ชี้แจงกรณี นายศรีสุวรรณ จรรยา และชาวองครักษ์ร้อง ปปช. กรณีเก็บกากกัมมันตรังสีที่องครักษ์

ตามที่สื่อมวลชนหลายสำนักได้มีการนำเสนอข่าวที่ นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย เปิดเผยว่า ตามที่สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ(องค์กรมหาชน) หรือ สทน. ได้ก่อตั้งสถานประกอบการทางนิวเคลียร์ขึ้นที่ ต.ทรายมูล อ.องค์รักษ์ และมีการนำกากกัมมันตรังสีซึ่งเกิดจากการผลิต หรือการใช้วัสดุนิวเคลียร์หรือจากเครื่องกําเนิดรังสี ที่หมดอายุการใช้งานแล้ว ซึ่งเดิมมีการเก็บรักษาไว้ที่สำนักงานเดิมที่ถนนวิภาวดีบางเขน ข้าง มก. และศูนย์ฉายรังสีคลอง 5 ปทุมธานี โดยมีการจัดจ้างเอกชนให้ทำการขนย้ายกากกัมมันตรังสีทั้ง 2 แห่งดังกล่าว ไปเก็บรักษาไว้ ณ โรงเก็บกากกัมมันตรังสี อ.องค์รักษ์ ซึ่งถูกกำหนดให้เป็นสถานประกอบการทางนิวเคลียร์ โดยที่ภาคประชาชนในพื้นที่อำเภอองค์รักษ์ และหรือประชาชนในพื้นที่จังหวัดนครนายกไม่มีใครทราบข้อมูลดังกล่าวเลยแต่อย่างใด ตลอดจนระบุว่า สทน.ไม่ดำเนินตามกฏหมายที่เกี่ยวข้องกับการจัดตั้งสถานประกอบการทางนิวเคลียร์ที่เกี่ยวข้อง

          ดร.พรเทพ นิศามณีพงษ์ ผู้อำนวยการสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สทน. ได้ชี้แจงประเด็นที่ นายศรีสุวรรณ และชาวอำเภอองครักษ์ไปร้อง ปปช.นั้นน่าจะเป็นความเข้าใจคลาดเคลื่อน และมีหลายประเด็นที่ไม่ถูกต้อง ซึ่งสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ ของชี้แจงประเด็นต่างๆ ดังนี้

  1. สทน. เป็นหน่วยงานของรัฐประเภทองค์การมหาชน จัดตั้งขึ้นตามพระราชกฤษฎีกา การจัดตั้งสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติปี พ.ศ.2549 แก้ไขเพิ่มเติมปี พ.ศ. 2561 โดยรับโอนภารกิจสำคัญๆ มาจากสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ อาทิ การเดินเครื่องปฏิกรณ์ปรมาณูวิจัย การผลิตสารเภสัชรังสี การฉายรังสีและอาหารและผลิตผลการเกษตร  โดยกิจกรรมต่างๆ เหล่านี้ สทน.ได้รับใบอนุญาตการเป็นสถานประกอบการทางนิวเคลียร์และใบอนุญาตครอบครองวัสดุกัมมันตรังสี ภายใต้พระราชบัญญัติพลังงานปรมาณูเพื่อสันติปี พ.ศ. 2504 ทุกกิจกรรม
  2. สำหรับที่ระบุว่า สทน.ไม่ทำการตามมาตรา 51 แห่งพระราชบัญญัติพลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติ พ.ศ. 2559 นั้นอาจจะเป็นความเข้าใจคลาดเคลื่อน โดยมาตรา 51 ที่ระบุในพระราชบัญญัติพลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติ พ.ศ. 2559 นั้น เป็นเรื่องเกี่ยวกับสถานประกอบการทางนิวเคลียร์ ซึ่งปัจจุบันสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) อยู่ระหว่างการดำเนินการศึกษาความเป็นไปได้ และจัดทำรายงานผลกระทบด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อม (EHIA) เพื่อขอจัดตั้งเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์วิจัยเครื่องใหม่ ขั้นตอนดังกล่าวเพิ่งเริ่มดำเนินการ ยังไม่มีการอนุมัติการก่อสร้างโครงการแต่อย่างใด สทน.จึงยังไม่มีความจำเป็นต้องขอรับใบอนุญาตสถานประกอบการทางนิวเคลียร์ตามที่ระบุ
  3. สำหรับกรณีกากกัมมันตรังสีนั้น เนื่องจาก สทน. จัดตั้งขึ้นตามพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) พ.ศ.  2549 โดยรับโอนภารกิจหน้าที่ของสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ (ปส.) ในส่วนที่เป็นวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีนิวเคลียร์มาดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี โดยพระราชบัญญัติพลังงานปรมาณูเพื่อสันติ พ.ศ. 2504 มิได้กำหนดเกี่ยวกับใบอนุญาตผู้ให้บริการจัดการกัมมันตรังสี สทน. ดำเนินการตามพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) พ.ศ.  2549 โดยให้ดำเนินการจัดการกากกัมมันตรังสีให้เป็นไปตามมาตรฐานและกฎหมายอื่นๆที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ ในส่วนของกฎกระทรวงเกี่ยวกับใบอนุญาตผู้ให้บริการจัดการกากกัมมันตรังสี ประกอบพระราชบัญญัติพลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติ ปี 2559 ขณะนี้ยังมิได้ประกาศใช้บังคับ สทน. ยังคงปฏิบัติตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องและเป็นไปตามมาตรฐานสากล

ปัจจุบัน สทน.เป็นหน่วยงานของรัฐหน่วยงานเดียวที่ทำหน้าที่ในการจัดการกากกัมมันตรังสี โดยดำเนินการให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล เพื่อความปลอดภัยของประชาชนและสิ่งแวดล้อม อย่างไรก็ตามในฐานะผู้บริหารสูงสุดของ สทน.ขอยืนยันว่า การดำเนินการของ สทน.ดำเนินการอย่างถูกต้องเป็นไปตามกฎหมายและข้อกำหนดต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง และยังได้รับการตรวจสอบจากหน่วยงานภายนอก อาทิ สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ (ปส.) ในฐานะหน่วยงานกำกับดูแลภายในประเทศ และทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (IAEA) หน่วยงานด้านนิวเคลียร์ของสหประชาชาติ ขอให้เชื่อมั่นว่าเราจะดำเนินทุกกิจกรรมอย่างตรงไปตรงมา และตรวจสอบได้ ดร.พรเทพ กล่าวในตอนท้าย

3 ธันวาคม 2562


บริษัท มีเดีย เน็ทเวิร์ค จำกัด
138, 140 ซอยอนามัย ถนนศรีนครินทร์ แขวงสวนหลวง เขตสวนหลวง กรุงเทพฯ 10250
MEDIA NETWORK Co.,Ltd
138, 140 Soi Anamai Srinakarin Road Suanluang Suanluang Bangkok 10250
Tel. 02 721 4417 Fax. 02 721 5516
E-mail : phototechthailand@gmail.com


ติดต่อโฆษณาหรือข้อมูลเพิ่มเติม
โทร. 02 721 4417 , 097 921 2929 คุณขวัญ

แฟนเพจ Phototech Magazine


ออกแบบโดย touronthai