การแก้ปัญหาความไม่เท่าเทียมอาจช่วยรักษาชีวิตเด็กนับล้าน ความเสี่ยงของการเสียชีวิตในเด็กวัยก่อน 5 ปีในประเทศไทยมีความแตกต่างกันกว่า 4 เท่า

ซีแอตเติล – การศึกษาเกี่ยวกับการเสียชีวิตในเด็กเกือบยี่สิบปีที่ผ่านมาพบว่า แนวโน้มของเด็กที่อยู่รอดจนอายุ 5 ปีในประเทศไทยนั้นมีความแปรผันระหว่างพื้นที่สาธารณสุขท้องถิ่นทั่วประเทศมากกว่าสี่เท่า

จากการศึกษาภาระโรคทั่วโลก (Global Burden of Disease) พบว่า ในประเทศไทย พ.ศ. 2560 มีเด็กจำนวน 5,807 คนเสียชีวิตก่อนมีอายุครบ 5 ปี ในขณะที่เมื่อพ.ศ. 2543  เสียชีวิตมากถึง 18,509 คน โดยพื้นที่สาธารณสุขท้องถิ่นอ.สังขละบุรี จ.กาญจนบุรี มีอัตราการตายสูงสุดอยู่ที่ 19.6 คน  ส่วนอัตราการตายต่ำสุดที่ 4.5 คน อยู่ที่อ.บ้านกรวด จ.บุรีรัมย์  ความผิดปกติของทารกแรกเกิด เป็นสาเหตุหลักของการเสียชีวิตในเด็กวัยก่อน 5 ปี ทั้งในพ.ศ. 2543 และพ.ศ. 2560  นอกจากนี้ กว่าครึ่งของเด็กที่เสียชีวิตทั้งหมดในช่วงที่ทำการศึกษานี้ล้วนมาจากสาเหตุดังกล่าว

การศึกษานี้นับเป็นครั้งแรกที่มีการศึกษาภาวะการเสียชีวิตในเด็กในระดับสาธารณสุขท้องถิ่นของประเทศที่มีรายได้ระดับล่างและระดับกลางจำนวน 99 ประเทศทั่วโลก ผลการศึกษาได้รับการตีพิมพ์ในวารสาร เนเชอร์ (Nature) ในวันนี้แสดงถึงแผนผังความไม่เท่าเทียมด้านสาธารณสุขทั้งในระดับประเทศและระดับภูมิภาค ซึ่งมักเห็นไม่ชัดเจนในการวิเคราะห์ระดับประเทศ และยังมี แผนภูมิเชิงปฏิสัมพันธ์ ที่แสดงอัตราการเสียชีวิตในเด็กในแต่ละปีอีกด้วย

จากการศึกษาโดยสถาบันชี้วัดและประเมินผลด้านสุขภาพ (Institute for Health Metrics and Evaluation – IHME) แห่งคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยวอชิงตันเผยว่า ในประเทศต่างๆ ที่มีอัตราการเสียชีวิตในเด็กสูงกว่าร้อยละ 90 เมื่อพ.ศ. 2560  เมื่อเปรียบเทียบทุกประเทศที่ทำการศึกษา แนวโน้มของเด็กที่จะเสียชีวิตก่อนอายุ 5 ปีมีความต่างกันในระดับสาธารณสุขท้องถิ่นมากกว่า 40 เท่า

นักวิจัยได้ประเมินว่า หากสาธารณสุขท้องถิ่นทุกแห่งในประเทศที่มีรายได้ระดับล่างถึงระดับกลางที่ทำการศึกษาสามารถทำได้ตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goal – SDG) ของสหประชาชาติ จะส่งผลให้มีเด็กเสียชีวิตลดลงอย่างน้อย 2.6 ล้านคน หรือ 25 คนต่อเด็กที่เกิดมา 1,000 คน และหากสาธารณสุขท้องถิ่นทุกแห่งสามารถยกระดับขึ้นมาได้ในระดับเดียวกับโรงพยาบาลชั้นแนวหน้าของประเทศนั้นๆ คาดว่า จำนวนเด็กเสียชีวิตจะสามารถลดลงได้ถึง 2.7 ล้านคน

จากสาธารณสุขท้องถิ่นจำนวน 17,554 แห่งใน 99 ประเทศที่ทำการศึกษานั้น ส่วนใหญ่มีพัฒนาการที่ดีในการลดการเสียชีวิตในเด็ก แต่ในระหว่างการศึกษา ระดับของความไม่เท่าเทียมกันระหว่างสาธารณสุขท้องถิ่นแต่ละแห่งนั้นต่างกันไป แม้ว่าโดยมากแล้วการเสียชีวิตในเด็กจะลดลงในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา แต่อัตราการเสียชีวิตที่สูงที่สุดในพ.ศ. 2560 ก็ยังคงอยู่ในชุมชนเดิมๆ ที่เคยมีอัตราการเสียชีวิตสูงสุดเมื่อพ.ศ. 2543

