการดาวเทียมได้อย่างเท่าเทียมกัน ซึ่งเป็นหลักการที่สากลและหลายประเทศให้การยอมรับ
​ทั้งนี้ การแข่งขันของกิจการดาวเทียมเป็นการเปิดการแข่งขันใน 2 มิติ คือ การแข่งขันทั้งในภาคอวกาศ (Space Segment) และภาคพื้นดิน (Ground Segment) กล่าวคือ เปิดโอกาสให้มีหลายบริษัทเข้ามาแข่งขันให้มีการพัฒนาดาวเทียมสัญชาติไทยไปสู่อวกาศ และเปิดโอกาสให้มีหลายบริษัทเข้ามาแข่งขันให้สามารถใช้ช่องสัญญาณดาวเทียมต่างชาติในประเทศไทย หรือ (Landing Right) ได้ ทั้งนี้เพื่อการเปิดโอกาสให้เกิดบริษัทรายใหม่มาร่วมแข่งขันในการลงทุนในประเทศไทยมากยิ่งๆ ขึ้น 
โดยการเปิดเสรีใน 2 ด้าน หากถ้าเปิดด้านใดด้านหนึ่งมากเกินไปโดยไม่มีความสมดุลที่เหมาะสมก็จะทำให้อีกด้านประสบปัญหาไปด้วย

​พ.อ.ดร.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ ประธานคณะอนุกรรมาธิการติดตามและตรวจสอบการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางดิจิทัลและความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ รองประธานคณะกรรมาธิการการสื่อสาร โทรคมนาคมและดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมกล่าวว่า แท้ที่จริงแล้ว disruption ยังไม่ได้เกิดขึ้นเลย แต่มันกำลังจะเกิดขึ้นเมื่อเครือข่ายดาวเทียม LEO เชื่อมโยงกับ 5G จนทำให้ทุกอุตสาหกรรมเปลี่ยนไปอย่างพลิกผัน

ดร.ดนันท์ สุภัทรพันธุ์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานการตลาดและบริการ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) หรือ CAT กล่าวว่า โอกาสของธุรกิจดาวเทียมยังเติบโตได้อีกมาก ซึ่งในอนาคตอันใกล้ระบบสื่อสารดาวเทียมจะถูกพัฒนาโดยส่งดาวเทียมสื่อสารขึ้นไปในย่านวงโคจรระยะต่ำ (LEO : Low Earth Orbit ) ซึ่ง CAT อยู่ระหว่างเจรจากับพันธมิตรธุรกิจที่เป็นผู้ให้บริการระบบสื่อสารดาวเทียมในย่านนี้ ทั้งนี้ เมื่อประเทศไทยมีความต้องการใช้งานข้อมูลผ่านดาวเทียมขนาดใหญ่และ 5G จะทำให้ CAT สามารถให้บริการรองรับได้ทันทีและยังมีการเจรจากับพันธมิตรธุรกิจด้วยการเสนอพื้นที่สถานีดาวเทียมภาคพื้นดินของ CAT ให้เป็นสถานี Gateway ของเครือข่าย ดาวเทียม LEO ที่มีการใช้งานลักษณะกลุ่มดาวเทียม (Constellation) ครอบคลุมทั่วโลกประมาณ 800 ดวง
 
นอกจากนี้มองว่า Smart HomeและSmart City จะเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ขับเคลื่อนให้ความต้องการการใช้งาน IoT เพิ่มมากขึ้นในอนาคต เนื่องจากเป็นเทคโนโลยีที่ช่วยอำนวยความสะดวกสบายและยกระดับคุณภาพชีวิต