ดร. ไซมอน ไอ. เฮย์ ผู้อำนวยการกลุ่มภาระโรคท้องถิ่น (Local Burden of Disease – LBD) ของสถาบันชี้วัดและประเมินผลด้านสุขภาพ และเป็นนักวิจัยอาวุโสของการศึกษานี้ กล่าวว่า “เป็นเรื่องแย่และน่าเศร้าที่โดยเฉลี่ยแล้วมีเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปีเสียชีวิตเกือบ 15,000 คนทุกวัน น่าสงสัยว่า ทำไมบางพื้นที่จึงทำได้ดี ในขณะที่อีกหลายพื้นที่ยังมีปัญหาในการที่จะลดจำนวนเด็กเสียชีวิต เราจำเป็นต้องเลือกวิธีแก้ปัญหาที่ตรงจุด เช่น การให้วัคซีนต่างๆ ซึ่งผลการศึกษาของเราได้ให้รูปแบบข้อมูล (platform) สำหรับรัฐมนตรีสาธารณสุข คณะแพทย์ และผู้เกี่ยวข้องในแต่ละประเทศ เพื่อใช้ในการระบุพื้นที่ที่ควรเร่งพัฒนาระบบสาธารณสุข”

ดร. เฮย์กล่าวว่า การศึกษานี้ได้รับทุนจากมูลนิธิบิลและเมลินดา เกตส์  โดยผลการศึกษาเผยให้เห็นถึง พื้นที่ที่ประสบความสำเร็จด้านสาธารณสุข ซึ่งสามารถนำกลยุทธ์ของพื้นที่เหล่านั้นไปปรับใช้ได้กับพื้นที่อื่นๆ ทั้งในระดับประเทศและระดับนานาชาติ

ยกตัวอย่างจากประเทศรวันดา ในพื้นที่สาธารณสุขท้องถิ่นที่มีอัตราเด็กเสียชีวิตสูงที่สุดในพ.ศ. 2560 มีจำนวนน้อยกว่าครึ่งหนึ่งของพื้นที่สาธารณสุขท้องถิ่นที่มีอัตราเด็กเสียชีวิตต่ำสุดเมื่อพ.ศ. 2543 ซึ่งอัตราการเสียชีวิตในเด็กที่ลดลงนี้ส่วนหนึ่งมาจากการลงทุนเพื่อสุขภาพเด็กในชุมชนที่ยากจนที่สุด การขยายตัวของการประกันสุขภาพ และการเพิ่มจำนวนของบุคลากรด้านสาธารณสุขในชุมชน  ส่วนประเทศเนปาล มีการลดความไม่เท่าเทียมกันระหว่างสาธารณสุขท้องถิ่นอย่างมีนัยสำคัญตลอดระยะเวลาที่ทำการศึกษา ในขณะเดียวกัน ประเทศเปรู ก็สามารถลดอัตราการเสียชีวิตในเด็กและความไม่เท่าเทียมลงได้หลังจากริเริ่มโครงการเพื่อสุขภาพและโครงการต้านความยากจนอย่างยั่งยืน

ผลการศึกษานี้ ได้ประเมินทั้งอัตราและจำนวนที่แน่นอนของการเสียชีวิตในแต่ละพื้นที่ของสาธารณสุขท้องถิ่น และนำเสนอภาพรวมของการเสียชีวิตในเด็กทั่วโลก ซึ่งชี้ให้เห็นถึง แนวโน้มและรูปแบบที่สำคัญในประเด็นดังกล่าว

จากการศึกษาพบว่า สัดส่วนของการเสียชีวิตในเด็กนั้นเพิ่มสูงขึ้นในบริเวณที่เคยมีอัตราการเสียชีวิตโดยรวมต่ำ  และพบว่า ทั้งการเสียชีวิตของทารกแรกเกิด (การเสียชีวิตของทารกในช่วง 28 วันหลังคลอด) และการเสียชีวิตของทารก (การเสียชีวิตของทารกในช่วงขวบปีแรก) มีอัตราที่เพิ่มสูงขึ้น  แนวโน้มเหล่านี้แสดงให้เห็นถึงความจำเป็นในการปรับวิธีจัดการให้เข้ากับท้องถิ่น

ดร. เฮย์และทีมวิจัยกำลังศึกษาลงลึกในรายละเอียดของกลุ่มปัจจัยที่มีผลต่อการอยู่รอดของเด็ก ซึ่งรวมถึงด้านการศึกษา ภาวะทุพโภชนาการ และการป้องกันโรค เพื่อสร้างความเข้าใจที่ดียิ่งขึ้นเกี่ยวกับอุปสรรคที่เฉพาะเจาะจงในแต่ละภูมิภาค

ผลการศึกษาในครั้งนี้ ยังพบว่า:  

• ในพ.ศ. 2560 เกือบ 1 ใน 3 ของสาธารณสุขท้องถิ่นจำนวน 17,554 แห่งใน 99 ประเทศที่ทำการศึกษานั้นสามารถทำได้ตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน คือมีการเสียชีวิตในเด็กไม่เกิน 25 คนต่อเด็กที่เกิดมา 1,000 คน

• ใน 43 ประเทศที่ทำการศึกษานั้น พื้นที่สาธารณสุขท้องถิ่นที่มีอัตราการเสียชีวิตในเด็กที่แย่ที่สุดในพ.ศ. 2560 นั้น ก็ยังอยู่ในระดับที่ดีกว่าพื้นที่สาธารณสุขท้องถิ่นที่มีอัตราการเสียชีวิตในเด็กที่ดีที่สุดในพ.ศ. 2543

• อัตราการเสียชีวิตในเด็กสูงสุดในพ.ศ. 2543 ในระดับท้องถิ่นนั้นเกิน 300 คนต่อเด็ก 1,000 คนเพียงเล็กน้อย  ส่วนในพ.ศ. 2560 อัตราการเสียชีวิตในเด็กที่สูงสุดคือ 195 คนต่อเด็ก 1,000 คน ซึ่งทั้งสองสถิตินั้นเป็นของประเทศไนจีเรีย

• ส่วนในระดับประเทศนั้น โคลัมเบีย กัวเตมาลา ลิเบีย ปานามา เปรู และเวียดนาม ล้วนประสบความสำเร็จในการทำตามเป้าหมาย คือ มีอัตราการเสียชีวิตในเด็กไม่เกิน 25 คนต่อเด็ก 1,000 คนในพ.ศ. 2560 แต่ก็มีหลายเทศบาล อำเภอ หรือจังหวัดที่ไม่สามารถทำได้ตามเป้า

• ในช่วงที่ทำการศึกษา ร้อยละ 91 ของประเทศทั้งหมดที่ทำการศึกษา มีสัดส่วนของการเสียชีวิตในทารกแรกเกิดจนถึง 28 วันหลังคลอดเพิ่มขึ้น และร้อยละ 83 ของสาธารณสุขท้องถิ่นในประเทศเหล่านั้น ก็มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเช่นเดียวกัน

• มีการเพิ่มสูงขึ้นของสัดส่วนการเสียชีวิตในเด็กในพื้นที่ที่เคยมีอัตราการเสียชีวิต “ต่ำ” โดยในพ.ศ. 2543 มีการเสียชีวิตเพียงร้อยละ 1.2 ในพื้นที่ที่ทำได้ตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ แต่ในพ.ศ. 2560 สัดส่วนนี้ได้เพิ่มขึ้นถึง 6 เท่าเป็นร้อยละ 7.3

• ในพ.ศ. 2543 ประมาณร้อยละ 25 ของการเสียชีวิตในเด็กเกิดขึ้นในพื้นที่ที่มีอัตราการเสียชีวิตในเด็กต่ำกว่า 80 คนต่อเด็ก 1,000 คน ส่วนในพ.ศ. 2560 เกือบร้อยละ 70 ของการเสียชีวิตในเด็กเกิดขึ้นในพื้นที่ซึ่งมีการเสียชีวิตของเด็กต่ำกว่า 80 คนต่อ 1,000 คน

โครงการของกลุ่มภาระโรคท้องถิ่นได้มอบการชี้วัดผลลัพธ์ด้านสุขภาพและมาตรการที่เกี่ยวข้อง ซึ่งครอบคลุมทุกทวีปและลงลึกในระดับท้องถิ่น คณะผู้นำโครงการกำลังต้องการผู้ร่วมงานเพิ่ม ซึ่งรวมถึงนักวิชาการ นักวิจัย ฯลฯ เพื่อให้ข้อมูลและประเมินผลการศึกษา สำหรับข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อทีมงานกลุ่มภาระโรคท้องถิ่นได้ที่ gbdsec@uw.edu

ผู้สนใจทั่วไปสามารถดูการชี้วัดต่างๆ ที่ได้จากการศึกษานี้ได้ที่เว็บไซต์  Global Health Data Exchange: http://ghdx.healthdata.org

7 พฤศจิกายน 2562


บริษัท มีเดีย เน็ทเวิร์ค จำกัด
138, 140 ซอยอนามัย ถนนศรีนครินทร์ แขวงสวนหลวง เขตสวนหลวง กรุงเทพฯ 10250
MEDIA NETWORK Co.,Ltd
138, 140 Soi Anamai Srinakarin Road Suanluang Suanluang Bangkok 10250
Tel. 02 721 4417 Fax. 02 721 5516
E-mail : phototechthailand@gmail.com


ติดต่อโฆษณาหรือข้อมูลเพิ่มเติม
โทร. 02 721 4417 , 097 921 2929 คุณขวัญ

แฟนเพจ Phototech Magazine


ออกแบบโดย touronthai