อนันต์ แก้วร่วมวงศ์ กรรมการ กรรมการบริหารและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า เป็นเรื่องปกติเมื่อมีการเปิดเสรีทางการแข่งขันและมีรายใหม่เข้ามาในตลาดนี้  เพราะทุกวันนี้รายได้ 50% ของไทยคมมาจากต่างประเทศ ซึ่งการที่ไทยคมไปทำตลาดต่างประเทศนั้น คือการเข้าไปแข่งขันกับรายอื่น มีแต่ในประเทศไทยเท่านั้นที่ไม่ได้แข่งกับใคร การเปิดเสรีจึงเป็นเรื่องที่ดีเพราะจากเดิมในระบบสัมปทานต้องเสีย Revenue Sharing อยู่ที่ประมาณ 22% ซึ่งเป็นอัตราที่สูงมากถ้าเปรียบเทียบกับการที่ไทยคมไปทำตลาดในต่างประเทศไม่ได้ส่วนนี้ อีกทั้ง การเปิดเสรีนั้นก็ยังคงมีกติกาและเงื่อนไขที่จะต้องปฏิบัติตาม ซึ่งอยู่ภายใต้พระราชบัญญัติการประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2544 ซึ่งบริษัทที่จะเข้ามาทำกิจการในประเทศไทยจะต้องจดทะเบียนเป็นบริษัทไทย ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับต่างชาติที่จะเข้ามาตั้งบริษัทในประเทศ ดังนั้น วิธีการทำตลาดอาจจะเปลี่ยนเป็นบริษัทต่างชาติเข้ามาเป็นพาร์ทเนอร์กับไทยคม เพื่อสร้างกลยุทธ์ในการทำตลาด ซึ่งบริษัทระดับโกลบอลพาร์ทเนอร์เริ่มมีเข้ามาคุยกับไทยคมแล้ว จึงมองว่าเปิดเสรีธุรกิจดาวเทียมเป็นโอกาสมากกว่า ซึ่งจะช่วยให้ไทยคมมีพาร์ทเนอร์เพิ่มขึ้น

วรายุทธ เย็นบำรุง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท มิว สเปซ แอนด์ แอดวานซ์ เทคโนโลยี จำกัด กล่าวว่า จุดแข็งของ มิว สเปซ ที่จะแตกต่างจากผู้เล่นรายเดิมในตลาดคือ ความสามารถในการ Customization เป็นการคิดและปรับเปลี่ยนการให้บริการและนำเสนอผลิตภัณฑ์ให้เข้ากับสิ่งที่ลูกค้าต้องการ สามารถปรับเปลี่ยนสิ่งที่มีให้ตอบโจทย์ลูกค้าได้อย่างรวดเร็วและเมื่อมีการเปิดเสรีทางการแข่งขันในธุรกิจนี้ จะยิ่งส่งผลดีต่อการขยายธุรกิจดาวเทียมของมิว สเปซ โดยมุ่งเน้นในการให้บริการด้านการรับส่งข้อมูล (Data) เป็นหลัก ทั้งนี้ คาดว่า ปี 2563 มิว สเปซจะเติบโตได้ถึง 300%

หลังจากเปิดเสรีดาวเทียม ซึ่งการเปิดเสรีทางการแข่งขันของธุรกิจนี้เป็นเรื่องที่ดี ต้องบอกว่าดาวเทียมนั้นมีความเป็นเสรีอยู่แล้ว การเปิดแข่งขันเสรีในไทยจะเป็นการสร้างทางเลือกให้กับผู้ใช้บริการ ซึ่งลูกค้าของมิว สเปซ มีทั้งระดับองค์กรและผู้ให้บริการต่างๆ ในประเทศ ซึ่งการเปิดเสรีจะสร้างโอกาสให้เกิดบริษัทดาวเทียมใหม่ๆ เข้ามามากขึ้น เป้าหมายปัจจุบันของมิว สเปซ ชัดเจนไปที่การมุ่งเน้นในเรื่องของธุรกิจการรับส่ง Data

16 ธันวาคม 2562


บริษัท มีเดีย เน็ทเวิร์ค จำกัด
138, 140 ซอยอนามัย ถนนศรีนครินทร์ แขวงสวนหลวง เขตสวนหลวง กรุงเทพฯ 10250
MEDIA NETWORK Co.,Ltd
138, 140 Soi Anamai Srinakarin Road Suanluang Suanluang Bangkok 10250
Tel. 02 721 4417 Fax. 02 721 5516
E-mail : phototechthailand@gmail.com


ติดต่อโฆษณาหรือข้อมูลเพิ่มเติม
โทร. 02 721 4417 , 097 921 2929 คุณขวัญ

แฟนเพจ Phototech Magazine


ออกแบบโดย touronthai